เมื่อวาน เวลา 09:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สศค. จาก "หน่วยรบพิเศษ" ของ ดร.ป๋วย สู่ Think Tank การคลังไทย

สำรวจเส้นทาง 60 ปี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จากแนวคิดของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปี 2505 สู่บทบาท Think Tank การคลังไทยที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
เมื่อพูดถึง "มันสมองของกระทรวงการคลัง" คำจำกัดความนี้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หน่วยงานที่มีบทบาทเชิงวิชาการและนโยบายอย่างลึกซึ้งภายใต้โครงสร้างของกระทรวงการคลัง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยริเริ่มจากวิสัยทัศน์ของนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น ท่ามกลางบริบทการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสมัยใหม่
"เนื่องจากภารกิจด้านการคลังมีความซับซ้อนและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายท่านอาจไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในด้านนี้ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอแนะนโยบาย รวมถึงศึกษาวิจัยเรื่องใหม่ ๆ ในด้านเศรษฐกิจ ด้านการคลังให้ทันสมัย" ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
ปฐมบทจาก ดร.ป๋วย สู่ปรัชญา "หน่วยรบพิเศษ"
บุคคลสำคัญผู้วางรากฐานให้ สศค. เป็นองค์กรทางปัญญาอย่างแท้จริง คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการคนแรกของ สศค. ในช่วงปี 2505 - 2510 ซึ่งเป็นยุคต้นของการวางระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ
ดร.ป๋วย มองว่า สศค. ไม่ใช่เพียงหน่วยงานวิเคราะห์เท่านั้น แต่ต้องเป็น "หน่วยรบพิเศษ" ทางเศรษฐกิจ ดร.พรชัย เล่าย้อนไปถึงอดีตที่ผ่านมาพร้อมบอกว่า "คือมีความรู้แต่ต้องปฏิบัติได้จริง นโยบายที่เราวางต้องสามารถเปลี่ยนชีวิตประชาชนได้ ต้องกล้าคิด กล้านำเสนอ และกล้าทำจริง"
สศค. ในยุคแรกประกอบด้วยเพียง 4 กองงาน โดยเน้นบทบาทให้คำปรึกษาและวิเคราะห์นโยบายเป็นหลัก แต่ด้วยปรัชญาที่ ดร.ป๋วย วางไว้ คือ "การมองไกล การลงมือทำ และการทำเพื่อประชาชน" จึงทำให้ สศค. กลายเป็นหน่วยงานแนวหน้าทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยให้ความเชื่อมั่น
วิวัฒนาการสู่ Think Tank การคลัง
จากหน่วยงานเล็ก ๆ ที่มีเพียง 4 กองงาน สศค. ขยายบทบาทและโครงสร้างจนกลายเป็นศูนย์กลางนโยบายการคลังระดับประเทศ ผ่านบทบาทสำคัญหลายประการ อาทิ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในยุคแรก การเจรจากู้เงินจากธนาคารโลก การผลักดันตลาดหลักทรัพย์ในยุค 2518 การปฏิรูประบบภาษีและกฎหมายเศรษฐกิจในช่วงปี 2530–2540 และการรับมือวิกฤตต้มยำกุ้งด้วยการเป็นกลไกหลักในการเจรจากับ IMF
"จากผู้แนะนำในยุคเริ่มต้น เราเติบโตมาเป็นผู้ออกแบบและผลักดันนโยบายอย่างเต็มตัว"
ดร.พรชัยกล่าว "วิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้งทำให้เราเรียนรู้ว่า นอกจากจะต้องมีความรู้แล้ว ยังต้องรู้จักใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและกระบวนการวิเคราะห์ เพื่อให้ตอบโจทย์ยุคสมัยที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น"
เขายังกล่าวเสริมว่า "ผมเองมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง เราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของวินัยการคลัง การมีกันชนหรือเงินถุงแดง และความสามารถในการตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตอย่างรวดเร็ว นี่คือบทเรียนที่ สศค. สะสมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น"
บทบาทที่ไม่หยุดนิ่งและความท้าทายของโลกใหม่
