30 เม.ย. เวลา 15:20 • ความคิดเห็น

เราไม่ได้อยากเข้าใจเขา...เราแค่อยากให้เขาเปลี่ยนไปตามที่เราเข้าใจ

ในสังคมที่มีคนพูดกันเยอะขึ้นทุกวัน เรื่องของคนอื่นกลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงแทบตลอดเวลา เรามีทั้งพื้นที่ที่เปิดให้วิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น ให้ความเห็น
และเราก็เคยชินกับการมองพฤติกรรมของใครบางคนแล้วตีความจากมุมของเราเอง
เราอาจบอกว่าทำเพราะหวังดี เพราะอยากเข้าใจเขา แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกนิด
บางครั้งสิ่งที่เราทำ อาจไม่ใช่ความเข้าใจ แต่อาจเป็นเพียง ความพยายามจะเปลี่ยนเขาให้เป็นแบบที่เราคิดว่า “ควรจะเป็น”
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นการเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้ว เราอาจแค่กำลังตีความโดยไม่ฟัง เราอาจไม่ได้ฟังเขาจริง ๆ แต่เราคุ้นเคยกับการพูดแทน
และเมื่อเราพูดจากมุมของคนที่ดูมีเหตุผล มีความรู้ หรือมีตำแหน่งในสังคม เสียงนั้นยิ่งดังขึ้น แม้อาจจะเป็นการเข้าใจคนที่ถูกพูดถึงแค่บางส่วนก็ตาม
บางคนทำอะไรที่ต่างจากที่เราคุ้น เราอาจรู้สึกไม่สบายใจ แล้วรีบหาคำอธิบาย เช่น
เขาคงขาดความรัก
น่าจะเหงา
อาจจะเรียกร้องความสนใจ
หรือถึงขั้นวินิจฉัยว่า “ควรไปรักษา”
ถ้อยคำเหล่านี้ดูเข้าใจแต่มันอาจเป็นการวางความหมาย ให้คนคนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะได้เล่าความหมายของตัวเอง
คำพูดเหล่านี้อาจไม่ได้ทำร้ายใครทันที แต่มันสะสมบางอย่างในวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่คนยังเชื่อในเสียงที่มีน้ำหนักมากกว่า
เช่น อาจารย์ นักวิชาการ หรือแม้แต่ “สื่อ”
แม้จะใช้คำสุภาพ แต่มันอาจเป็นการวางกรอบความเข้าใจ ที่กลืนเสียงจริง ๆ ของคนธรรมดาไปหมด
ในสังคมที่เต็มไปด้วยเสียง ความเข้าใจจึงกลายเป็นของมีค่า
ลองคิดภาพว่า
ถ้ามีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเริ่มแสดงออกในแบบที่ไม่เหมือนคนอื่น และอยู่ดี ๆ ก็มีสื่อไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์ว่าเด็กคนนั้น มีแนวโน้มแบบไหน
พรุ่งนี้ทั้งโรงเรียนก็อาจจ้องมองเขาด้วยสายตาใหม่ ไม่ใช่เพราะเขาทำอะไรผิด
แต่เพราะเขาถูก “นิยาม” ไปเรียบร้อยแล้ว
โดยไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลย
คนจะเริ่มรู้สึกว่า
ไม่ควรพูดอะไรออกไปมาก
ไม่ควรแตกต่าง
ไม่ควรทดลองเป็นตัวเอง
เพราะกลัวว่า จะมีใครบางคนในพื้นที่สังคมยอมรับมากกว่า พูดออกมาว่า แบบนี้แปลว่าอะไร
แล้ว “ความเป็นมนุษย์” จะเหลือแค่ภาพจำที่ผ่านการวิเคราะห์ จนไม่เหลือเสียงจริง
บางครั้ง เราไม่ต้องเข้าใจใครทันที บางคนอาจใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่คุ้น บางความคิดอาจดูแรง หรือดูย้อนศรกับสังคม
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาผิด และไม่ได้แปลว่าเราต้องหาคำอธิบายมารับมือเดี๋ยวนั้น
บางที การยอมรับว่า เรายังไม่เข้าใจเขา คือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความเข้าใจ
ถ้าเราจะฟังใครสักคน ขอให้ฟังโดยไม่มีกรอบ ไปล่วงหน้าไม่ต้องพยายามวิเคราะห์เขา
ไม่ต้องหาที่มาว่าเขาเป็นแบบนี้เพราะอะไร ไม่ต้องรีบบอกว่าเขาควรเป็นยังไง
ให้เขาได้เล่าของเขาเองก่อน
แม้เขาจะยังพูดไม่ชัด แม้เขาจะพูดออกมาด้วยความไม่แน่ใจ เพราะเสียงที่ไม่ชัดเจนที่สุด ก็คือเสียงที่ต้องการพื้นที่มากที่สุด
และถ้าจะใช้ความรู้กับมนุษย์... ขอให้เราใช้มันอย่างถ่อมตน ไม่ใช่เพื่อรีบสรุปว่าใครควรเปลี่ยน
แต่เพื่อเว้นช่องว่างไว้ให้ใครบางคน ได้รู้สึกว่า เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องถูกอธิบายตลอดเวลา
โฆษณา