3 พ.ค. เวลา 13:00 • ครอบครัว & เด็ก

แม้ลูกไม่เข้าใจแต่พวกเขารู้สึกได้

คุยเรื่องเงิน ความกังวล และผลกระทบต่อครอบครัวกับลูกยังไงดีในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน?
“พ่อคะ ทำไมหนูซื้อขนมถุงเดิมได้แค่ครึ่งถุง?”
“ก็ราคาแป้งกับน้ำมันขึ้น เขาเลยลดปริมาณลงจ้ะ”
1
“พ่อคะ ทำไมช่วงนี้เราถึงไม่ค่อยได้ไปกินข้าวนอกบ้านกันเลย?”
“ช่วงนี้เศรษฐกิจมันปั่นป่วน มีกำแพงภาษีตอบโต้กันไปมาระหว่างประเทศใหญ่ๆ ลูก”
[…]
📉 คำถามไร้เดียงสาของลูกๆ ในบทสนทนาระหว่างวันเหล่านี้อาจเป็นภาพเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัว แต่สะท้อนให้เห็นคลื่นความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่ซัดเข้ามาในชีวิตครอบครัวทั่วโลก —ตั้งแต่ตลาดหุ้นเหวี่ยงแรง เงินเฟ้อที่ยังไม่ยอมสงบ ไปจนถึงข่าวการปลดพนักงานที่มีอยู่เต็มไปหมดไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ความกังวลและความเครียดลอยอยู่ในบรรยากาศทุกหัวมุมถนน
👀 จริงอยู่ เด็กอาจไม่เข้าใจศัพท์ยาก ๆ อย่าง “เงินเฟ้อ” “กำแพงภาษี” หรือ “ดัชนีดาวโจนส์” แต่พวกเขารับรู้ได้ทันทีเมื่อพ่อแม่เริ่มลังเลก่อนรูดบัตรเครดิต ถอนหายใจเวลาเปิดพอร์ตบัญชีลงทุนในมือถือ หรือขมวดคิ้วเมื่อกดยอดเงินบนตู้ ATM ฯลฯ
ความรู้สึกไม่มั่นคงนั้นส่งผ่านบรรยากาศในบ้านไปถึงลูกก่อนถ้อยคำอธิบายเสียอีก
💬 “พ่อแม่คือผู้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องเงินของลูกมากที่สุด” แอชลีย์ เลบารอน-แบล็ก (Ashley LeBaron-Black) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านชีวิตครอบครัว มหาวิทยาลัยบริกแฮมยังกล่าว
เมื่อลูกถาม พ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะตอบ มันเป็นเรื่องที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะพูดถึงเรื่องเงิน เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่เราในฐานะพ่อแม่เองจะหาวิธี “พูดเรื่องเงินโดยไม่เพิ่มความกลัว” หรือทำบรรยากาศให้ตึงเครียดยิ่งกว่าเดิมกับลูกๆ ยังไงดี?
🧠 [ เด็กไม่ได้ไร้เดียงสาต่อข่าวเศรษฐกิจแบบที่เราคิด ]
ดร. รีเบคกา แม็กซี ผู้อำนวยการและหัวหน้านักวิจัยโครงการ Financial Education Initiative แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า “พ่อแม่ไม่ควรคิดไปเองว่าลูกไม่รับรู้เรื่องเหล่านี้”
อย่าคิดว่าเด็กๆ หลับตาอุดหูต่อข่าวค่าอาหารพุ่งพรวดหรือค่าไฟที่ปรับขึ้น พวกเขาได้ยินได้ฟังจาก ทีวี ยูทูบ หรือแม้แต่ห้องเรียน และประมวลด้วยสัญชาตญาณว่า “อะไร ๆ กำลังแพงขึ้น”
ตัวอย่างล่าสุดคือข่าว ภาษีนำเข้าสินค้าของรัฐบาลสหรัฐต่อเครื่องเล่นเกมยอดนิยมอย่าง ‘Nintendo Switch 2’ ที่สื่อกระหน่ำปลายเดือนเมษายน 2025 เด็กหลายคนยกประเด็นนี้มาคุยกันในสนามเด็กเล่นก่อนครูจะทันสอนด้วยซ้ำ
