3 พ.ค. เวลา 15:30 • ไลฟ์สไตล์

ในวันที่ฟ้ายังใส ให้เตรียมร่มไว้เผื่อวันฝนตก

5 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่ควรทำก่อนเกิดวิกฤตในโลกที่เศรษฐกิจแสนเปราะบาง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราอยู่ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรง
ลากมาตั้งแต่โควิด-19 วิกฤตพลังงาน สงครามการค้า ไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งไม่หยุด หลายคนอาจเริ่มถามตัวเองว่า “เราควรทำยังไง ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง?”
คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญคือ — อย่ารอให้เกิดวิกฤตแล้วค่อยขยับ แต่จงวางแผนล่วงหน้า
เศรษฐกิจในระบบทุนนิยมมีวงจรขึ้นลงเป็นเรื่องปกติ เว็บไซต์ CNET รายงานว่านับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสหรัฐฯ มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกๆ 5-7 ปี โดยเฉลี่ยใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 11 เดือน
เพราะฉะนั้นหมายความว่า วิกฤตครั้งต่อไป... ไม่ใช่คำถามว่า “จะเกิดหรือไม่” แต่คือ “เมื่อไหร่จะเกิด” ต่างหาก
ดังนั้น การวางแผนทางการเงินในวันที่ฟ้าใส คือการเตรียมร่มไว้ก่อนฝนตก และนี่คือ 5 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ที่คุณควรเริ่มทำทันที ไม่ว่าจะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ตาม
🌤️ [ 1. วางแผนก่อนเกิดพายุ: อย่ารอให้ “เศรษฐกิจแย่แล้วค่อยคิด” ]
หลายคนมักรอจนมีประกาศว่า “ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว” จึงเริ่มปรับตัว ซึ่งพอถึงตรงนั้นบางทีก็สายเกินไปแล้ว
มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ผู้เขียนหนังสือ ‘The Psychology of Money’ อันโด่งดังเคยพูดไว้ในรายการ ‘Diary of a CEO’ ว่า
“ถ้าคุณกังวลว่าจะถูกปลดออกจากงาน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่กลัวจะเจ๊ง ความจำเป็นของการป้องกันความเสี่ยง ส่วนเผื่อความปลอดภัย เงินเก็บ หรือแผนสำรองต่างๆ เมื่อเดือนที่แล้วเรื่องพวกนี้ก็สำคัญเช่นกัน เพียงแต่คุณมาเห็นความสำคัญของมันตอนนี้ และผมอยากท้าทายให้คุณจำเรื่องนี้ไว้ เมื่อทุกอย่างมันผ่านไปแล้ว ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม”
เฮาเซิลบอกว่าตัวเขาเองเก็บ ‘เงินสด’ ไว้เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงสำหรับสินทรัพย์ที่ถืออยู่ นักวางแผนการเงินเวลาคุยกับเขาก็จะถามว่าทำไมถึงทำแบบนั้น? เพราะหลายคนเชื่อว่ามันคือการเสียโอกาสในการลงทุน เงินแค่อยู่ในบัญชีเฉยๆ
“ผมไม่รู้เหมือนกัน ผมแค่ออมเงินไว้สำหรับโลกที่ผมรู้ว่ามันเปราะบางแค่ไหน และผมก็รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหรือเศรษฐกิจบ้าง แต่ถ้าคุณเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คุณจะเห็นเสมอว่าอะไรก็ตามในโลกนี้มีโอกาสที่จะพังเสมอ คำแนะนำของผมคือถ้าคุณเพิ่งตระหนักถึงความจริงเรื่องนี้ว่าโลกมันเปราะบางแค่ไหน หรือความปลอดภัยในหน้าที่การงานอาจจะไม่ได้แข็งแรงอย่างที่คุณคิด ให้จำไว้เสมอว่าส่วนเผื่อความผิดพลาดและแผนสำรองสำคัญมากขนาดไหน”
เพราะฉะนั้น เราควรเปลี่ยนจาก mindset แบบ “แตกตื่น” ไปสู่ mindset แบบ “เตรียมพร้อม”
ลองถามตัวเองว่า…
* ถ้าพรุ่งนี้ตกงาน คุณจะอยู่ได้อีกกี่เดือน?
* ถ้าเงินเดือนลด 20% คุณจะรับมือยังไง?
