2 พ.ค. เวลา 03:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เครดิตไทยร่วง! ภาคธุรกิจระส่ำ “มูดี้ส์”หั่นเรตติ้ง ต้นทุนกู้เงินนอกจ่อพุ่ง

บิ๊กเอกชนกังวล “มูดี้ส์” ปรับเครดิตเรตติ้งไทยเป็นเชิงลบรอบ 17 ปี กระทบเชื่อมั่น ต้นทุนกู้ยืมเงินต่างประเทศจ่อพุ่ง จี้รัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ-ถกภาษีสหรัฐโชว์แกร่ง รมว.คลังยันประเทศไทยยังแข็งแรง ลงทุนนอกไหลเข้า สบน.ลุ้นอีก 2 สถาบันประกาศความน่าเชื่อถือปลายปีนี้
สร้างความกังวลให้กับรัฐบาล ภาคเอกชน และคนไทยไม่น้อย เมื่อ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกได้ประกาศปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงลบ (Negative) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ และมีความเสี่ยงจากภาษีศุลกากรของสหรัฐที่คาดจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการส่งออกของไทย
ทั้งนี้มีการมองว่าการปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นเชิงลบ จะส่งผลกระทบต่อไทยในหลายเรื่อง ทั้งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ, ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นโดยเฉพาะบริษัทที่ต้องออกหุ้นกู้ในตลาดต่างประเทศ, ผลต่อค่าเงินบาท, ผลต่อนโยบายการคลังและการเมือง, ผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ยังผลให้ผู้บริหารภาคเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการได้ออกมาให้ความเห็นกันในวงกว้าง
สัญญาณไทยต้องเร่งปรับตัว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเด็นที่มูดี้ส์ฯ ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยเป็นเชิงลบจากเดิมคงความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ Baa1 หรือมีเสถียรภาพ ในเรื่องนี้การปรับลดย่อมแย่กว่าการปรับขึ้นอย่างชัดเจน หรือการให้เครดิตเรตติ้งเท่าเดิมก็เสมือนเหตุการณ์เป็นปกติ ทั้งนี้ การปรับลดดังกล่าวมาจากการที่มู้ดี้ส์ หรือในมุมมองจากต่างชาติมีการวิเคราะห์ และเห็นว่าโครงสร้าง และแนวทางด้านเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยสู้ดีเท่าใดนัก
“มูดี้ส์เป็นองค์กรที่ประเมินขีดความสามารถของแต่ละประเทศ และได้มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไทยเป็นเชิงลบ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นไม่มากก็น้อย”
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคเอกชนเองก็มีความรู้สึกอยู่ก่อนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจเท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งที่ได้รับการประเมินออกมาตรงกับหลายสิ่งที่พอจะรับรู้ปัญหา และรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข เพียงแต่อาจจะยังทำได้ยังไม่ดีพอ
อย่างไรก็ดี การที่มูดี้ส์ปรับลดความน่าเชื่อถือของไทย เนื่องจากไทยยังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ไม่ดีพอ ซึ่งไทยเองก็รับรู้ถึงปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือ เมื่อมูดี้ส์มีการปรับความน่าเชื่อถือลดลงเป็นเชิงลบ หากไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ในการประเมินครั้งต่อไปมูดี้ส์ก็อาจจะปรับให้กลายเป็นบวกได้เช่นเดียวกัน และตรงกันข้ามหากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดีพอ ก็มีโอกาสที่จะถูกปรับเครดิตลดลงได้อีกเช่นกัน
ความน่าเชื่อถือลดลง-ต้นทุนกู้ยืมเงินสูง
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ส.อ.ท. รวมถึงภาคเอกชนเองมองว่า ถึงเวลาที่ไทยควรเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาถือว่ายังทำได้ไม่เร็วเท่าที่ควร จึงเป็นสิ่งที่มูดี้ส์มองเห็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงปรับเครดิตเป็นเชิงลบดังกล่าว
เวลานี้มีปัญหาหลายอย่างที่ยังสะสม และค้างคาอยู่ โดยข้อความที่มูดี้ส์สื่อออกมาในครั้งนี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่รับรู้กันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน การพึ่งพาการส่งออก และความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังพยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“หากถามว่าผลกระทบดังกล่าวจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี จากการให้เรตติ้งลดลงไปสู่เชิงลบ โดยมุมมองดังกล่าวอาจจะประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ไทยเองก็มีปัญหาค้างคามานาน และที่สำคัญคือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังแก้ไขได้ไม่ดีพอ ทั้งนี้การปรับลดเครดิตย่อมส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และการกู้ยืมให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความน่าเชื่อถือจะลดลงตามเรตติ้ง แต่อย่างน้อยมูดี้ส์ยังมีมุมมองที่ดีต่อไทยเรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังแข็งแกร่ง”
