1 พ.ค. เวลา 07:56 • การเมือง

กองทัพไทยจัดซื้ออะไรท่ามกลางสงครามการค้า 2025

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกับนักรบดาวแดงเช่นเคย ช่วงนี้ผู้เขียนก็ติดตามข่าวสงครามการค้าไม่ขาดสาย จนถึงขณะนี้ท่านประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ยังไม่มีทีท่าจะลดกำแพงภาษีที่ตั้งกับไทยไว้ถึง 36% แถมท่านประธานาธิบดียังพูดอีกว่าจีนสมควรโดนแล้วกับการตั้งกำแพงภาษี 145% สรุปว่าคราวนี้อเมริกาได้ประโยชน์มากกว่าจีน
ทำให้จีนจะไม่ส่งไมโครชิปสำหรับในไปใช้อุตสาหกรรมอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ทางสหรัฐฯ ตัดภาพมาที่ไทยปัจจุบันท่านนายกแพทองธาร ท่านก็เตรียมจะส่งทีมเศรษฐกิจไทยไปเจรจากับสหรัฐฯในเร็วๆนี้ ซึ่งหลายท่านก็มีการจับตามองไปที่ดีลอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ฝ่ายไทยจะใช้เจรจาต่อรองกับทางสหรัฐอเมริกา ดีลนี้จริงเท็จประการใดผู้เขียนข้อมูลเสริมจากท่านผู้รู้ด้วย และนับจากนี้เราจะมาดูกันว่ากองทัพไทยจะปรับตัวอย่างไรในสงครามการค้าครั้งนี้ ขอเชิญรับชมได้เลยครับ
ในส่วนของประเทศไทยเรานี้ซึ่งถูกเก็บภาษี 36% ก็เป็นประเทศที่จัดหาอาวุธจากหลากหลายประเทศเช่นยุโรป จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการจัดหาอาวุธปีหนึ่งอยู่ที่ราว 3–4 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐที่ 1.6 ล้านล้านบาท แต่ถ้าไทยใช้งบประมาณตรงนี้ที่ต้องจ่ายในการซื้ออาวุธไปยังต่างประเทศอยู่แล้วให้มาซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ก็อาจจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งให้การเจรจาของผู้แทนไทยกับสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น
คุณอนาลโย กอสกุล นักวิชาการด้านการทหารของไทย กล่าวว่ามีโครงการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่กระทรวงกลาโหมมีแผนงานอยู่แล้ว และมีทั้งกำลังจะเสนอของบประมาณในการจัดหา หรือเป็นโครงการในอนาคตซึ่งยังไม่ถึงคิวในการจัดหา แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อดำเนินการจัดหาจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ เช่น เฮลิคอปเตอร์โจมตีของกองทัพบก เรดาร์ตรวจการณ์ของกองทัพบกและกองทัพอากาศ จรวดต่อต้านเรือผิวน้ำและจรวดต่อสู้อากาศยานของกองทัพเรือ เครื่องบินโจมตีและเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศ เป็นต้น
ปัจจุบันกองทัพบกไทยได้มีแผนที่จะจัดหายานเกราะล้อยาง Stryker จากสหรัฐฯเพิ่มเติมเข้าประจำการในกรมทหารราบที่111 จากที่ได้จัดหาแล้ว 130 คันเข้าประจำการในกรมทหารราบที่112 เพื่อทำให้กองพลทหารราบที่ 11 เป็นกองพลยานเกราะล้อยาง Stryker ที่สมบูรณ์ทั้งกองพลและเป็นการทดแทนรถเกราะสายพาน M113 ที่มีอายุการใช้งานมานาน
ส่วนศูนย์การบินทหารบกมีแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.ท.60 UH-60M Black Hawk เพิ่มเติม หรือเฮลิคอปเตอร์โจมตีใหม่ทดแทน ฮ.จ.1 AH-1F Cobra คือ AH-64E Apache หรือ AH-1Z Viper ที่เลื่อนมานาน แต่นอกจากข้อจำกัดด้านงบประมาณกลาโหมแล้ว นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯในปัจจุบันที่ลดความสำคัญของไทยลงทำให้เรื่องเหล่านี้อาจจะยากขึ้นครับ
ส่วนทางฟากกองทัพเรือไทยในขณะนี้จะปรับตัวอย่างไร กองทัพเรืออาจพิจารณาจัดหาจรวดที่ใช้งานทางทะเลเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น Harpoon หรือ ESSM ซึ่งยังขาดอัตราอีกมาก โดยอาจทำได้ทั้งจัดหามาเพื่อเป็นจรวดสำรองสงคราม หรือติดตั้งกับเรือที่จะมีการต่อใหม่ในอนาคต ทั้งเรือฟริเกตหรือเรือ OPV
ด้านกองทัพอากาศแผนที่อาจเป็นไปได้คือจะมีการจัดหาเครื่องบินโจมตี AT-6TH เพิ่มเติมที่จะเข้าประจำการ ณ ฝูงบิน411 กองบิน41 เชียงใหม่ ก็ต้องรอกันต่อไปว่าฝูงบิน 411 จะมี AT-6TH มาเพิ่มเติมเติมหรือว่าจะมี 8 เครื่องเท่าเดิมกันนะฮะ
ในช่วงนี้เรื่องของฝูงบินขับไล่ก็มีการเตรียมแผนจะลงนามจัดซื้อกริพเพน E/F จำนวน 12 เครื่องกลางปีนี้โดยท่านนายกจะไปลงนามด้วยตัวเองที่บริษัท SAAB สวีเดน ขณะเดียวกันสหรัฐฯยังคงผลักดันการเสนอเครื่องบินขับไล่ F-16 Block 70 เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินขับไล่  F-16ADF ฝูงบิน 102 กองบิน 1 โคราช
