เมื่อวาน เวลา 13:06 • ประวัติศาสตร์

ชีวิตจริงจากนักรบไทยในลาว

สวัสดีครับทุกท่าน ในค่ำคืนวันอาทิตย์อันเป็นวันฉัตรมงคลนี้ผู้เขียนมีเรื่องเล่าจากปากท่านนายพลท่านหนึ่ง ท่านจะมากล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยนั้นว่าเป็นเช่นไร บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราอาจยังไม่ทราบ วันนี้จึงขอนำสิ่งที่ท่านเล่ามานำเสนอสู่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอเชิญรับชมครับ
จากคำบอกเล่าของพลตรีเจริญ เตชะวณิช ท่านเล่าว่าสงครามลาว หรือที่เรียกว่า "สงครามลับ" เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา
ผลเกิดจากความขัดแย้งระหว่างลัทธิประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา กับลัทธิคอมมิวนิสต์นำโดยจีนและรัสเซีย โดยเอเชียใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายมุ่งหมายจะขยายอิทธิพล เวียดนามเหนือมีแผนที่จะรุกคืบผ่านลาวและกัมพูชาเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย และขยายอิทธิพลไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ทหารไทยในช่วงสงครามลับ
ประเทศไทยในสมัยนั้นอยู่ในช่วงของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้เห็นถึงภัยคุกคามจากการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ที่อาจนำไปสู่การล้มล้างสถาบันหลักของชาติ
จึงตัดสินใจร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา โดย CIA เข้ามาหารือเพื่อหาแนวทางป้องกัน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการ ดับไฟนอกบ้าน หรือ "ยุทธศาสตร์เขตหน้า" คือการส่งกำลังทหารไปต่อสู้กับภัยคุกคามนอกพรมแดนไทย แทนที่จะรอรับมือแค่ชายแดน
โดยมีการจัดตั้ง บก.ผสม 333 ขึ้นที่อุดรธานี โดยมีพลเอก สายหยุด เกิดผล เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่ง บก.ผสม 333 นี้ทำหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการในการปฏิบัติภารกิจลับในลาว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่สามารถขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐสภาเพื่อช่วยลาวฝ่ายขวาได้โดยตรง จึงต้องดำเนินการผ่าน CIA และใช้เครื่องบินของ Air America บังหน้าว่าเป็นสายการพลเรือนในการส่งทหารเข้าสู่พื้นที่การรบ
พลตำรวจเอกวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ "นายเทพ 333"
กำลังพลที่ส่งไปปฏิบัติภารกิจในลาวคือ ทหารอาสาสมัครจากทุกเหล่าทัพ ประกอบด้วย
▶️ทบ. มีหน่วยรบพิเศษ SDU (Special Guerrilla Unit) และต่อมาได้มีการจัดตั้ง กองพันทหารเสือพราน (Ranger battalions)
▶️ทร. มี หน่วยนาวิกโยธิน (นย.)
▶️ทอ. มีนักบินรบจากหน่วยบิน Firefly
▶️ตชด. มีหน่วยพารู (PARU - Police Aerial Reinforcement Unit) หรือตำรวจพลร่ม
รวมไปถึงพลเรือนที่อาสาไปรบ
ภารกิจหลักของทหารอาสาสมัครคือ ฝึกและสนับสนุนทหารม้งและลาวฝ่ายขวา ให้ต่อต้านกองทัพเวียดนาม การปฏิบัติการในช่วงแรกใช้กำลังส่วนน้อย ต่อมาสถานการณ์รุนแรงขึ้น จึงมีการส่งหน่วยสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น กองร้อยปืนใหญ่ และ ทหารราบในช่วงปี 2507-2509