หอฯห่วงกระทบเชื่อมั่น-ตลาดเงิน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่มูดี้ส์ได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของประเทศไทยสู่เชิงลบ มองเป็นสัญญาณที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังพยายามดึงดูดเงินทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้แม้จะยังไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิตโดยตรง แต่การเปลี่ยนแนวโน้ม (Outlook) เป็นเชิงลบ ถือเป็น “สัญญาณเตือน” ถึงความกังวลต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะประเด็นด้านวินัยการคลัง การบริหารหนี้สาธารณะ และประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และส่วนหนึ่งเชื่อว่า มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่กระทบหลายประเทศที่มีการส่งออกและค้าขายกับสหรัฐ
จี้เร่งดันท่องเที่ยว-บริโภค-ลงทุน ดันศก.
“หอการค้าไทยฯ ยังเชื่อมั่นว่า แม้ในภาวะที่ความเชื่อมั่นในบางด้านอาจลดลง ประเทศไทยยังมีเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นที่พร้อมเดินหน้าต่อ ทั้งจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชนและต่างชาติ”
ส่วนผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยและ GDP ในภาพรวม ตามหลักการค้าระหว่างประเทศ ที่เคยแจ้งว่าเป็นแบบ “กาลักน้ำ” เมื่อได้รับผลกระทบ สินค้าอย่างไรก็ต้องไหลไปที่อื่น ดังนั้นการเร่งขยายตลาดใหม่ในประเทศที่มีศักยภาพ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ไทยควรเร่งดำเนินการ
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำ 2%
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีมูดีส์ ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่ “เชิงลบ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงเนื่องมาจากสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0 อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจไทยที่มีการขยายตัวต่ำและฟื้นตัวช้า เวลานี้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะต่ำกว่า 2% และอาจจะมีความเสี่ยงที่โตต่ำกว่านั้นได้ ถ้าหากไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้สูงจากสหรัฐ
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด มีมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศทั้งสินค้าบริการคิดเป็นสัดส่วน 125% ของ GDP ดังนั้นไทยจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ ทางมูดี้ส์จึงมองไทยมีความเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะตกชั้น อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าเราจะตกชั้น และไม่น่าลงทุน เพราะไทยมีความเข้มแข็งทางการคลังคือ มีหนี้สาธารณะต่ำ(ปัจจุบันอยู่ที่ 64% ต่อจีดีพี) เศรษฐกิจไทยก็ยังมีสัญญาณโตบวก และยังมีโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้ และคิดว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่กระทบการลงทุน
รมว.คลังยันไทยยังแข็งแรง
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า กรณีมูดี้ส์ ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตไทยสู่มุมมองเชิงลบนั้น ยืนยันว่าความสามารถในการชำระเงินประเทศไทยค่อนข้างมีความแข็งแรง ส่วนในด้านของต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลนั้น รัฐบาลกู้เงินจากต่างประเทศน้อยมาก และยืนยันว่าประเทศไทยยังแข็งแรงอยู่
ส่วนข้อกังวลต่อเศรษฐกิจไทย เรื่องเงินลงทุนในประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกานั้น พบว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ขยายตัวกว่า 90 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในภาคสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยหลายกลุ่ม
