2 พ.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 5 บทเรียนการลงทุน จากยุค Great Depression ที่วันนี้ ผ่านมาเกือบร้อยปี ก็ยังใช้ได้

“ประวัติศาสตร์มิได้เกิดซ้ำ แต่มันมักจะเกิดอย่างคล้ายคลึงกันเสมอ”
2
คำพูดนี้ มาจากตำนานนักเขียนชาวอเมริกันอย่างคุณ Mark Twain ที่แสดงให้เราเห็นว่า สิ่งใดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มักจะมีสิ่งที่คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นซ้ำเดิมเสมอ
1
อย่างเช่น นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ต่อนานาประเทศของประธานาธิบดี Donald Trump ที่ช่างคล้ายคลึงกันกับ นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ในปี 1930 อย่าง Smoot-Hawley Tariff Act
ซึ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก ให้จมดิ่งลงไปสู่มหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่า “Great Depression”
จนทำให้หลายคนกังวลว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จะกลับไปวนซ้ำ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่
แต่ในช่วงเวลาอันมืดมิดนั้น นอกจากจะสร้างความมั่งคั่งให้กับเหล่าผู้กล้าที่ลงทุนในช่วงเวลาแห่งวิกฤติแล้ว
ยังมอบบทเรียนสำคัญในเรื่องการเงิน การลงทุน ที่แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 100 ปีแล้ว แต่นักลงทุนในปัจจุบันก็ยังควรที่จะศึกษา
แล้วบทเรียนการลงทุนเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
แม้จะไม่มีไทม์มาชีนเพื่อนั่งไปดูว่า ระหว่างช่วงเวลาอันแสนยากลำบากนั้น เหล่านักลงทุนเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ทำตัวกันอย่างไร
แต่เราก็สามารถเดินทางข้ามเวลาได้ ผ่านการอ่านหนังสือ The Great Depression: A Diary ซึ่งเป็นบันทึกของคุณ Benjamin Roth
ทนายหนุ่มผู้จดบันทึกสิ่งที่เขาเห็น ตลอดช่วง 10 ปีของวิกฤติ Great Depression อันทำให้เขาได้ตกผลึกแนวคิดด้านการเงิน การลงทุน ทั้งจากการสังเกตพฤติกรรมและการพูดคุยกับผู้คน คนในแวดวงธุรกิจ
โดยบทเรียนที่เขาได้ตกผลึก จากการจดบันทึกตลอดช่วงของมหาวิกฤตินั้น สามารถสรุปได้หลัก ๆ อยู่ 5 ข้อ
1. หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร
การลงทุน คือ การนำเงินของเราไปเป็นทุนเพื่อประกอบธุรกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจผ่านการซื้อหุ้น และรอผลตอบแทนที่งอกเงยในระยะยาว
ในขณะที่การเก็งกำไร คือ การคาดหวังว่า ราคาของสิ่งที่เราซื้อไปจะเพิ่มขึ้นมาได้ และกลายเป็นกำไรให้เราในตอนท้าย
จะเห็นได้ว่า 2 คำนี้ มีความหมายแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่ผู้คนมากมายกลับเข้าใจความแตกต่างของ 2 คำนี้ไม่ได้อย่างน่าประหลาด
ทั้งที่การเก็งกำไรนั้น แทบจะไม่มีพื้นฐานอย่าง ผลประกอบการของกิจการ หรือการประเมินมูลค่า มารองรับ จะมีก็เพียงแค่ความคาดหวังว่า ราคาสินทรัพย์จะขึ้นไปเรื่อย ๆ
ก็คงจะดีถ้าโลกนี้ใครคิดอะไรก็ได้สมดังหวัง แต่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1920 ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเฟื่องฟูนี่เอง ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression
เพราะในตอนนั้น ผู้คนมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีแต่ขึ้นและขึ้นต่อไปเท่านั้น จนถึงขั้นกู้เงินจากธนาคารมาซื้อหุ้น หรือที่เรียกว่า Margin เพื่อเร่งผลตอบแทน
แต่เมื่อตลาดหุ้นถล่มลงมาในปี 1929 ทุกอย่างก็พังครืนลงมา นักลงทุนเหล่านั้นก็ไม่มีเงินจ่ายคืนให้กับธนาคาร
