2 พ.ค. เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์

The Nuclear Savings Rule : ฝ่าวิกฤติค่าครองชีพด้วยเคล็ดลับสร้างเงินสำรองขั้นสุดจากยุคหลังสงครามโลก

💰 ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเห็นโพสต์เรื่องการเงินที่ออกมาเตือนกันว่าให้เก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้เยอะๆ เพราะเศรษฐกิจมันไม่ได้ดี
อย่างกรณีของนายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย หรือ TFPA ที่บอกว่าจากอดีตที่กล่าวว่าควรมีเงินสดสำรองยามฉุกเฉิน 3-6 เดือน แต่จากภาวะปัจจุบัน ควรเตรียมความพร้อมมีเงินสดสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือน ถึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นฟรีแลนซ์
👴👵 ภาพที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้นึกถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ช่วงยุค 50’s) ที่ผู้คนจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และมีนิสัยมัธยัสถ์ติดตัวอยู่เสมอ ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ใช่การตัดความสุขออกจากชีวิต แต่คือการใช้จ่ายอย่างมีสติและดึงคุณค่าจากสิ่งที่มีให้ได้มากที่สุด
แน่นอนว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมและความท้าทายก็เปลี่ยน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีสิ่งล่อตาล่อใจเต็มไปหมด แถมค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด ขณะที่รายได้แทบไม่ขยับ นิสัยประหยัดแบบเก่ารุ่นคุณปู่คุณย่า (ที่ถูกเรียกว่า ‘The Nuclear Saving Rule’) จึงอาจเป็น “เคล็ดลับ” การสร้างเงินสำรองขั้นสุดแบบที่เราต้องการเพื่อเสริมรากฐานการเงินให้แข็งแรงขึ้นอีกครั้ง
👗 1. “Make Do & Mend” — ซ่อมก่อนทิ้ง
ลืมคำว่า ‘Fast Fashion’ ไปได้เลย
สมัยก่อนเสื้อผ้าขาดหนึ่งรอยคือโอกาสฝึกเย็บผ้า การโยนทิ้งแล้วรูดบัตรเพื่อซื้อตัวใหม่ไม่ใช่ทางเลือก
ในยุค 50s ครอบครัวจะซ่อมเฟอร์นิเจอร์ เย็บผ้าปะกางเกง เปลี่ยนอุปกรณ์ในครัวเสียเองเพื่อยืดอายุของใช้
ที่จริงแล้วทุกวันนี้ถ้าเราเข้าไปดูใน YouTube ก็มีการสอนทุกอย่างตั้งแต่การเปลี่ยนยางเครื่องซักผ้าไปจนถึงการซ่อมซิปกระเป๋า ค่าอะไหล่ไม่กี่ร้อยอาจประหยัดเงินหลักพัน พร้อมลดขยะฝังกลบที่กำลังล้นโลกได้อีกด้วย
🍳 2. ห้องครัวคือจุดเริ่มต้นของการประหยัดเงิน
“มื้อเย็น” ใน 1950 คือพิธีกรรมประจำวัน ไม่ใช่บริการดิลิเวอรีที่มาส่งหน้าบ้านทีละหลายกล่อง
เราทราบดีว่าการสั่งอาหารมาทานนั้นสะดวก แต่ก็บานปลายได้ง่ายเช่นเดียวกัน
เมื่อต้นทุนอาหารนอกบ้านแพงกว่าการทานอาหารในบ้านอยู่แล้วโดยเฉลี่ย
การกลับมาทำกับข้าวสัปดาห์ละ 2–3 วันจึงช่วยประหยัดเงินหลายพันบาทต่อเดือน
