เมื่อวาน เวลา 00:00 • หนังสือ

ราวสี่สิบปีมาแล้ว เพื่อนผมคนหนึ่งสวมเสื้อยืดแบรนด์เนม มีตราอะไรบางอย่างที่อกเสื้อ

ถามเขาว่าตัวละเท่าไร เขาบอกว่าไม่กี่สิบบาท เพราะเป็นสินค้าริมถนนของปลอม ตอนนั้นเขามีธุรกิจของตัวเองแล้ว มีปัญญาซื้อเสื้อแบรนด์เนมของจริงแน่นอน แต่เขาซื้อสินค้าจากริมทาง ซึ่งทั้งหมดติดยี่ห้อดังทั้งนั้น
1
อย่างไรก็ตาม ถึงใส่ของปลอม ก็ดูเหมือนเขาใส่ของจริง
3
มันขึ้นอยู่กับคนสวม คนบางคนใช้สินค้าแบรนด์เนมของจริง คนอื่นก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นของจริง
1
ปัจจุบันเพื่อนคนนี้รวยมาก แต่ยังขับรถมือสอง สวมเสื้อผ้าธรรมดา ไม่มีอะไรในตัวที่เป็นแบรนด์เนม
1
ผมก็มีนิสัยคล้ายเพื่อนคนนี้ (แต่ความรวยเทียบไม่ได้!) จึงคบกันได้ ในชีวิตไม่เคยซื้อของแบรนด์เนมเพราะยี่ห้อเลย แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน ถ้าซื้อก็เพราะชอบดีไซน์จริงๆ บางครั้งยังแกะชื่อยี่ห้อออก
ตอนนี้ในวัยชรา ผมรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องนี้แล้ว ใครมีเงิน อยากทำอะไรก็ทำ ถ้าใส่แบรนด์เนมแล้วสบายใจ ก็เอาเลย
แต่ในฐานะคนทำงานออกแบบ ผมไม่รู้สึกว่ากระเป๋าใบละหลายหมื่นหรือแสนจำนวนมากออกแบบดี ผมเห็นดีไซน์นาฬิกาเรือนละ 20-30 ล้านบางเรือนแล้วมองไม่ออกจริงๆ ว่ามันดีไซน์ดี ในความเห็นและรสนิยมส่วนตัว ถ้าเป็นงานดีไซน์แบบ minimalism ของ ดีเทอร์ รัมส์ จ่ายเป็นแสนยังว่าสมราคา
1
ช่วงสิบวันที่ผ่านมา มีข่าวชาวโลกพากันตกใจที่รู้ว่าสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกผลิตในเมืองจีน เราคนไทยคงเฉยๆ เพราะเรารู้มานานแล้วว่าจีนผลิตทุกอย่าง
วัตถุนิยมกลืนกินโลกมานานแล้ว แล้วค่อยๆ คืบคลานกลืนกินวิญญาณของคน มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แต่น่าเสียดายที่คนจำนวนมากไม่รู้ว่า รสนิยมดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่อีโก้เป็นของแพง
สถานะในสังคมเป็นของชั่วคราว ท้ายที่สุดมันก็ back to basic เราใช้วัตถุที่หน้าที่ใช้สอย เก้าอี้ตัวละเก้าหมื่นหรือตัวละเก้าร้อย ก็นั่งได้เหมือนกัน ความแตกต่างอยู่ที่ความเหมาะสมและกาลเทศะ
อภิมหาเศรษฐีหลายคนในโลกโดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด ใช้นาฬิการาคาถูก ใช้รถยนต์ธรรมดา อยู่บ้านเก่า เพราะพวกเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกแล้ว
ค่าของคนไม่ได้พิสูจน์ด้วยยี่ห้อสินค้า มันพิสูจน์ด้วยสิ่งที่ทำ
1
ถ้าเรายังต้องพึ่งยี่ห้อรถยนต์ ยี่ห้อนาฬิกา ยี่ห้อเสื้อผ้าเพื่อแสดงว่าเราเป็น somebody ก็อาจสะท้อนว่าเรายังเป็น nobody
โฆษณา