คำถามแบบนี้ช่วยให้คุณวางแผนล่วงหน้า เช่น
* ตั้งเป้าเพิ่มเงินกองทุนฉุกเฉิน
* ลดภาระหนี้
* ปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
เมื่อกลัว เรามักตัดสินใจผิด เพราะความกลัวบีบให้เรามองแค่ระยะสั้น ดังนั้นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า คือการปกป้องตัวเองจากความกลัวในอนาคตได้ดีที่สุด
💰 [ 2. เงินฉุกเฉินต้องพร้อม — และต้อง “หยิบใช้ได้ทันที” ]
คุณไม่ควรต้องกดบัตรเครดิต หรือถอนเงินเกษียณออกมาใช้ เมื่อตกงานกะทันหัน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้มีเงินสำรองที่ใช้จ่ายได้อย่างน้อย 3-6 เดือน (หรือถ้าให้ชัวร์หน่อยก็ 6-12 เดือนไปเลย)
วิธีเริ่มต้น:
* คำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือน (ค่าที่พัก, อาหาร, ค่ายา, ค่าไฟ ฯลฯ)
* หักรายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น การท่องเที่ยวหรือซื้อของใหญ่
* โอนเงินเหล่านี้เข้าบัญชีแยก เช่น **บัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง (High-Yield Savings Account)** หรือบัญชีตลาดเงิน
Shang Saavedra ผู้ก่อตั้ง Save My Cents แนะนำว่า “เงินฉุกเฉินควรอยู่ในที่ที่เข้าถึงง่าย และไม่เสี่ยงสูญเสีย” — ไม่ใช่ไปลงทุนในหุ้นหรือคริปโต
💼 [ 3. วางแผน “ถ้าไม่มีงาน” ตอนที่ “ยังมีงาน” ]
ข้อมูลล่าสุดในอเมริกาพบว่า การหางานใหม่หลังถูกเลย์ออฟ อาจใช้เวลานานถึง 8 เดือน และต้องสมัครเฉลี่ยถึง 294 ตำแหน่งกว่าจะได้งาน (ซึ่งของไทยอาจจะต่างออกไป แต่ความเลวร้ายคงไม่ต่างกันมากในตลาดแบบนี้)
ถ้าตอนนี้ยังมีงานทำอยู่ — ถือเป็นโอกาสทอง
* อัปเดตเรซูเม่เอาไว้
* ขยายเครือข่ายคนรู้จัก (ไม่ว่าจะ Facebook, LinkedIn ฯลฯ)
* ใช้เวลา 30 นาทีต่อสัปดาห์เรียนรู้ทักษะใหม่ เช่น การใช้ AI, การวิเคราะห์ข้อมูล, การสื่อสารเชิงกลยุทธ์
ต่อให้คุณยังไม่ตกงาน การสร้างทักษะใหม่ทุกเดือนคือการเตรียมทางออกไว้ก่อนจะต้องใช้จริง ลองดูว่างานใหม่ๆ ที่เปิดรับสมัครต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ถ้ายังไม่มีให้เรียนรู้ ศึกษา และทดลอง
หากงานที่ทำอยู่เริ่มมีความเสี่ยง (หรือเรามองว่าอาจจะไม่มีโอกาสโตได้แล้ว) การสมัครงานเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
📊 [ 4. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน — อย่าตื่นตกใจจนขายทุกอย่าง ]
เวลาหุ้นตกหนัก คนจำนวนมากตัดสินใจ “ขายหนีตาย” ซึ่งมักทำให้พลาดโอกาสสำคัญ — เพราะตลาดหุ้นมักฟื้นกลับมาได้เสมอ
Saavedra แนะนำว่า หากคุณยังไม่เกษียณใน 5 ปีนี้ **“อย่าเพิ่งเปลี่ยนพอร์ตอย่างสุดโต่ง”** ให้คงการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA - Dollar-Cost Averaging) และเน้นกระจายความเสี่ยง เช่น หุ้น, กองทุนรวม, ตราสารหนี้, ทองคำ (แต่อย่าลืมหาความรู้ก่อนด้วยนะครับ)
แต่ถ้าใกล้เกษียณ ควรพิจารณาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำลง เช่น
* กองทุนตลาดเงิน
* พันธบัตรรัฐบาล
* เงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงหรือตราสารหนี้ระยะสั้น
การรักษาวินัยในการลงทุน คือหนึ่งในสิ่งที่แยกนักลงทุนที่อยู่รอดจากนักลงทุนที่ตื่นกลัว
💳 [ 5. ลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง — ก่อนที่ดอกเบี้ยจะ “กัดกิน” รายได้ของคุณ ]
หากคุณมีหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงเกิน 10% ต่อปี — นั่นคือภาระที่หนักขึ้นมากในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอน
สิ่งที่ควรทำทันที:
* มีเงินฉุกเฉินขั้นต่ำ 1 เดือน
* จากนั้นเริ่ม “ล้มโดมิโน” โดยจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน
* พิจารณาการรีไฟแนนซ์
* รวมหนี้เป็นก้อนเดียว
* เจรจาหนี้กับเจ้าหนี้
เป้าหมายคือ “ลดจุดอ่อน” ทางการเงิน ไม่ใช่ต้องปลดหนี้ให้หมด 100% ถ้าคุณสามารถลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายได้ ก็เหมือนเพิ่มรายได้ในอีกทางหนึ่ง
🧠 สุดท้ายอย่าลืมวางแผนด้าน “อารมณ์” ด้วย ไม่ใช่แค่เงิน
เศรษฐกิจที่เปราะบางไม่ได้กระทบแค่เงินในบัญชี — แต่มันยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราด้วย
Berna Anat แนะนำว่า คุณควรมี “ระบบสนับสนุนทางอารมณ์” ไม่ต่างจากเงินฉุกเฉิน
หาจังหวะคุยกับครอบครัวเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นและแผนการรับมือ คุยกับเพื่อนบ้านหรือคนสนิทเวลาเผชิญปัญหาเพื่อร่วมกันหาทางออก และอย่าลืมสำรวจแหล่งความช่วยเหลือในชุมชนหรือจากภาคส่วนอื่นๆ อยู่เสมอ
การมี “คน” ที่ไว้ใจได้เมื่อวิกฤตมา คือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในยามยากลำบาก
อย่าลืมว่าเรือในทะเลสงบก็ยังต้องมีเสื้อชูชีพ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็เหมือนคลื่นลูกใหญ่ในทะเล — เราอาจไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่ทำได้คือเตรียมเรือให้พร้อมรับมือเสมอ
ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ หรือฟรีแลนซ์
คำถามไม่ใช่ว่า “เราจะรอดไหม?”
แต่คือ “เราจะเตรียมพร้อมแค่ไหนก่อนที่มันจะเกิดขึ้น?”
เพราะโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คือโลกที่ควรใช้ “สติ” มากกว่า “ลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ”
#aomMONEY #MakeRichGeneration #เตรียมตัวเผื่อวิกฤต #การเงินส่วนบุคคล
โฆษณา