แถมผู้คนมากมายที่ความมั่งคั่งหายไปกับตลาดหุ้นก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย จนฉุดเศรษฐกิจโดยรวมให้ตกต่ำลง
2. ปกป้องเงินต้นไว้เป็นสำคัญ
1
“ก่อนที่คนคนหนึ่งจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สักแห่งได้ ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ดูทำเล ค่าเช่าที่จะได้ รวมทั้งจ้างทนายมาตรวจสอบเอกสารสิทธิต่าง ๆ อย่างละเอียด
และเมื่อทำผลตอบแทนได้ประมาณ 6% ตลอด 10 ปี บวกกับกำไรจากการขายบ้านประมาณหนึ่ง เขาก็มองว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าพอใจมาก ๆ แล้ว
แต่คนคนเดียวกันนี้เอง เมื่อเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น เขากลับไม่เสียเวลาสืบเสาะ ค้นหาข้อมูล ว่าบริษัทเหล่านั้นทำธุรกิจอะไร และจะไม่พอใจถ้าหุ้นที่ตัวเองถือไว้ ไม่ทำให้เงินโตขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วงเวลาสั้น ๆ”
1
ข้อความข้างต้น คือหนึ่งในสิ่งที่คุณ Roth จดบันทึกไว้เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักลงทุนในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ
ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้การซื้อหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นการลงทุน ที่เราควรจะต้องกลัวพบเจอกับการขาดทุน จนต้องตั้งใจศึกษาและทำความเข้าใจอย่างเต็มที่
แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ กลับไม่เสียเวลานั่งศึกษาการลงทุนในหุ้น เหมือนกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่ใช้เงินลงทุนมาก ๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์เสียอย่างนั้น จนโดนความโลภบังตาอย่างเต็มที่
คุณ Roth จึงเน้นย้ำมาก ๆ ว่า เวลาที่เราลงทุนกับอะไร เราควรจะต้องคำนึงถึงการรักษาเงินต้น และหลีกเลี่ยงการขาดทุนก่อนเป็นอันดับแรก
เพื่อที่เราจะได้ศึกษาสิ่งที่จะลงทุนอย่างละเอียด ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่คาดหวังผลตอบแทนมากเกินไปจนความโลภบังตาให้ทำอะไรเสี่ยง ๆ
3. อดทนรอให้เป็น และกล้าเมื่อเห็นโอกาส
ในบันทึกของคุณ Roth นั้น เขาได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนสักคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ หนึ่งในนั้นก็คือ “ความอดทน”
1
ทั้งในการอดทนรอซื้อตอนหุ้นตกลงมาต่ำกว่ามูลค่า
ไม่กระโดดเข้าไปร่วมวงการเก็งกำไร ในตลาดหุ้นที่แพงลิบลิ่วไปแล้วในช่วงก่อนวิกฤติ
และการอดทนรอที่จะขายหุ้น ซึ่งช้อนซื้อมาในช่วงวิกฤติ เมื่อถึงเวลาที่ตัวหุ้นสะท้อนมูลค่าไปมากมายแล้วจริง ๆ หลังเศรษฐกิจฟื้นกลับมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถอดทนรอให้หุ้นตกลงมาหนัก ๆ แต่ถ้าถึงเวลาจริงกลับไม่กล้าเข้าซื้อ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร นั่นจึงทำให้คุณ Roth มองว่า นักลงทุนควรมีอีกสิ่งควบคู่ไปด้วย นั่นก็คือ “ความกล้า”
เพื่อให้ตัวเองตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าใช้อารมณ์ อย่างการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดี ที่ผู้คนพากันเทขายด้วยความแตกตื่น
คล้ายกับประโยคคลาสสิกที่ว่า “จงกลัวในวันที่คนอื่นกล้า และจงกล้าในวันที่คนอื่นกลัว” ของปู่ Warren Buffett นักลงทุนระดับตำนาน ผู้ที่ในช่วงมหาวิกฤตินี้ เขาเพิ่งลืมตามาดูโลก
2
แต่อย่างไรก็ตาม นอกจาก ความอดทน และความกล้าแล้ว องค์ประกอบของการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ในมุมมองของคุณ Roth ก็คือ
4. มีสภาพคล่องเตรียมพร้อมเสมอ
