เมื่อวาน เวลา 14:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

แรงงานไทยเผชิญท้าทาย “สังคมสูงวัย-AI” เร่ง Upskill-Reskill

ประเทศไทยมีแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ อยู่ราว 30 ล้านคน อย่างไรก็ตามเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางโครงสร้างประชากร โดยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2568 “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ถึงแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
Upskill-Reskill รับสังคมสูงวัย
โดยนายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานสูงอายุจำนวนมากที่ยังคงมีศักยภาพในการทำงานและสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับตลาดแรงงานได้
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะใหม่และเสริมทักษะเดิมให้กับแรงงานกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการ Upskill-Reskill เราไม่ได้มองแค่การหางานใหม่ แต่รวมถึงการเสริมทักษะเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยรวม เพื่อให้ผู้สูงวัยยังคงมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้”
ในด้านการพัฒนาทักษะสำหรับแรงงานสูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทักษะฝีมือดั้งเดิมอย่างงานช่างหรืองานบริการเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้สมาร์ทโฟน การค้าขายออนไลน์ รวมไปถึงการปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้แต่ในภาคแรงงานสูงอายุ
วอนเอกชนเปิดรับแรงงานสูงวัย
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ควรเปิดใจรับแรงงานสูงวัยมากขึ้น และใช้ศักยภาพของพวกเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในงานที่ทำมาตลอดชีวิตการทำงาน หากได้รับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้”
นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมสูงอายุและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับแรงงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุ จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายและโครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อแรงงานสูงอายุไทยในยุค AI อย่างแท้จริง
นายเดชา ยังกล่าวเสริมว่า การยกระดับทักษะของแรงงานสูงอายุไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงานเองเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้จะยังคงสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และอาจไม่เป็นภาระต่อสังคมและครอบครัวมากเกินไป
ผนึกไมโครซอฟท์เสริมทักษะ AI แรงงานแสนคน
ในแง่ของโครงการสนับสนุนการเรียนรู้ AI สำหรับแรงงานทุกช่วงวัย กรมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง ไมโครซอฟท์ ในโครงการพัฒนาทักษะ AI ให้กับประชาชนจำนวน 100,000 คนทั่วประเทศ โดยมีการจัดอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง
“นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกอบรมบุคลากรของกรมให้เป็นครูต้นแบบหรือ Train the Trainer ไปแล้วกว่า 157 คน เพื่อขยายการถ่ายทอดความรู้ด้าน AI ไปยังแรงงานทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“เราสอนให้เข้าใจการใช้ AI เป็นเครื่องมือ เช่น การใช้โปรแกรมช่วยสรุปรายงาน การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น หรือการใช้แอปพลิเคชันเพื่อทำงานได้ง่ายขึ้น เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว แม้แต่ผู้สูงอายุก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”
นายเดชา กล่าวต่อไปว่า หลายคนเข้าใจผิดว่า AI จะมีแย่งงาน แต่ความเป็นจริงแล้ว AI เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันให้สะดวก รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น ซึ่งแรงงานที่มีทักษะ AI น่าจะมีโอกาสในการมีงานทำมากกว่า เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
สำหรับนโยบายสนับสนุนสถานประกอบการที่มีการพัฒนาทักษะ AI ให้กับพนักงาน ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน สถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องฝึกอบรมพนักงานอย่างน้อย 50% ต่อปี โดยหากมีการอบรมทักษะด้าน AI ที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ เช่น
หลักสูตร AI for Everyone ของไมโครซอฟท์ สถานประกอบการจะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 200% นอกจากนี้ สถานประกอบการยังสามารถขอรับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 200 บาทต่อคน สำหรับพนักงานคนที่ 71 ขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นการจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับพนักงานมากขึ้น”
ขณะเดียวกันยังมีแผนการสร้างมาตรฐานการวัดความรู้ด้าน AI โดยขณะนี้ทางกรมฯ กำลังดำเนินการพัฒนา “มาตรฐานวัดระดับความรู้ AI” ที่มีแนวคิดคล้ายกับการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ IELTS เพื่อให้แรงงานไทยมีใบรับรองความสามารถด้าน AI ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับ
“การมีมาตรฐานวัดระดับความรู้ด้าน AI จะช่วยรองรับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ ทำให้เด็กที่จบการศึกษาใหม่ หรือผู้ที่ต้องการสมัครงานสามารถแสดงศักยภาพด้าน AI ของตนเองได้อย่างชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของนายจ้าง”
โฆษณา