วันนี้ เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"มูดี้ส์" หั่นเรตติ้งไทย กังวลศก.ทรุด-คลังอ่อนแอ โบรกเตือนระวังแรงขายต่างชาติ

Moody’s หั่นมุมมองเครดิตไทยเป็น “เชิงลบ” สะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจ-การคลังถดถอย รับแรงกดดันสงครามการค้า-ภาวะใช้งบประมาณไร้ประสิทธิภาพ โบรกเตือนต่างชาติอาจลดน้ำหนักการลงทุน หุ้นไทยเสี่ยงเผชิญแรงขาย
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่ Moody's ปรับมุมมอง (Outlook) ของประเทศไทยจาก จากเดิม "มีเสถียรภาพ" (Stable) เป็น "เชิงลบ" (Negative) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าตลาดหุ้นไทยในวันนี้ (30 เม.ย.68) จะยืนในแดนบวกมาตลอดทั้งวัน แต่มองว่าปัจจัยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความคาดหวังต่อการที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือที่ 1.75% เข้ามาในตลาดหุ้นมากกว่า
ดูเหมือนว่าการที่ Moody's ปรับมุมมอง (Outlook) ของประเทศไทยในครั้งนี้คนไทยจะดูไม่ตื่นตัวหรือตกใจเท่าไหร่นัก แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นเรื่องใหญ่ และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในสายตาของต่างชาติ
ยิ่งการที่ไทยได้รับแรงกดดันการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ทำให้ยิ่งกดดันตัวเลขเศรษฐกิจไทยลดลงและมีการเติบโตที่น้อยลง การใช้จ่ายงบของภาครัฐเข้าขั้นแย่ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน กู้หนี้ต่างชาติมาแล้วและด้วย GDP ที่โตน้อยโอกาสกู้หนี้ต่างชาติเพิ่มอีกนั้นเกิดขึ้นแน่ในอนาคต
"การที่ มูดี้ส์ปรับลด Outlook ไทย เป็นเหตุให้คาดว่าในอนาคตประเทศไทยถูก Downgrade อีกแน่ๆ สิ่งที่ตามมาหลังจากนี้คือ ต้องระวังแรงขายของต่างชาติให้มาก เพราะความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในสายตาต่างประเทศไม่ดีนัก การลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น ในแง่ของการย้านฐานผลิต ฐานทุนของต่างชาติเข้ามายังไทยนั้น เชื่อว่าจากนี้ไปจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าเขาไม่เอาเราแล้ว"
2
นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเมินเป็นปัจจัยกดดันระยะสั้น เพราะ Moody ยังคง Rating ที่ BAA1 หากสังเกตภายหลังจากปัจจัยข้างต้นออก ตลาดเงินและตลาดทุนไทยก็ไม่ได้ตอบรับเชิงลบ (บาทไม่ได้อ่อนค่าแรง และ SET INDEX ยังแกว่งแดนบวก)
ส่วนประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ (บล.พาย ก็เชื่อว่าจะลดดอกเบี้ย) ทั้ง 2 ปัจจัยต่างก็ Price In ในราคาของ SET ไปแล้ว จึงไม่มีนัยยะใดมาก
ขณะที่การแกว่งแดนบวกของ SET หลักๆ แล้วมาจากความคาดหวังเรื่อง Thai ESGX ที่เม็ดเงินจะเริ่มเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค. 68 นี้ ประกอบกับหุ้น DELTA ที่ปรับขึ้นมีผลต่อดัชนีอย่างมีนัยยะด้วย Market Cap ที่ค่อนข้างสูง
ในเชิงกลยุทธ์ดัชนีปรับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดราว 10% สะท้อนปัจจัยหนุนต่างๆไปมากแล้วเรื่องการเจรจาการค้า ขณะที่ระยะถัดไปมีความเสี่ยงจากการปรับลดกำไรและเศรษฐกิจ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังต่อการลงทุน
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่ทาง Moody’s บริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลกได้ปรับลดแนวโน้มประเทศไทย เหตุผลหลัก คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสหรัฐฯ กลับมาใช้ reciprocal tariff หลังครบช่วงเวลาการเจรจา 90 วัน ซึ่งจะซ้ำเติมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง (18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) อีกทั้งโอกาสที่จะเห็นการหั่นประมาณการ GDP ของ ธปท.
นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นทางฝ่ายมองเป็นโอกาสในการเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า และมีแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 68 ที่ดี
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า จากการที่ทาง Moody’s ปรับลด Outlook ของไทยเป็น Negative แต่ยังคงอันดับ Credit Rating ที่ระดับ Baa1 โดยการปรับลดมุมมองเป็นเชิงลบเนื่องจากแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจลดลง ตามผลกระทบของภาษีสหรัฐฯ และสถานะการคลังของไทยที่มีความเสี่ยงที่อ่อนแอลง
ทางฝ่ายเชื่อว่าระยะสั้นนักลงทุนจะกังวลต่อการปรับลด Credit Rating บ้านเราในอนาคต แต่จากการศึกษารูปแบบในอดีตช่วงที่มูดี้ส์ปรับลด Outlook เป็น Negative 2 ครั้งช่วงปี 40 (ปีต้มยำกุ้ง) และปี 51 (ปี Subprime และความขัดแย้งการเมืองในประเทศ) ซึ่งพบว่าปี 51 ไม่ได้ถูกปรับลด Credit Rating ตามมา
โดยจุดที่แตกต่างจากรอบต้มยำกุ้ง คือ เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ได้เร่งตัวอย่างมีนัย ส่วนปีนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวก แต่ยังต้องติดตามสัญญาณอย่างใกล้ชิด หลังจากกำแพงภาษีสหรัฐฯ เริ่มมีผล
"สำหรับผลต่อตลาดหุ้น SET Index มักจะพักตัวเฉลี่ย 0.3% ในช่วงสัปดาห์แรกก่อนที่จะรีบาวน์ สาเหตุที่ปรับลงจำกัดเพราะตลาดหุ้นได้ปรับลงจากช่วง ก่อนหน้าไปมาก"
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุว่า Moody's ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยลงสู่ Negative สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังจะอ่อนแอลงจากภาษีศุลการของสหรัฐ ทั้งนี้ แต่ด้วยเหตุที่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ Baa1 ซึ่งทางฝ่ายมองระยะสั้นเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศลงทุนใน SET Ondex โดยจะส่งผลลบต่อกลุ่มธนาคารรวมถึงหุ้นที่มีหนี้สูงจากต้นทุนการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า การที่ Moody's ปรับมุมมอง (Outlook) ของประเทศไทยเป็น negative สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการคลังของประเทศไทยจะอ่อนแอลงต่อไป แต่คงอันดับความน่าเชื่อถือ Baa1 สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันและการกำกับดูแลที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของประเทศ
ที่สนับสนุนนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคที่รอบคอบ อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายประเมินตลาดหุ้นมักจะมีผลในทางลบ เมื่อถูกปรับลดมุมมอง หรือ outlook ดังนั้น นักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนให้มากขึ้น เพราะอาจเกิดแรงขายได้
โฆษณา