2 พ.ค. เวลา 05:00 • ธุรกิจ

การบินไทยยื่นศาลขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เดินหน้าเทคออฟธุรกิจเต็มสูบ

การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว หวังออกจากแผนปลายพ.ค.หรือต้นมิ.ย.นี้ ก่อนกลับมาเทรดในเดือนก.ค.นี้ พร้อมชู 3 ภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้การคุมบังเหียนของบอร์ดใหม่ มุ่งอัพเกรดโปรดักซ์ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ขยายรู้ทเน็ทเวิร์ค รับฝูงบิน 150 ลำ
การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า
ล่าสุดการบินไทย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว หลังจากได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด ทั้งการมีวินัยในการชำระหนี้โดยไม่ผิดกำหนดนัดชำระ มุ่งมั่นสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเพื่อให้ EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินตามงบเฉพาะกิจการมากกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขการออกจากแผนฟื้นฟูฯ
โดยในปี 2567 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มี EBITDA หลังหักค่าเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 41,473 ล้านบาท ตลอดจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวก โดยการปรับโครงสร้างทุนผ่านการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ สิ้นปี 2567 เป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท
ดังนั้นหลังจากนี้ก็คงต้องรอวันนัดพิจารณาของศาลล้มละลาย โดยคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือ ต้นเดือนมิถุนายนนี้ การบินไทยน่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้
3 ภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้การคุมบังเหียนของบอร์ดใหม่
จากนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดการบินไทย) ชุดใหม่ 11 คน เลือกประธานกรรมการ และแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ หลังจากนั้นก็จะมีเข้าสู่ขั้นตอนการกลับเข้าไปซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ตามข้อกำหนดของกลต. เพื่อกลับเข้ามาเทรดอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะกลับมาซื้อขายหุ้นได้ในเดือนกรกฏาคมนี้
สิ่งที่บริษัทฯ จะต้องดำเนินการต่อไปหลังจากออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คือ
1. การทำให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งจากการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู การลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้น ส่งผลให้วันนี้การบินไทย เป็นสายการบินที่มีอัตรากำไรของธุรกิจ (มาร์จิ้น) 23.3 % สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
2. การพัฒนาโปรดักซ์ให้แข่งขันกับโลกได้ ซึ่งในอดีตเรามีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน ต่อมาเกิดโควิดเข้ามาซ้ำเติม ทำให้ที่ผ่านมาโปรดักซ์ไม่ได้มีการพัฒนา แต่วันนี้เมื่อสถานะการเงินดีขึ้น จึงเกิดการปรับปรุงโปรดักซ์ บริการต่างๆ
3. ขยายฝูงบินรวมเป็น 150 ลำ ภายในปี 2576 เพื่อรองรับการขยายธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ตามแผนฟื้นฟูที่ไว้วางไว้ ซึ่งเป็นอำนาจของบอร์ดการบินไทยและผู้ถือหุ้น ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
ดันรายได้ปีนี้ทะลุ 1.8 แสนล้าน
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ทิศทางการเติบโตของรายได้ จะสัมพันธ์กับการเพิ่มฝูงบิน โดยตามแผนการบินไทย ได้จัดหาเครื่องบินแอร์บัส A321 นีโอ จำนวน 32 ลำ ที่จะทยอยรับมอบในปลายปีนี้ และโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ ที่จะทยอยรับมอบในปี 2570
การบินไทยประเมินว่าจำนวนเครื่องบินปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งปลายปีที่แล้วมีเครื่องบินอยู่ที่ 79 ลำ ขณะนี้มี 77 ลำ เพราะมีเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER เกษียณอายุไป 2 ลำ แต่จะมีโบอิ้ง 787 เข้ามาอีก 1 ลำ แอร์บัส 330 ใช้แล้ว เข้ามาอีก 1 ลำ และแอร์บัส 321 นีโอ ก็ทยอยเข้ามาปลายปีนี้ เครื่องบินจึงเพิ่มขึ้นรวมเป็น 80 ลำในปีนี้
การมีจำนวนฝูงบินในปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปีนี้ผู้โดยสารแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่การบินไทยน่าจะบริหารจัดการ ทำให้น่าจะมีรายได้ในปีนี้ตามเป้า 1.8 แสนล้านบาท หรืออาจจะถึง 2 แสนล้านบาทก็เป็นไปได้
1
ศึกษาเปิดเข้าสหรัฐฯ รับ FAA ปรับสถานะมาตรฐานการบินขิงไทย คืนสู่ Cat 1
รวมไปถึงขณะนี้เมื่อองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ประกาศปรับอันดับความน่าเชื่อถือสายการบินของไทยจาก Category 2 ขึ้นเป็น Category 1 ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างการศึกษาว่าถ้าจะกลับไปเปิดบินในเส้นทางบินสู่สหรัฐอเมริกาจะคุ้มหรือไม่ ซึ่งจะต้องใช้เครื่องบินลำตัวกว้าง 3 ลำ ซึ่งอาจจะเป็น แอร์บัส 350 หรือ โบอิ้ง 787 จึงจะบินได้ 7 วัน
โดยไม่ใช่บินตรง แต่จะบินจากโอซาก้า เพื่อรับผู้โดยสารไปโอซาก้า และบินไปอเมริกา โดยในแผน 10 ปียังไม่มีบินไปสหรัฐอเมริกา เพราะวางการใช้เครื่องบินไว้หมดแล้ว เพื่อนำมาเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ เช่น ปารีส หรือการกลับไปบินเวียนนา
แต่หากศึกษาแล้วไปได้ดี ก็จะมีการพิจารณาหากการบินไทยสามารถหาเครื่องบินเข้ามาเพิ่มเติมได้ แต่ก็ยอมรับว่าการจัดหาเครื่องบินลำตัวกว้างในสถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างยาก
เดินหน้าเทคออฟธุรกิจเต็มสูบ
 