“การกู้เงินของเราถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่การของบประมาณ ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินนั้น เรายังไม่ได้สรุปเรื่องนี้ จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน และสิ่งที่มูดี้ส์ คาดการณ์ผลกระทบจากสหรัฐฯ นั้น เรามองว่าหากกระทบก็ได้รับผลกระทบกับทุกประเทศ” นายพิชัย กล่าว
สบน.เผยลดเชิงลบรอบ 17 ปี
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า หลังจากมูดี้ส์ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่ระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือเป็นเชิงลบ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 68 นั้น ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551 หรือในรอบ 17 ปี
“ที่ผ่านมามูดี้ส์ได้มีการปรับขึ้น และลดมุมมองความน่าเชื่อถือไทย โดยช่วงปี 2551 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้ปรับลดมุมมองความน่าเชื่อถือเป็น Negative จากนั้น 2 ปี ได้ปรับขึ้นเป็น Stable ต่อมาในปี 2562 ได้ปรับเป็น Positive และในช่วงโควิดที่ผ่านมา ได้ปรับลดลงมาเป็น Stable ซึ่งทุกครั้งที่มีการปรับอันดับความน่าเชื่อถือจะมีเหตุการณ์เข้ามา”
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา แนวโน้มประเทศ อื่นๆ ก็ได้รับการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ประเทศอิสราเอล และจอร์เจีย ก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศจีน และเบลเยียม ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือก่อนนโยบายภาษีสหรัฐฯ ประกาศออกมาด้วย
“แม้มูดี้ส์ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือไทยเป็นลบ แต่วันนี้ (30 เม.ย. 68) ดัชนีตลาดการเงิน และตลาดทุนไม่ได้รับผลกระทบ โดยนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตลาดหุ้นเป็นบวก สำหรับภาคการเงินนั้น สบน.ได้มีการประมูลปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตร 50 ปี วงเงิน 7,000 ล้านบาท สบน.ก็ได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 0.14% และมีผู้ประมูลสูงถึง 2.18 เท่า ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าว ไม่ได้มีผลต่อต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่มีผลกระทบ ซึ่งเราก็ติดตามอย่างใกล้ชิด
ลุ้น 2 สถาบันจ่อประกาศเรตติ้งไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปียังเหลือ 2 สถาบันเครดิต ได้แก่ Fitch Ratings และ S&P Global Ratings จะออกรายงานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ฉะนั้น ช่วงเวลาหลังจากนี้ก็หวังว่าจะมีอะไรที่ออกมาดีขึ้น เราพร้อมเตรียมการรองรับต่อไป เนื่องจากเรื่องนโยบายภาษีสหรัฐฯ เป็นปัจจัยภายนอก แต่เรื่องปัจจัยภายในเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูประบบภาษี และอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไทยควรแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง
ทั้งนี้ เชื่อว่าสถาบันจัดอันดับยังมองว่าความมั่นคงของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จากความสามารถการชำระหนี้ ซึ่งปีงบประมาณ 2568 นั้น สบน. ได้รับจัดสรรงบชำระหนี้เงินกู้ ที่กำหนดเพดานไว้สูงสุด 4% วงเงินรวม 4.1 แสนล้านบาท ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าว ได้รวมการชำระหนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย
ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรพุ่ง
อนึ่ง การลดเครดิตความน่าเชื่อถือของไทยของมูดี้ส์จาก Stable เป็น Negative ต่อต้นทุนการเงินไทย จะส่งผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จาก 4% เพิ่มเป็น 4.50%, ต้นทุนดอกเบี้ยพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ขึ้นจาก 1.8% เป็น 2%, ต้นทุนทางการเงินของเอกชนไทยจะอยู่ที่ 4.20-4.75%, ค่าเฉลี่ย Credit Spread ตราสารหนี้ภาคเอกชนอันดับ BBB อายุไม่เกิน 3 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 301 bps. จาก 283 bps. (2 เม.ย. 2568)
ค่าเฉลี่ยเครดิตระดับ AA+ 3.2-3.5% ต้นปี-28 เม.ย. 2568 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติสุทธิ 6.28 หมื่นล้านบาท (เทียบกับที่ไหลออกสุทธิ 6.74 หมื่นล้านบาทในปี 2567) โดยเกือบ 85% เป็นการไหลเข้าในเดือนเมษายน หลังการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
โฆษณา