ยิ่งไปกว่านั้น Lockheed Martin สหรัฐฯยังคงนำเสนอเครื่องบินลำเลียง C-130J ของตนในฐานะการทดแทนเครื่องบินลำเลียง C-130H ฝูงบิน 601 กองบิน6 ว่า "C-130 ควรที่จะต้องแทนที่ด้วย C-130"
ซึ่งเข้าใจว่ากองทัพอากาศไทยได้มอง C-130J สหรัฐฯและเครื่องบินลำเลียง Embraer C-390 Millennium ในฐานะตัวเลือกเครื่องลำเลียงทางยุทธวิธีทดแทน บ.ล.8 C-130H ที่เป็นไปได้ในอนาคตครับ
ในความคิดส่วนตัวผู้เขียนเองก็คิดว่าถ้ากองทัพไทยไปซื้ออาวุธจากสหรัฐ และมีภาพปรากฎเช่น กองทัพบกมี Apache และ M1 Abram มือสอง กองทัพเรือมีเรือฟริเกตใหม่ หรือกองทัพอากาศไปซื้อ F-16
ที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ก็ดูคุ้มค่าพอสมควร แต่จะขอบอกท่านผู้ใหญ่ว่ากองทัพสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากชาติอื่นหรือจะสร้างเองก็ยังได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วยในเรื่องของการจัดหาอาวุธมาป้องกันประเทศ การที่กองทัพไทยส่งเสริมหรือผลักดันอุตสาหกรรมอาวุธยุทโธกรณ์นี้ก็ส่งผลดีอย่างยิ่งเลยไม่ใช่น้อยเมื่อเทียบการจัดซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ
สอดคล้องกับสิ่งที่นักวิชาการทางทหารกล่าวว่า "จัดหาอาวุธนั้นไม่ควรจัดหาอาวุธที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งไม่เข้มแข็งและแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว โดยอาวุธที่จัดหาได้จากในประเทศก็ควรจะจัดหาต่อไป
เช่น ยานเกราะล้อยาง หรืออากาศยานไร้นักบิน เป็นต้น นอกจากนั้นก็ไม่ควรเพิ่มงบประมาณกลาโหมเพื่อจัดหาอาวุธมากจนเกินไป เพราะต้องยอมรับว่าการจัดหาอาวุธจากสหรัฐฯ ภายใต้เงื่อนไขนี้ประเทศไทยจะได้รับการตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือการชดเชย (Offset) ไม่มากนักหรือแทบไม่ได้เลย ดังนั้นถ้าใช้งบประมาณมากจนเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น"
แล้วท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมท่านพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวานนี้ (30 เมษายน 2568)  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไทยจำเป็นต้องปรับบทบาทให้สมดุลต่อมหาอำนาจโลกทั้งสองฝ่าย ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังดำเนินต่อเนื่อง พร้อมระบุอีกว่า สภากลาโหมยังได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน 11 ด้านของแต่ละเหล่าทัพ ตามนโยบายที่เคยสั่งการไว้ก่อนหน้า
ในส่วนของท่าทีจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน ท่านยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน จึงได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ รวมถึงกำหนดแนวทางการพูดคุยและทำความเข้าใจเงื่อนไขของสหรัฐ
สำหรับแนวทางการตั้งรับเชิงรุกของกองทัพไทย ท่านรัฐมนตรีระบุว่า ต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมภายในประเทศให้มั่นคง และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน พร้อมกล่าวถึงแนวโน้มการเจรจาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐฯ ว่า หากมีข้อเสนอที่ตอบสนองความต้องการของไทยก็พร้อมพิจารณา แต่จะไม่ซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น โดยต้องยึดหลักประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
เห็นแผนที่กองทัพไทยจะจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯกันไปแล้ว ต่อจากนี้กองทัพไทยจะมีแผนชอปปิ้งอาวุธเพิ่มจากสหรัฐอีกหรือไม่ ผู้เขียนยังไม่สามารถให้การกับผู้อ่านทุกท่านได้ ทิศทางของกองทัพไทยนับจากนี้จะมีอาวุธแบบใดจากสหรัฐฯมาปฏิรูปให้กองทัพแข็งแกร่งขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับอนาคตต่อจากนี้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
Credit บทความและภาพประกอบ
Thai Army
พร้อมพันธ์ กุลภาข่าวนครพนม
กรุงเทพธุรกิจ
AAG_th บันทึกประจำวัน
The Standard
TAF Discussion
สยามรัฐ
โฆษณา