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทย อยู่ในช่วง Take Off โดยเน้นเชื่อมต่อการเดินทาง ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับสายการบินชั้นนำต่างๆของโลก ซึ่งเดินหน้าลงทุนยกระดับการให้บริการ
ไม่ว่าจะเป็น การสร้างห้องรับรองพิเศษ (เลาจญ์) ภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 การจัดหาเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo จำนวน 32 ลำ โดยวิธีการเช่าดำเนินการ ที่จะเข้าประจำการภายในสิ้นปี 2568 นี้
การรับมอบโบอิ้ง 787 (เครื่องบินลำตัวกว้าง) จำนวน 45 ลำ ที่จะทยอยรับมอบในปี 2570 การอัพเกรดเครื่องบินแอร์บัส 320 จำนวน 20 ลำ ที่รับโอนมาจากสายการบินไทยสมายล์ ที่จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ การปรับปรุงอุปกรณ์ภายในเครื่องบินโบอิ้ง 777-300 ER รวมถึงแอร์บัส 350 ที่วางแผนเตรียมจะปรับปรุงในอนาคต
การมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นจะทำให้การบินไทยสามารถเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน ในการเชื่อมเครือข่ายการบิน ทำให้กรุงเทพฯเป็นฮับทางการบิน โดยแอร์บัสเอ 321 รองรับ 170 ที่นั่ง ระยะการบินจะอยู่ที่ 5.30 -6 ชั่วโมงสามารถบินไปถึงญี่ปุ่นและจีนตอนใต้ และอาเซียน
ส่วนโบอิ้ง 787 ก็มองว่าน่าจะนำเครื่องบินเข้ามาเพิ่มความถี่ก่อน อาทิ ปารีส หรือ เมืองที่ยังไม่ได้กลับไปบิน เช่น อัมสเตอร์ดัม เวียนนา เป็นต้น ซึ่งการจัดหาเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ และมีออปชั่นจัดหาเพิ่มอีก 35 ลำ
ทำให้การบินไทยจะทยอยรับมอบในปี 2570 เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแผนฟื้นฟู เพราะถ้าสั่งวันนี้การจะได้รับมอบเครื่องบินต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากทั้งโบอิ้งและแอร์บัส มีเครื่องบินที่ค้างอยู่ในการผลิตกว่าหมื่นลำ
โฆษณา