📰 แปลว่า ถ้าเราไม่พูด ลูกอาจไปปะติดปะต่อเรื่องเอง ซึ่งเสี่ยงต่อความเข้าใจคลาดเคลื่อนและความกลัวเกินจริง ทางออกคือเปิดพื้นที่ถาม–ตอบล่วงหน้า “ช่วงนี้หนูได้ยินใครพูดถึงเรื่องเงินหรือของแพงไหมจ๊ะ?” แล้วฟังให้รู้ว่าเขามีข้อมูลพื้นฐานแค่ไหน
เด็ก ๆ มีเซนส์ไว และจับสังเกตได้เมื่อพ่อแม่กังวลเรื่องค่าครองชีพ หรือผลกระทบจากความผันผวนของตลาดต่อเงินออมเกษียณและกองทุนการศึกษาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
💡 [ แล้วจะคุยกับลูกเรื่องเงินยังไงดี? ]
มอรีน เคลลีย์ (Maureen Kelley) ​นักบำบัดการเงิน (Financial Therapist) แนะนำกฎพื้นฐาน 2 ข้อ—ซื่อสัตย์และเหมาะสมกับวัย
1
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่า “แม่กลัวจะตกงาน” ลองเปลี่ยนเป็น “ช่วงนี้แม่กำลังวางแผนสำรองเผื่อรายได้เปลี่ยนแปลง” หรือ “เรากำลังปรับวิธีการจัดการและใช้เงินของเราอยู่”
🗣️ ดีนา ฮีลีย์ (Deana Healy) รองประธานฝ่ายวางแผนการเงินและให้คำปรึกษาแห่ง Ameriprise แนะนำว่า พ่อแม่ควรเน้นย้ำให้ลูกเห็นถึงมาตรการที่เตรียมไว้รับมือเหตุไม่คาดฝันทางการเงิน เช่น การกันเงินสำรองยามฉุกเฉิน อาจบอกลูกได้ว่า “ใช่ค่ะ ช่วงนี้อะไร ๆ ไม่แน่นอน แต่เราวางแผนไว้แล้วนะ”
✅ มันคือการ ‘เน้นสิ่งที่ทำได้’ มากกว่าสิ่งที่ควบคุมไม่ได้รอบตัว
ถ้าจำเป็นต้อง “รัดเข็มขัด” ให้พูดอย่างชัดเจนล่วงหน้าไว้ก่อนเลย เช่น “ปีนี้เราอาจลดมื้อทานข้างนอกลงเหลือสัปดาห์ละครั้งนะลูก” ดีกว่าปฏิเสธกะทันหันทุกครั้งจนเด็กสับสนว่าทำไมบ้านเปลี่ยนไป
ถ้าลูกถามว่าเรื่องทั้งหมดนี้ส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร นั่นถือเป็น “ช่วงเวลาทอง” สำหรับเปิดวงสนทนา เพราะจะช่วยให้เด็กเข้าใจเหตุผลของการรัดเข็มขัดได้ง่ายขึ้น
ดร.แม็กซีอธิบายว่า คุณอาจพูดว่า “เรากำลังปรับวิธีใช้จ่ายเงินกันนิดหน่อย” ดีกว่าปฏิเสธคำขอต่าง ๆ ของลูกโดยไม่อธิบายและทำให้พวกเขาสับสน
เคล็ดลับเล็ก ๆ อีกอย่างคืออย่าคุยตอนตัวเองเพิ่งเปิดดูพอร์ตลงทุนแดงเถือก หรือเพิ่งเถียงกันเรื่องบิลค่าไฟ ให้รอจังหวะที่อารมณ์สงบ
👨‍👩‍👧‍👦 [ ชวนเป็น “ทีมเดียวกัน” ไม่ใช่ “ผู้รับคำสั่ง” ]
เด็กทุกวัยอยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหา จอห์น แลนซา (John Lanza) ผู้เขียนหนังสือสอนเรื่องเงินเด็กๆ เสนอให้ลูกมีส่วนร่วมวางงบประมาณจะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าควบคุมสถานการณ์ได้
🧩 “เด็ก ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของทางออก” แลนซาอธิบาย เช่น ถ้าเป้าหมายของบ้านคือ “กินข้าวที่บ้านให้บ่อยขึ้น” ลองเปลี่ยนเป็นเกม ให้ลูกช่วยคิดเมนูและเข้าครัว
