3 พ.ค. เวลา 06:10 • ท่องเที่ยว

ท่องแดนมังกร 2025 (02) สระน้ำมังกรดำ เมืองลี่เจียง

“สระน้ำมังกรดำ” (จีนตัวย่อ: 黑龙潭 ;เฮยหลงถัน Heillongtan, Black Dragon Pool) เป็นสระน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในอุทยานหยก (หยู กวน กง หยวน) อันเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เรียกกันว่า สวนยู้วฉวน ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองเก่าลี่เจียง 1 กม. เชิงเขาเซียงซานของมณฑลยูนนาน
อาคารโบราณในพื้นที่ท่องเที่ยวเฮยหลงถาน สร้างขึ้นครั้งแรกในปีที่สองของรัชสมัยเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1737) .. ในปี 1999 ได้รับการประกาศให้เป็นหน่วยอนุรักษ์โบราณวัตถุชุดแรกในลี่เจียง
ในปี 2006 ได้รับการประกาศให้เป็นหน่วยอนุรักษ์โบราณวัตถุสำคัญแห่งชาติชุดที่หก จุดอนุรักษ์โบราณวัตถุ ได้แก่ เวินหมิงฟาง (ประตูสวนเฮยหลงถาน) สะพานซัวคุ่ย หอคอยเต๋อเยว่ และวัดมังกรเทพเจ้า และยูเนสโก ยกให้เป็นมรดกโลกอีกด้วย
ตำนานเล่าขานที่มาของชื่อ “สระน้ำมังกรดำ” มีว่า .. เมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่นี่ยังเป็นเพียงบ่อน้ำธรรมดา
แต่อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านเห็นมังกรดำโผล่ขึ้นมาจากบ่อน้ำ ซึ่งชาวหน่าซีมีความเชื่อเรื่องมังกรอยู่แล้ว จึงตั้งชื่อบ่อน้ำแห่งนี้ว่า สระน้ำมังกรดำ
ประตูในสถาปัตยกรรมจีนโบราณ และป้ายชื่อของสถานที่ .. เป็นด่านแรกของการเข้าถึงพื้นที่สวนด้านใน
แค่ก้าวผ่านประตูเข้ามาด้านใน เราพบกับสวนสวยที่มีต้นไม้ใหญ่ และสวนไม้ดอกที่น่ารื่นรมย์ชวนเดินชมธรรมชาติสวยๆ มีสระน้ำขนาดใหญ่มาก ที่มีน้ำใสสะอาดตั้งอยู่ตรงกลาง
ใครบางคนเล่าว่า .. ในอดีต สระน้ำแห่งนี้แห้งเป็นบางครั้ง ทำให้ทัศนียภาพอันโด่งดังของสระน้ำแห่งนี้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2010 อุทยานแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์น้ำโดยรัฐบาลท้องถิ่น และในปี 2014 สระน้ำแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยน้ำ โดยความงามในอดีตได้รับการฟื้นฟู
สระน้ำขนาดใหญ่เป็นจุดชมวิวของ สถาปัตยกรรมต่างๆที่มีความสวยงามในด้านของศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวฮั่น ทิเบต และนาซี ไว้ด้วยกันอย่างโดดเด่นและลงตัว
.. ทั้งสะพานหินโค้งและศาลา อันมีจุดเด่นด้วยการมีฉากหลังเป็นภูเขา
ว่ากันว่า .. ในวันที่ฟ้าเปิดสดใส จะได้เห็นภาพของภูเขาหิมะมังกรหยกที่มีชื่อเสียงของลี่เจียง และเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาค สะท้อนภาพลงบนสระน้ำสวยงามมาก
... น่าเสียดายที่วันที่เรามาเยี่ยมชมนั้นฟ้าไม่เปิดเป็นใจสักเท่าไหร่ ทำให้ไม่ได้เห็นภาพสะท้อนของภูเขาหิมะมังกรหยกอันงดงาม เห็นได้ชัดเจนจากสะพานหินอ่อนสีขาว
.. แต่ทว่าการได้เดินเล่นเพลินๆ ชมบรรยากาศของสวยๆ ที่มากมายไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายๆ
