3 พ.ค. เวลา 12:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจชะลอ! ฉุดตลาดแรงงานป่วนหนัก "เด็กจบใหม่" ส่อแววว่างงานพุ่ง

เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ย่อมส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรอบ รวมไปถึงภาคแรงงาน และ “เด็กจบใหม่” ที่ส่งสัญญาณภาวะว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปี 2568 ก็เช่นกัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ตลาดแรงงานไทยยังคงขาดสเถียรภาพและความมั่นคง
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากเศรษฐกิจไทยเติบโตตามเป้าหมายที่ 3% จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม สำหรับ “เด็กจบใหม่” ที่กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในปีนี้ จะเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน
“แม้จะจบปริญญาตรี แต่การหางานจะยากขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะชะลอการจ้างงานเด็กจบใหม่ สถานการณ์การว่างงานโดยรวมและการหางานที่ยากขึ้นเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัว รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ที่สถานการณ์ยังไม่นิ่งและภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่คงที่”
ทั้งนี้ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีความต้องการแรงงานที่มี “ทักษะสูง” และสามารถทำงานในส่วนที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ แม้ว่าอัตราการว่างงานโดยรวมของประเทศอาจดูเหมือนลดลง แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง และความท้าทายในการปรับตัวของแรงงานไทยให้เข้ากับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
สอดคล้องกับความเห็นของนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่เล่าให้ฟังถึงปัญหาเชิงลึกของตลาดแรงงานไทยว่า ตลาดแรงงานไทยติดลบทุกปี หรือต้องพัฒนาสกิล รีสกิลคนในประเทศมากกว่าจะง้อแรงงานต่างชาติ
นายแสงชัย ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างแรงงานไทยในปัจจุบันที่มีความเปราะบาง โดยจากจำนวนแรงงานทั้งประเทศ 38 ล้านคน เกือบ 50% เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ และมีแรงงานจำนวนมากที่มีระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีแรงงานกว่า 15.6 ล้านคน (42%) ที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 13.4 ล้านคน (36%) ในระดับมัธยมศึกษา และเพียง 8.5 ล้านคน (22%) ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา
“ความต้องการในการยกระดับทักษะขีดความสามารถของประชากรไทยวัยแรงงานมีความต้องการต่อปีสูงถึงกว่า 5.3 ล้านคน แต่ประเทศไทยมีงบประมาณและดำเนินการได้ไม่ถึง 50% ของความต้องการ ที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี”
จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนการจ้างงานลดลง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล และพลังงานสะอาด ยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ
นอกจากนี้ การเข้ามาของเทคโนโลยีอัตโนมัติและ AI ยังส่งผลกระทบต่อลักษณะงานในหลายภาคส่วน ทำให้แรงงานจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต การ “รีสกิล” (Reskill) หรือการเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อเปลี่ยนสายงาน และ “อัพสกิล” (Upskill) หรือการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้สูงขึ้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแรงงานไทยในทุกระดับ
เพื่อแก้ไขปัญหาตลาดแรงงานไทยในระยะยาว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกและบูรณาการในหลายด้าน ได้แก่ การลงทุนในการพัฒนาการศึกษาและทักษะ เพิ่มงบประมาณและยกระดับคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
การส่งเสริมการ “รีสกิล” และ “อัพสกิล” อย่างจริงจัง จัดตั้งโครงการและแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่าย เพื่อสนับสนุนให้แรงงานทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย วางแผนและดำเนินมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และพัฒนาศักยภาพของแรงงานสูงวัยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปี 2568 ยังคงมีความท้าทาย โดยเฉพาะสำหรับเด็กจบใหม่ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ปัญหาเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะของแรงงานไทยที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การลงทุนในการพัฒนาคนอย่างจริงจัง และการปรับตัวของทุกภาคส่วน จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างตลาดแรงงานที่เข้มแข็งและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
โฆษณา