พอประหยัดค่าอาหารนอกบ้านได้ก็แบ่งเงินส่วนนั้นให้ลูกเป็นค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจและทำให้ทุกคนรู้สึกชนะร่วมกันก็ได้
การเปลี่ยน “ข้อจำกัด” เป็น “ความท้าทาย” ทำให้เด็กรู้สึกควบคุมชีวิตบางส่วนได้ สมองจะตีความสถานการณ์เป็นบวก ลดความเครียดสะสมของทั้งบ้าน
🧠 [ ไม่ต้องเป็นกูรูการเงินถึงสอนลูกเรื่องเงินได้ ]
พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกว่าตนเองต้องมีคำตอบครบทุกเรื่อง แต่ “การยอมรับว่าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่เป็นไร” สกอตต์ ริก (Scott Rick) รองศาสตราจารย์ด้านการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ผู้ศึกษาการตัดสินใจทางการเงิน กล่าว
ริกย้ำว่า “ไม่รู้” แล้วเปิดรับเรียนรู้ร่วมกัน เป็นแบบอย่างที่ทรงพลังยิ่งกว่า “รู้ทุกอย่าง” สมมุติลูกถาม “กำแพงภาษีคืออะไร?” พ่อแม่อาจตอบ “ดีเลย พ่อก็อยากเข้าใจมากขึ้น เรามาดูข่าวหรือหาข้อมูลไปพร้อม ๆ กันไหม?”
📚 วิธีนี้สอน 3 อย่างในคราวเดียว—ความกล้าเปิดใจ ทักษะหาข้อมูล และบทเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เวลานี้ซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
พ่อแม่บางคนหลีกเลี่ยงการคุยเรื่องเงินกับลูกเพราะรู้สึกผิดหรืออายกับความผิดพลาดทางการเงินในอดีต แต่จริง ๆ แล้ว การพูดเรื่องเงินที่บ้าน “ควรเริ่มให้เร็วและพูดให้บ่อย”
งานวิจัยชี้ว่า การได้รับความรู้ด้านการเงินจากพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็กสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเงินที่ดีในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการใช้บัตรเครดิตอย่างรับผิดชอบ
🧾 [ เริ่มคุยกับลูกเรื่องการเงินด้วยสิ่งรอบตัว ]
ครั้งหนึ่งตอนเป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่ของแอชลีย์ เลบารอน–แบล็กเรียกเธอและพี่น้องมานั่งล้อมกองเงินจากเกม Monopoly แล้วนับให้ดูว่าครอบครัวมีรายได้ต่อเดือนเท่าไร
“ตอนนั้นฉันคิดว่า ‘โห เยอะจัง’” เธอเล่าให้ The New York Times ฟังถึงความทรงจำในตอนนั้น
💰 จากนั้นพ่อแม่ก็เริ่มหักค่าใช้จ่ายทีละรายการ—ค่างวดบ้าน ค่าแก๊ส ค่าไฟ และค่าอาหาร—จนท้ายที่สุดเหลือเงินอยู่เพียงเล็กน้อย
จุดประสงค์ที่พ่อแม่อยากจะสื่อนั้นชัดเจนว่ารายจ่ายจำเป็นนั้นแม้จะมีเงินพอจ่ายทุกเดือน แต่ทุกบาทต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภาพนั้นติดตาเธอจนโตเลย
หากเราเป็นคุณพ่อคุณแม่ลองทำตามได้ง่าย ๆ
หลังซื้อของลองยื่นใบเสร็จให้ลูกดูแล้วถามว่า “คิดว่าของชิ้นไหนแพงสุด?” แล้วต่อด้วยคุยเรื่องการคุมงบค่าใช้จ่าย
อาจจะใช้หนังสือภาพ (หรือการ์ตูน) ที่เขาชอบเช่นโดราเอมอนที่โนบิตะมักต้องเก็บเงินเพื่อซื้อของเล่นอยู่เป็นประจำ หรือถ้าลูกโตหน่อยเดี๋ยวนี้มีหนังสือการเงินที่ถูกพิมพ์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เรื่องการเงินกับเด็กๆ โดยเฉพาะด้วย