ตลอดหกทศวรรษที่ผ่านมา สศค. ไม่ได้ทำหน้าที่แบบ "ข้าราชการหลังโต๊ะ" เท่านั้น หากแต่ได้แสดงบทบาทภาคปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น การเป็นผู้ริเริ่มโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ การออกแบบโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราไม่ทิ้งกันในช่วงวิกฤตโควิด-19
"งานนโยบายที่ดีต้องมีทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเอกสารที่อยู่บนหิ้ง ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตประชาชน" ดร.พรชัยเน้นย้ำ "เรายังพยายามสร้างความเข้าใจว่า สศค. ไม่ได้ทำงานแบบปิดอยู่ในห้องประชุม แต่เราต้องการเป็นองค์กรที่สื่อสารกับประชาชนมากขึ้น เข้าใจปัญหาพื้นที่ และออกแบบนโยบายให้ตรงเป้า"
ในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล สศค. เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big Data และพัฒนาระบบ "Ari Score" เพื่อใช้วัดเครดิตของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่มีประวัติสินเชื่อเดิม และทดลองใช้ในโครงการ Soft Loan Ari Score Sandbox ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนกลุ่ม underserved เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียม
นโยบายสร้างโอกาส สร้างความเป็นธรรม
อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ สศค. ผลักดันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือการปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีการรับมรดก ซึ่งแม้จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถือเป็นการวางรากฐานของความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจไทย
"เรารู้ว่ามีแรงต้านจากบางกลุ่ม เพราะนโยบายเหล่านี้กระทบกลุ่มผู้มีทรัพย์สินมาก แต่ถ้าเราไม่กล้าพูดถึงความเป็นธรรมทางภาษี ระบบจะไม่มีวันสมดุล" ดร.พรชัยกล่าว "ภาษีต้องสะท้อนความสามารถในการจ่าย คนที่มีมากต้องจ่ายมาก"
นอกจากนี้ สศค. ยังผลักดันนโยบายด้านการเงินภาคประชาชนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ การจัดตั้งสถาบันการเงินประชาชน หรือการสร้างกลไกช่วยเหลือหนี้นอกระบบ
"หนึ่งในความภาคภูมิใจของผมคือ การผลักดันให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับฐานรากทางเศรษฐกิจ เราไม่ได้มองเฉพาะ GDP แต่เราดูว่า ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ นี่คือหัวใจของการเติบโตอย่างทั่วถึง"
150 ปีการคลังไทย จากรากสู่อนาคต
ในวาระ 150 ปีของกระทรวงการคลัง งาน "MOF Journey" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเผยให้เห็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของหน่วยงานการคลังของไทย โดยเฉพาะ สศค. ซึ่งจะมีนิทรรศการพิเศษในโซน "อดีต" เพื่อแสดงบทบาทของ "มันสมอง" ที่อยู่เบื้องหลังนโยบายหลายฉบับที่ขับเคลื่อนประเทศไทย
"ในงานนี้เราจะถ่ายทอดบทบาทของ สศค. ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง วิกฤตเศรษฐกิจ ไปจนถึงการวางรากฐานนโยบายในยุคดิจิทัล ประชาชนจะได้เข้าใจว่า ข้าราชการกลุ่มหนึ่งคิด วิเคราะห์ และลงมือทำอย่างไรเบื้องหลังนโยบายที่มีผลต่อชีวิตเขาโดยตรง"
"ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนเข้าใจว่าสิ่งที่ สศค. ทำคือการออกแบบนโยบายเพื่อช่วยเขา จะเกิดความร่วมมือมากขึ้น" ดร.พรชัยกล่าวทิ้งท้าย "ภารกิจของเราคือทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรง อย่างมั่นคง และเป็นธรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ"
นี่คือเรื่องราวของหน่วยงานที่เริ่มจากการเป็น "เสนาธิการ" สู่การเป็น "Think Tank" ที่หล่อหลอมอนาคตการคลังไทยด้วยความรู้ ความกล้า และความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่.
โฆษณา