พลตรีเจริญกล่าวถึงบุคคลสำคัญในสงครามครั้งนี้คือพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (ยศในขณะนั้น) หรือที่รู้จักในนาม "นายเทพ 333" มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหน่วยนี้ ท่านถูกมองว่าเป็น "ไอดอล" ของทหารนักรบ เพราะท่านเป็นคนเด็ดขาด คำไหนคำนั้น ท่านเป็นกันเองกับลูกน้อง และ ทำตัวอย่างให้กำลังพลเห็น โดยที่ไหนมีเสียงปืนท่านจะไปที่นั่น และในสงครามลาวท่านก็มีบทบาทด้วย
ยุทธศาสตร์สำคัญของท่านคือ ยุทธศาสตร์เขตหน้า หรือการไปรบนอกบ้าน ภารกิจของท่านคือการยันเวียดกง และฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้ได้เพื่อไม่เข้ามาถึงประเทศไทย
หากเข้ามาได้ประเทศก็จะเป็นคอมมิวนิสต์ไปอีกราย แม้ว่าท่านจะควบคุมบก. 333 ที่สนามบินอุดรธานี แต่ท่านจะบินไปตลอดทุกพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรง เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ยุทธวิธีของนายเทพในลาวประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่
พลตำรวจเอกวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ สมัยหนุ่ม
ก่อนหน้าที่จะไปรบในลาว ทหารไทยต้องทำพินัยกรรมไว้ว่าหากเสียชีวิต จะให้ญาติเป็นจำนวน 100,000 บาท
ในกรณีที่มีทหารเสียชีวิตจริงตามที่เขียนพินัยกรรมไว้ นายเทพมีความโปร่งใสมาก ท่าน ตั้งกรรมการไปตามหาพ่อแม่ (หรือญาติ) เพื่อให้แน่ใจว่า เงิน 100,000 บาท จะถึงมือพ่อแม่ (หรือญาติ)
ท่านมั่นใจว่าสิทธิของกำลังพล จะไม่มีให้รั่วไหลท่านจึงต้องทำอย่างเต็มที่
เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวของกำลังพลทุกนาย
โดยสรุป การดูแลทหารที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ จะมีการส่งกลับสายแพทย์ไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ (อุบลฯ) หรือกรุงเทพฯ สำหรับผู้ป่วย/บาดเจ็บ ส่วนผู้เสียชีวิตจะทำพิธีที่อุบลฯ
และที่สำคัญคือ การดูแลด้านสิทธิประโยชน์ทางการเงิน โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท แก่ญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งนายเทพให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและการทำให้เงินถึงมือผู้รับอย่างแท้จริง
เมื่อพบว่ากำลังสนับสนุนไม่เพียงพอและเวียดนามยังคงรุกคืบอย่างหนัก โดยเฉพาะจากเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง คือ เชียงร่มเข้าสู่เชียงรายและน่าน วังเปา เข้าสู่หนองคายและอุดร เส้นทางต่อมา อัตตะปือ ห้วยทราย ปากซอง ปากเซ เข้าสู่อุบลราชธานี จึงมีการปรับแผนในปี 2511 ให้ใช้ กองพันทหารเสือพราน เป็นกำลังหลักในการยันการบุกใน 3 พื้นที่ดังกล่าว มีการวางแผนจัดตั้งหลายสิบกองพัน
พลตรีเจริญ เตชะวณิช
ปลายปี 2513 กองพันทหารเสือพรานชุดแรก (BC 601, 602) ถูกส่งไปทดสอบที่ห้วยทรายเป็นช่วงเเดียวกับที่พลตรีเจริญมียศร้อยตรี แม้จะถูกล้อม กองพันเหล่านี้ก็สามารถต้านทานการโจมตีของเวียดนามเหนือได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะมีผู้พันท่านหนึ่ง วางแผนการยิง ประสานได้ดี ดังนั้นเวียดนามก็ไม่สามารถต่อกรฝ่ายไทยได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐฯเป็นอย่างมาก