แม้จะได้ตกผลึกความคิดมามากมาย ทั้งจากการคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวจากวิกฤติ Great Depression
จนเขารู้ว่าสภาพตลาดหุ้นตอนนี้ คือโอกาสทองที่นาน ๆ ทีจะมีสักหน เพราะผู้คนพากันถอดใจ ทิ้งให้หุ้นดีราคาถูก มีอยู่เกลื่อนตลาด
แต่สิ่งที่คุณ Roth เจ็บใจก็คือ เขา “มีเงินไม่พอ” ที่จะแบ่งมาลงทุนในตลาดหุ้น เพราะในช่วงเวลานั้น คุณ Roth ก็น่าจะมีภาระมากมายให้รับผิดชอบ
สิ่งนี้เองสะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนและการวางแผนการเงินนั้น ควรจะเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป
1
เพราะการวางแผนการเงินที่ดี เช่น การมีเงินสำรองฉุกเฉินเพียงพอ รวมถึงการแบ่งเงินไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่ขายออกมาเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วนั้น
2
นอกจากจะช่วยให้การลงทุนของเราไม่มีสะดุด จากการต้องจำใจตัดขายหุ้นมาใช้จ่ายในยามลำบากแล้ว
ยังช่วยให้จิตใจของเราสงบนิ่งขึ้น เพราะถึงเราจะขาดทุนหนัก แต่ก็จะไม่กระทบกับชีวิตประจำวันมาก เนื่องจากมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้ใช้จ่าย
และที่สำคัญก็คือ เราจะไม่พลาดโอกาสลงทุนในช่วงวิกฤติ แบบคุณ Roth เพราะมีสภาพคล่องเพียงพอ ไว้รอช้อนซื้อหุ้นดีราคาถูกที่หมายตาไว้
5. มีอิสระทางความคิด
ตลอดช่วง 10 ปีของวิกฤติ Great Depression มีอยู่หลายครั้งที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ
เช่น ในช่วงกลางปี 1932 ที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวอย่างรุนแรง เหล่านักวิเคราะห์ก็ออกมาตีฆ้องร้องป่าวว่า นี่แหละคือเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการซื้อหุ้นแล้ว จนเพื่อน ๆ ของคุณ Roth หลายคนก็เข้าไปซื้อหุ้น
แต่สุดท้ายอีก 6 เดือนให้หลัง ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงอีกครั้ง และทำให้เพื่อน ๆ ของคุณ Roth ต้องเจ็บซ้ำสอง หลังเจอกับตลาดหุ้นพังทลายในปี 1929
รวมถึงในช่วงปี 1935 ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกดอกออกผล จนทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เหล่านักเศรษฐศาสตร์ ก็ออกมาทำนายกันอีกครั้ง ว่าวิกฤติครั้งนี้ถึงคราวสิ้นสุดแล้ว
แต่สุดท้ายในปี 1937 ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงหนักอีกครั้ง ซึ่งคุณ Roth ที่จดบันทึกคำทำนายเหล่านี้มาตลอด ก็เขียนในบันทึกของตัวเองด้วยความขบขันว่า ไม่เห็นมีผู้รู้หน้าไหน ทายถูกว่าตลาดหุ้นจะตกเลยสักคน
1
จนเขาก็ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องการลงทุนนั้น จงใช้วิจารณญาณ และความคิดของตนเอง แทนการเชื่อผู้รู้จะดีกว่า
1
จะเห็นได้ว่า แม้บทเรียนเรื่องการลงทุนเหล่านี้ที่คุณ Roth ได้มา มีอายุใกล้จะครบ 100 ปีแล้ว
แต่ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นได้ว่า แม้ตลาดหุ้นในทุกวันนี้ จะพัฒนาขึ้นมามาก พฤติกรรม ความคิด และการกระทำ ของนักลงทุนในตอนนั้น กลับแทบไม่ต่างกันกับในตอนนี้เลย
1
เพราะฉะนั้น การพบเจอกับวิกฤติถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งที่สำคัญคือ แม้ว่าจะเจอวิกฤติเข้ามา เราก็ควรจะลงทุนต่อไปอย่างมีแบบแผน
1
เพราะแม้แต่ในวันที่มืดมิดที่สุดของตลาดหุ้น อย่างท่ามกลางมหาวิกฤติ Great Depression ที่ลบมูลค่าของตลาดหุ้นหายไปถึง 79% ในเวลาไม่กี่ปี
แต่คนที่สามารถอดทนรอจังหวะ และมีเงินเก็บเพียงพอ บวกกับความกล้า ในการเข้ามาลงทุน ในตอนท้าย แทบทุกคนต่างก็ได้รับผลตอบแทนที่งดงามเป็นรางวัล..
1
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#GreatDepression
โฆษณา