🏠 [ อย่าลืมดูแลบรรยากาศในบ้านด้วย ]
โรบิน เกอร์วิช (Robin Gurwitch) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ประจำศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก แนะนำว่าควรเปิดประเด็นคุยกับลูกแม้พวกเขาจะยังไม่ถาม เพราะมีโอกาสสูงที่เด็ก ๆ จะได้ยินเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากเล่นโซเชียลมีเดีย
“ลองพูดว่า ‘ช่วงนี้คนพูดกันเยอะเรื่องเศรษฐกิจกับกำแพงภาษี แม่สงสัยว่าหนูได้ยินอะไรบ้าง’”
เมื่อพ่อแม่รู้ว่าลูกรู้อะไรอยู่แล้ว ก็จะอธิบายเพิ่มเติมหรือแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ตรงจุด
เกอร์วิชเสริมว่า วัยรุ่นบางคนอาจตีมึนไม่ตอบคำถามตรง ๆ พ่อแม่จึงอาจต้องวกถามอ้อม ๆ เช่น “เพื่อน ๆ คิดยังไงเรื่องนี้บ้าง?”
ถ้าลูกตอบว่ากลุ่มเพื่อนกลัวจะไม่มีเงินซื้อเกมเครื่องใหม่ ก็มีแนวโน้มว่าเขาเองกังวลเช่นกัน จากนั้นพ่อแม่ควรย้ำให้มั่นใจ—หากครอบครัวพอจ่ายได้ก็ให้ความมั่นใจไป หรือถ้าเงินตึงก็คุยกันเรื่องงบประมาณอย่างเปิดใจ
🫂 สารสำคัญที่ควรส่งถึงลูกคือ “พ่อแม่อยู่ตรงนี้เพื่อหนู ไม่ว่าจะมีอะไรไม่แน่นอนหรือดูน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม”
ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ควรยอมรับอารมณ์ตัวเองที่เกิดขึ้นด้วย—ความเครียดทางการเงินไม่ใช่ความล้มเหลวส่วนบุคคล แต่คือภาวะที่คนทั้งโลกเผชิญอยู่ การแบ่งปันความรู้สึกกับคู่ชีวิต เพื่อนสนิท หรือนักบำบัด ช่วยให้เรากลับมาเป็นหลักให้ลูกได้อย่างมั่นคง
💬 [ เรื่องเงินคือสิ่งที่ต้องคุยและทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ครั้งเดียว ]
หากเศรษฐกิจเป็นมหาสมุทร กราฟหุ้น เงินเฟ้อ และข่าวเลย์ออฟก็คือคลื่นลมที่แปรปรวนตลอดเวลา
⛵ วันหนึ่งลูกจะต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก ออกเรือไปในมหาสมุทรนั้น
สิ่งดีที่สุดที่พ่อแม่มอบได้จึงไม่ใช่เสบียงเงินทองก้อนโต แต่คือ ทักษะอ่านลม จับเข็มทิศ และซ่อมเรือเมื่อพายุถาโถมเข้ามา
เริ่มจากวันนี้—เปิดใจคุยเรื่องเงินด้วยภาษาที่ลูกเข้าใจ ชวนหาคำตอบด้วยกัน ซื่อสัตย์ เปลี่ยนมาตรการรัดเข็มขัดเป็นเกมร่วมมือ และสื่อสารซ้ำ ๆ ว่า “ครอบครัวนี้คือทีมเดียวกัน”
เพราะแม้ลูกจะยังไม่เข้าใจสูตรเงินเฟ้อหรือความซับซ้อนของภาษี แต่พวกเขารู้สึกได้เสมอว่า บ้านหลังนี้ปลอดภัยพอให้ถามคำถามใด ๆ—รวมถึงคำถามเรื่องเงิน
นั่นแหละคือหลักประกันชีวิต ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนเพียงใด ก็ไม่มีใครพรากไปจากพวกเขาได้ 🏡
#aomMONEY #MakeRichGeneration #คุยกับลูกเรื่องการเงิน #เศรษฐกิจผันผวน
โฆษณา