4 พ.ค. เวลา 09:09 • ข่าวรอบโลก

“ภาษีทรัมป์” จุดไฟวิกฤตอาหารโลก เสี่ยงซ้ำเติมประเทศยากจน

นโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐกำลังสะเทือนความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก จากต้นทุนปุ๋ยที่พุ่งสูงถึงผลผลิตพืชที่ลดลง ไม่เพียงเพิ่มค่าครองชีพในสหรัฐฯ แต่กระทบประเทศยากจน
1
ภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้หลายสิ่งหลายอย่างมีราคาแพงขึ้นสำหรับประชาชนชาวอเมริกัน
ราคาของรถยนต์นำเข้า วัสดุก่อสร้าง และเทคโนโลยีบางประเภทจะเพิ่มขึ้น และต้นทุนของอาหารบนโต๊ะอาหารของชาวอเมริกันก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบัน สหรัฐฯ นำเข้าอาหารประมาณ 16% ของปริมาณที่บริโภคทั้งหมด โดยผลไม้และผักสดส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศที่ขณะนี้กำลังถูกเก็บภาษี เม็กซิโกเป็นตัวอย่างที่เด่นชัด โดยจัดหาผลไม้สดมากกว่าครึ่ง และผักสดเกือบ 70% ที่บริโภคในสหรัฐฯ แม้กระทั่งในกรณีของผลผลิตที่ปลูกในประเทศ
สหรัฐฯ ก็ยังต้องพึ่งพาปุ๋ยนำเข้าสำหรับเพาะปลูก โดยแคนาดาเป็นผู้จัดหาสูงถึง 85% ของปุ๋ยที่ใช้ในสหรัฐฯ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในร้านขายของชำสำหรับครอบครัวชาวอเมริกัน โดยเฉพาะผักผลไม้สด (และอาหารแปรรูปที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้า) จะสูงขึ้น แต่ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารนอกสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ผลกระทบอาจรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนา
ที่พึ่งพาราคาสินค้านำเข้าที่มีเสถียรภาพจากตลาดโลก เพื่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ ราคาของพืชอาหารหลักหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ถูกอ้างอิงจากตลาดสหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ผลกระทบจะสะท้อนไปทั่วโลก
จากงานวิจัยที่น่าสนใจในเว็บไซต์ the conversation รายงานว่า เมื่อราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกเปลี่ยนแปลง ราคาสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น ราคาข้าวโพดในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 7% ระหว่างวันที่ 2 เมษายน (วัน "ปลดปล่อย" ตามคำกล่าวของทรัมป์) ถึงวันที่ 11 เมษายน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพดในประเทศต่าง ๆ เช่น Sub Saharan Africa (กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา) ทันทีในอัตราใกล้เคียงกัน
พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจนที่สุดในโลกหลายล้านคน โดยหลายร้อยล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของธนาคารโลกที่ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เมื่อรายได้ส่วนใหญ่ต้องใช้ไปกับการซื้ออาหาร การเพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพด 7% อาจส่งผลร้ายแรงอย่างยิ่ง
ตลาดที่กำลังเติบโต
จากการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่า การเก็บภาษีสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ย จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลให้ผลผลิตพืชลดลง และทำให้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารรุนแรงขึ้น
แม้ว่าสหรัฐฯ จะลดภาษีนำเข้าปุ๋ยโพแทชจากแคนาดาจาก 25% เหลือ 10% แต่ผู้ผลิตปุ๋ยจากประเทศอื่น ๆ ยังคงต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่า (เช่น 28% สำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่อีกรายอย่างตูนิเซีย ก่อนที่ทรัมป์จะชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ไว้ชั่วคราว)
ประเด็นนี้น่ากังวลเป็นพิเศษสำหรับการเกษตรในประเทศอย่างบราซิล อินเดีย และไนจีเรีย ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนปุ๋ย จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เช่นเดียวกับ "ต้นทุนด้านอาหาร" ภาษีของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะผลักดันราคาปุ๋ยในตลาดโลกให้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทุกคนในทุกพื้นที่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรก็อาจลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตอาหารในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและตลาดที่ผันผวนอยู่แล้ว
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังพบว่า ประเทศอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและโซมาเลีย ซึ่งเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ก่อนแล้ว เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความผันผวนของราคาสินค้าอาหารในประเทศมากที่สุด เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้พึ่งพาการนำเข้าอาหารอย่างหนัก และต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนการขนส่งสูง
หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น เกษตรกรในภูมิภาคเหล่านี้อาจจำเป็นต้องละทิ้งการปลูกพืชอาหารหลัก แล้วหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น โกโก้หรือกาแฟ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มการพึ่งพาตลาดโลกที่ผันผวน และลดความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกจะยิ่งเลวร้ายลงหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ระบบอาหารโลกมีความเชื่อมโยงกัน การตัดสินใจของสหรัฐ สามารถส่งผลต่อราคาอาหารในลากอส ไคโร และนิวเดลีได้อย่างรวดเร็ว
โฆษณา