… มีสถาปัตยกรรมสไตล์จีนสวยๆ ให้ได้ชม มีสะพานหินให้ได้เดินข้ามไปชมศาลากลางน้ำ ชมเก๋งจีนสวยๆ เพียงแค่นี้ก็รู้สึกสดชื่นใจแล้ว
“สระมังกรดำ” เป็นแหล่งน้ำของเมืองเก่าลี่เจียง น้ำพุใสราวกับหยก เมื่ออากาศดี คุณจะได้ชื่นชมทัศนียภาพอันสวยงามที่ผสมผสานระหว่างน้ำบริสุทธิ์ ภูเขาหิมะ และท้องฟ้าสีฟ้า
.. สิ่งที่น่าสนใจของสระน้ำมังกรดำ คือ การมี 2 สระในที่เดียวกัน สระหนึ่งลึกและอีกสระหนึ่งตื้น
สระลึกคือ “สระมังกรดำ” หรือที่เรียกกันว่าสระใส (清水潭) สระน้ำเป็นสระน้ำทรงกลมลึกประมาณ 15 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 600 ตารางเมตร มีน้ำพุใสไหลออกมาจากก้นสระ
.. เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการชื่นชมภูเขาหิมะมังกรหยกที่กลับหัวกลับหาง
สระน้ำตื้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสระน้ำลึก สีของน้ำเป็นสีเหลือง จึงเรียกอีกอย่างว่า “สระขุ่น” (浑水潭) สระขุ่นมีพื้นที่ 2,600 ตารางเมตร และลึก 0.5 เมตร
ห่างออกไปเพียงไม่กี่ก้าว น้ำในสระมังกรดำจะแตกต่างจากสระขุ่นโดยสิ้นเชิง สีของน้ำจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ใสและขุ่น เหมือนกับแผนภูมิหยินหยางไทจิในลัทธิเต๋า
สวนสวยแห่งนี้ประกอบด้วยศาลาขนาดเล็กหลายแห่ง ที่เป็นไฮไลท์ในสระมังกรดำ : เราไม่ได้เข้าไปชมทั้งหมด แต่จะขอรวบรวมมาเป็นข้อมูลสำหรับท่านที่มีเวลาเพียงพอ
***(ภาพประกอบอาจจะไม่ตรงเนื้อหา ต้องขออภัยค่ะ)
พระราชวังมังกรดำ (黑龙宫) .. กลุ่มสถาปัตยกรรมโบราณใกล้ขอบสระมังกรดำเรียกว่า "พระราชวังมังกรดำ" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพื้นที่ท่องเที่ยวเซียกวน
พระราชวังมังกรดำสร้างขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1394 พระราชวังแห่งนี้เรียบง่ายและสง่างาม มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นในลานบ้าน ส่วนห้องโถงหลักอุทิศให้กับราชามังกรและห้องโถงด้านข้างบูชาบุคคลสูงศักดิ์แห่งน้ำอื่นๆ
ต้นไม้ 3 ชนิดที่ไม่เหมือนใคร (三异木)
สวนแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงจากต้นไม้เก่าแก่ 3 ต้นที่ปลูกไว้ด้านหน้าห้องโถงเป่ยจี้ในสมัยราชวงศ์ต่างๆ ได้แก่ ต้นพลัมทางทิศตะวันออกในสมัยราชวงศ์ถัง
ต้นไซเปรสตรงกลางในสมัยราชวงศ์ซ่ง และต้นชาทางทิศตะวันตกในสมัยราชวงศ์หมิง นักเขียนชื่อดังชาวจีน นายโมรัว กัว เคยเขียนบทกวีเพื่อยกย่องความงามของต้นไม้ทั้งสามต้นนี้เมื่อปี 2504 เมื่อเขาไปเยี่ยมชมสวนสระมังกรดำ
ศาลาโอบพระจันทร์ (จีนตัวย่อ: 得月楼) สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายราชวงศ์หมิง โครงสร้างปัจจุบันเป็นแบบจำลองจากปี 1963 หลังจากเกิดเพลิงไหม้ในปี 1950
วัดหลงเซิน (จีนตัวย่อ: 龙神寺) หรือที่รู้จักกันในชื่อวัดเทพมังกร สร้างขึ้นโดยชาวเมืองน่าซีในท้องถิ่นในปี 1737 และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสวนสาธารณะ และได้รับชื่อเทพเจ้ามังกรแห่งน้ำพุหยกจากจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงในปีเดียวกัน
หอคอยห้าหงส์สามชั้นที่ทับซ้อนกัน (หอคอยหวู่เฟิง) สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (1601) และปัจจุบันตั้งอยู่ทางปลายด้านเหนือของสวนสาธารณะ หอคอยนี้เดิมตั้งอยู่ที่วัดฟู่กั๋ว ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก 30 กิโลเมตร แต่ถูกย้ายไปยังสวนหยกน้ำพุในปี 1979
ป่าแห่งศิลาจารึก (碑林) เป็นแหล่งขุมทรัพย์ของวัฒนธรรมนาซี ประกอบด้วยศิลาจารึกที่มีชื่อเสียงมากกว่า 50 เล่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังจนถึงสาธารณรัฐจีน และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูง
หอคอยติงเฟิง (定风塔) .. หอคอยติงเฟิง หรือที่เรียกอีกอย่างว่าหอคอยเหวินปี้ เป็นหอคอยทรงแปดเหลี่ยมหนา 7 ชั้นและแข็งแกร่ง
หอคอยติงเฟิงสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง และได้รับการบูรณะในสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อปี 1852 ตัวหอคอย 7 ชั้นที่ทำจากหินโดโลไมต์แกะสลักอย่างวิจิตรงดงามและมีรูปร่างที่สง่างาม ไม่เพียงแต่ชื่อเทพเจ้าเต๋าทั้งสี่องค์เท่านั้นที่สลักไว้บนหอคอย แต่ยังมีคัมภีร์เต๋าบางเล่มอีกด้วย
ป่าเมเปิ้ลแดง (红枫林区) .. ในปี 1997 เพื่อเป็นการรำลึกถึง "การกลับมาของฮ่องกง" ทางอุทยานจึงได้สร้างป่าเมเปิ้ลเพื่อเป็นอนุสรณ์ ป่าแห่งนี้มีพื้นที่ 2 เฮกตาร์ ปลูกต้นเมเปิ้ลแดงมากกว่า 2,000 ต้น และสร้างอนุสาวรีย์หินไว้ที่นั่น ทุกปีในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้สีแดงจะพลิ้วไสวไปตามลม แต่งแต้มสีสันให้ภูเขาสวยงาม
หุบเขาอาซาเลีย (杜鹃谷景区) .. หุบเขาอาซาเลียอยู่ใกล้กับพื้นที่พลัมผลไม้ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาทางเหนือของ "พื้นที่พลัมฤดูใบไม้ผลิมังกร (龙泉探梅)" ครอบคลุมพื้นที่ 8 เฮกตาร์
โดยปลูกกุหลาบพันธุ์นี้มากกว่า 100,000 ต้น ก่อนและหลังเทศกาลเชงเม้ง ภูเขาและร่องเขาจะถูกปกคลุมไปด้วยดอกกุหลาบพันปี นำเสนอทิวทัศน์ของดินแดนแห่งเทพนิยายแห่งทะเลดอกไม้
เราชอบศาลาแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ติมสระน้ำ ..เข้าใจว่าปัจจุบันสามารถไปสั่งกาแฟมานั่งดื่ม ชมวิวไปด้วยได้
ทางเดิน.. The Longevity Corridor
เมื่อเดินไปรอบๆอุทยาน เราพบว่า .. นอกจากทิวทัศน์ธรรมชาติอันน่าทึ่งแล้ว สระมังกรดำยังมีมรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติอยู่มากมาย เช่น สถาปัตยกรรมโบราณจำนวนมากที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงหรือชิง
สวนแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยวัฒนธรรมตงปาและพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมตงปา .. ทั้งรูปภาพต่างๆ และอักษรตงปาซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอักษรภาพของอียิปต์
รายละเอียดของหอคอยสวยๆกบางสระน้ำ
โฆษณา