30 เม.ย. เวลา 08:04 • อาหาร

✴️กินหน่อไม้อย่างไรให้ปลอดภัย

หน่อไม้เป็นอาหารไทยยอดนิยม อุดมไปด้วยใยอาหารและแร่ธาตุ แต่หากเตรียมหรือกินไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
 
‼️ความเสี่ยงจากการกินหน่อไม้
1. สารไซยาไนด์ (Cyanide):
หน่อไม้ดิบ โดยเฉพาะหน่อไม้ไผ่ตง มีสารไซยาไนด์ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ​ หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย ร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารไซยาไนด์จะจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง (hemoglobin) แทนที่ออกซิเจนทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน
อาการ: ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
วิธีป้องกัน: ต้มหน่อไม้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที (หน่อไม้ไผ่ตงอาจต้องนานถึง 20-30 นาที) เปลี่ยนน้ำต้ม 1-2 ครั้ง ซึ่งการต้มในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที สามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ลงได้ถึงร้อยละ 90.5 ห้ามกินดิบ
2. การปนเปื้อนเชื้อโรค:
ในหน่อไม้ดองที่เก็บไม่ถูกวิธี อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เช่น Clostridium botulinum, Salmonella หรือ E. coli มักพบเชื้อโบทูลินัมได้บ่อยในหน่อไม้ปี๊บลวกบรรจุถุง เพราะเชื้อเติบโตได้ดีในอาหารมีกรดต่ำ และปราศจากอากาศ หากการผลิตใช้ความร้อนไม่พอ สปอร์เชื้อจะไม่ถูกทำลาย และจะสร้างสารพิษ “โบทูลินัม” ขึ้นมา
อาการ: คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ปากคอ ลิ้นแห้ง ม่านตาขยาย หรือหดเล็กลงเมื่อถูกไฟส่อง ตามองเห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก หายใจขัด ตาพร่ามัว เป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีป้องกัน:
ควรต้มให้เดือดนาน 15 นาที เพื่อให้ความร้อนทำลายเชื้อโรค ก่อนนำมาปรุงอาหาร
เลือกซื้อหน่อไม้ปี๊บที่มีการปรับกรดแล้ว ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวบ้าง​ และควรสังเกตฉลากอาหาร 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อสถานที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ รวมทั้งปี๊บต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ ไม่มีรอยเขม่าไฟ ฝาไม่บัดกรี​
ห้ามบริโภคหน่อไม้ที่มีรสชาติเปลี่ยน สากลิ้น น้ำแช่หน่อไม้ในถุงเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็นรุนแรง
3. อาการแพ้หรือระคายเคือง:
บางคนอาจแพ้หน่อไม้ ทำให้เกิดผื่น คัน หรืออาการทางเดินอาหาร
วิธีป้องกัน: กินในปริมาณน้อยๆก่อน หากมีประวัติแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงหากมีผิวแพ้ง่าย
4. กรดยูริกและโรคเกาต์:
หน่อไม้มีสารพิวรีน​ ซึ่งเมื่อร่างกายย่อยสลายสารพูรีนจะกลายเป็นกรดยูริก กรดยูริกที่มากเกินไปอาจตกตะกอนเป็นเกลือยูเรตในข้อเข่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเกาต์ ควรจำกัดปริมาณหรือหลีกเลี่ยง
วิธีป้องกัน: จำกัดการกินหน่อไม้​ พร้อมทั้งดื่มน้ำมากๆ หลังกิน
5. การย่อยยากและแก๊สในกระเพาะ:
หน่อไม้มีใยอาหารสูง อาจทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด ผู้ที่เป็นโรคทางเดินอาหารควรระมัดระวัง​ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยนอนนาน และผู้ที่มีการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารไม่ดี การกินมากเกินไป อาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ได้
วิธีป้องกัน: กินในปริมาณพอเหมาะ (ไม่เกิน 100-200 กรัมต่อมื้อ) เคี้ยวให้ละเอียด ปรุงให้สุก
6. สารกันบูด:
หน่อไม้กระป๋องหรือดองอาจมีสารกันบูด อาจก่อให้เกิดอาการแพ้
วิธีป้องกัน: อ่านฉลากก่อนซื้อ เลือกยี่ห้อที่ไม่มีสารกันบูดมากเกินไป ล้างหน่อไม้ก่อนปรุง
7. กลุ่มเสี่ยง:
เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควร ปรุงให้สุกและนุ่ม กินในปริมาณน้อย เคี้ยวช้าๆ ให้ละเอียด เพราะหน่อไม้มีปริมาณของเส้นใยอาหาร จำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด​ ส่วนหญิงมีครรภ์​ หรือ​ เด็กเล็ก​ ควรเลือกเป็นหน่อไม้สด ไม่ควรเป็นหน่อไม้ดอง​
8. การเลือกและเก็บรักษา:
เลือกหน่อไม้สด ไม่มีจุดดำหรือกลิ่นเหม็น เก็บในตู้เย็นและบริโภคให้เร็วที่สุด
วิธีกินหน่อไม้อย่างปลอดภัย
- เลือกหน่อไม้สดใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือร่องรอยการเน่าเสีย
- ต้มหรือปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง เพื่อกำจัดสารไซยาไนด์และเชื้อโรค
- ไม่เก็บหน่อไม้ต้มไว้นานเกิน 2 วัน
- กินในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรมากเกินไป
- สังเกตอาการหลังกิน หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
 
หมายเหตุ: หน่อไม้แต่ละชนิดมีปริมาณสารไซยาไนด์แตกต่างกัน หน่อไม้ไผ่ตงมีความเสี่ยงสูงกว่าชนิดอื่น ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
♾️อ่านเพิ่มเติม
‘ยาต้านพิษ’ ช่วยชีวิตผู้ป่วยจากพิษหน่อไม้ปี๊บ รักษาฟรีด้วยยาขวดละ 2.4 แสนบาท
.
.
BETTERCM 2025.04.30
โฆษณา