ลองทำเมนูใหญ่ (batch cooking) แบ่งแช่แข็ง หรือวางแผนเมนูให้วัตถุดิบใช้ต่อเนื่อง เช่น อกไก่ย่างวันนี้ กลายเป็นสลัดหรือข้าวผัดพรุ่งนี้ หรือดัดแปลงของเหลือเป็นเมนูใหม่เพื่อลดทิ้งขว้างก็ได้
📝 3. ชอปปิงอย่างมีแผน ไม่ใช่อารมณ์
ก่อนออกจากบ้าน แม่บ้านยุค 50 จะเขียน “Shopping List” ก่อนเลย เพราะถ้าพลาดลืมซื้อของอะไรสักอย่างเท่ากับต้องเสียเวลาขับรถกลับไปอีกรอบ
อีกเคล็ดลับคือซื้อของแห้งลอตใหญ่ตอนลดราคา และเลือกสินค้าเก็บรักษาง่าย (แป้ง ถั่ว อาหารกระป๋อง ฯลฯ) ตุนล่วงหน้า
โชคดีอย่างหนึ่งที่ตอนนี้เรามีตัวช่วยเพิ่ม: แอปเปรียบเทียบราคา, คูปองดิจิทัล, ระบบแจ้งเตือนแฟลชเซลส์ แต่แก่นของมันก็ยังเหมือนเดิม ซื้อของเพราะจำเป็น ไม่ใช่เพราะ “มันลดราคา” หรือ “อยากได้”
✉️ 4. แบ่งเงินใส่ซอง (Envelope Budgeting) ฉบับดิจิทัล
อีกเทคนิคหนึ่งที่เวลานั้นครอบครัวจะใช้คือแบ่งเงินสดใส่ซองตามวัตถุประสงค์ เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำ-ไฟ, ค่าเสื้อผ้า, เงินเก็บ ฯลฯ ซองไหนว่างก็หยุดใช้ ต้องรอเงินรอบใหม่เข้ามา
แม้ตอนนี้การใช้เงินสดอาจจะตกยุคไปแล้ว แต่วิธีคิดยังใช้ได้
ลองแบ่งเงินออกเป็นหมวดหมู่ แอปฯ อย่าง Make ของ Kbank ก็ช่วยให้เราแยกกระเป๋าได้ เมื่อเงินเข้าปุ๊บ ก็ “แยกเงินออกไปตามหมวดหมู่ทันที” หลังจากนั้นค่อยใช้จ่าย
🚗 5. หนึ่งครอบครัว รถหนึ่งคัน (หรือไม่มีเลย)
หลังสงคราม รถยนต์คือสินทรัพย์ใหญ่ คนส่วนมากจึงวางแผนเส้นทางอย่างละเอียด – ซื้อของครั้งเดียวจบ, รับ-ส่งลูกระยะทางเดียวกัน
อย่าลืมนะว่าค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของรถยนต์สักคันนั้นมีอยู่ตลอด ประกัน ซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ฯลฯ
หากเป็นไปได้ลองหาโอกาสทำงานแบบรีโมตหรือวางแผนการใช้รถยนต์ให้เป็น “ครอบครัวรถเดียว” จะช่วยประหยัดได้เยอะมาก แม้อาจไม่สะดวก 100% แต่แลกกับเงินก้อนโตที่เหลือไปโปะหนี้หรือเพิ่มเงินเก็บฉุกเฉินได้เยอะเช่นกัน
🥕6. ปลูกผักทานเอง ไม่ต้องมีสวนขนาดใหญ่
ในช่วงสงครามจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Victory Garden” หรือแปลงผักที่ปลูกหน้าบ้าน (หรือตามสวนสาธารณะ) เพื่อช่วยพยุงค่าครองชีพและเป็นอาหารสำหรับชาวบ้าน
แนวทางนั้นก็อยู่รอดมาจนถึงช่วงหลังสงครามและสมัยนี้การปลูกผักทานเองก็ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากอีกต่อไป
ลองเลือกปลูกผัก-สมุนไพรที่ราคาสูงและใช้บ่อย เช่น โหระพา พริกหยวก มะเขือเทศเชอร์รี ต้นทุนเมล็ดกับดินไม่กี่ร้อยสามารถเก็บกินได้ในเวลาไม่นานแถมได้ผักปลอดสารบนโต๊ะอีกด้วย
📖 7. ความบันเทิงราคาไม่แพง
ยุค 50’s ไม่มีบริการสตรีมมิงให้เลือกมากมายเหมือนอย่างตอนนี้ งานอดิเรกคืออ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม ถักนิตติ้ง หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน
วันหยุดลองหากิจกรรมที่เล่นด้วยกันในครอบครัว ออกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ กลับบ้านมาเล่นเกมบอร์ด ชวนกันทำอาหาร ดูหนังด้วยกันสักเรื่อง แทนการออกไปทานข้าวนอกบ้าน นอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว ยังสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวได้อีกด้วย
👛 8. ใช้เงินสดหรือบัตรเดบิต
เรามีทางเลือกในการใช้จ่ายเงินมากกว่าทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ แต่นั่นก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบและการระมัดระวังที่ต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าไม่มั่นใจว่าสามารถรับมือกับสิ่งล่อตาล่อใจหรือภาระที่จะตามมาหลังจากใช้บัตรเครดิตได้ ก็ควรเลือกใช้จ่ายด้วยเงินสดหรือบัตรเดบิตจะดีที่สุด
🧠 9. แยกให้ออกระหว่างสิ่งที่ “อยาก” ออกจากสิ่งที่ “จำเป็น”
บทเรียนล้ำค่าที่สุดจากยุคสมัยนั้นไม่ใช่สูตรออมอันไหน แต่คือ “กรอบความคิด” ที่คนสมัยนั้นมีติดตัวอยู่ตลอดคือถามตัวเองเสมอว่า “จำเป็นจริงไหม” ทุกครั้งก่อนจ่ายเงิน
ครอบครัวในยุคนั้นให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายจำเป็นก่อนเสมอ และจะพิจารณาอย่างรอบคอบทุกครั้งก่อนซื้อของฟุ่มเฟือย แนวคิดนี้ไม่ใช่การไม่อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข แต่เป็นการบริหารการเงินอย่างรับผิดชอบ
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการตลาดรอบด้าน การปลูกฝังวิธีคิดเช่นนี้ยิ่งสำคัญเข้าไปอีก ใช้เวลาไตร่ตรองก่อนจ่าย แทนที่จะซื้อเพราะอารมณ์ มองหาความพอใจกับของที่มี แทนการอัปเกรดไม่รู้จบ และออมเงินอย่างมีเป้าหมายเพื่อสิ่งที่มีความหมาย—ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินและความพึงพอใจในชีวิตที่มากขึ้น
🌏 ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนรูปจากสงครามโลกเป็นสงครามราคา แต่หลักการจัดการเงินยังคงเดิม
ซ่อมก่อนซื้อ, กินข้าวบ้าน, มีงบการเงินที่ชัดเจน, ลดของฟุ่มเฟือย, หาเรื่องสนุกที่ไม่ต้องจ่ายแพง
เมื่อเรากลับมาใช้ “สูตรประหยัด” เหล่านี้ เราไม่ได้เพียงสร้างเงินออม แต่ยังสร้างทักษะพึ่งพาตนเอง ขยะที่สร้างให้กับโลก และที่สำคัญที่สุด — สร้างจิตใจที่สงบท่ามกลางโลกบริโภคนิยมที่ดังโหวกเหวกโวยวายอยู่ในตอนนี้
ถ้าความมั่งคั่งคืออิสรภาพ การประหยัดก็คือบันไดขึ้นสู่เสรีภาพที่เรากำลังมุ่งหน้าไปนั่นแหละ และบางครั้ง บันไดที่ดีที่สุดอาจไม่ได้ทำจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ทำจากไม้เก่า ๆ ที่เป็นบทเรียนทรงคุณค่าที่ผ่านพ้นสงครามมาแล้วครั้งหนึ่ง—และยังแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักเราได้ในศตวรรษที่ 21 ต่อไป
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการใช้เงิน #TheNeclearSavingsRule
โฆษณา