ปลายปี 2514 เราก็ถูกตีโต้จนต้องถอยร่นมา แล้วก็เริ่มเข้าไปตีฝ่ายตรงข้ามใหม่ปี 2515 ในขณะนั้นนายพลวัง เปา บอกให้ฝ่าย เราต้องอ้อมหลังลงเมืองห้วยทราย เข้า ตีตลบหลังข้าศึก ในขณะนั้นทหารฝ่ายเราไปทำ LZ (Landing Zone) เพื่อเปิดทางให้ทหารพลร่มจัดการฝ่ายตรงข้ามง่ายขึ้นและทำการถางป่าเพื่อให้ฮ. (เฮลิคอปเตอร์) ลงจอดสะดวก
อาร์มสมาคมนักรบนิรนาม 333
ที่เมืองปากซอง ประเทศลาว ปลายปี 2515 หลังจากยึดที่นี่ได้ไม่นาน ฝ่ายเราก็หาบก. (กองบัญชาการ) เพราะเรายังไม่มีบก.ที่จะอยู่ได้อย่างถาวร จึงเลือกใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง
ขณะที่ผู้บังคับบัญชาและนายทหารหลายนาย กำลังประชุมกันใต้ต้นไม้ ข้าศึกได้ยิงจรวดเข้ามาทำให้หลายคนบาดเจ็บและเสียชีวิต หนึ่งในนั้นก็มีนายทหารยศพันโทท่านหนึ่งเสียชีวิตที่นี่ ร้อยตรีเจริญในตอนนั้นก็ได้รับบาดเจ็บ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความอันตรายและความสูญเสียที่เกิดขึ้น
นับตั้งแต่วันนั้นก็มีการสูญเสียครั้งใหญ่ของทหารไทยเช่นที่ล่องแจ้ง ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน เมื่อเรายึด เนินต่าง ๆ ได้ตามแนวสกายไลน์ เราก็ถูกตีโต้กลับโดยฝ่ายตรงข้าม ที่ปากเซโชคดีหน่อยเพราะรอบนี้ทหารเราถอน ตัวตอนกลางคืนต่างจากที่ผ่านมาเราเคยถอนตัวกลางวัน
ในขณะที่จุดที่ทหารไทยถอนตัวบางจุด ฝ่ายข้าศึกไล่ติดตามผ่านป่าทึบบ้าง ข้ามเขาบ้าง ข้ามห้วยบ้าง ก็หนีไม่พ้นการสูญเสียในระหว่างการถอนตัว ต่อให้ฝ่ายเรายิงปะทะด้วยปืนกลหรือถอดสลักระเบิดขว้างใส่ร่างกายข้าศึกให้ขาดเป็นชิ้นๆมากน้อยเพียงใดสุดท้ายเราก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับโดยสิ้นเชิงในสมรภูมินี้
อย่าว่าแตฝ่ายไทยเลยครับขนาดทหารฝรั่งที่ร่วมรบก็มีโดนกระสุนปืนใหญ่และปืนกลจนสิ้นชีวิตไม่ได้กลับไปหาลูกเมียก็ยังมี บางส่วนก็มีสูญหายในหน้าที่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครพบร่างในดินแดนสมรภูมิ ในขณะที่ฝ่ายเรากำลังเจอกับหน้าสิ่วหน้าขวาน ฝ่ายข้าศึกรู้ดีว่าทหารเราเสียเปรียบจึงขยายอิทธิพลออกไปทั่วดินแดนลาว
ไม่มีทางใดที่จะหยุดความยิ่งใหญ่ของคอมมิวนิสต์
ไม่มีทางใดที่ลาวจะกลับคืนสู่สันติ
ไม่มีทางใดที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เปรียบ
นักบิน T-28 ช่วงสงครามลับ
ถ้าจะเรียกว่าสงครามนี้ส่งคนไปตายก็ไม่ถูกเพราะที่นี่สร้างวีรบุรุษไว้มากมาย ไม่มีโอกาสเลยที่ทหารทุกนายจะหลุดพ้นจากสู้รบอันดุเดือดในป่าเขาแห่งนี้
ที่กล่าวมานี้ใช่ว่าทหารคอมมิวนิสต์จะแข็งแกร่งเสมอไป
จริงที่ว่าฝ่ายเขาเก่งกว่าเราที่อาวุธบนพื้นดิน แต่ฝ่ายเรา เหนือกว่าทางอากาศ เพราะมี FAC หรือ Forward Air Controller เป็นผู้นำการโจมตีทางอากาศ ทำหน้าที่ประสานงานการสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด
ส่วนมากที่บินมาช่วยจะเป็นเครื่องบิน F-4 ของอเมริกา หรือเครื่องบิน T-28 ของลาว (จะมีกล่าวถึงในบทความต่อไป) เข้ามาช่วยโจมตีสนับสนุนทางอากาศแก่ทหารฝ่ายลัทธิประชาธิปไตยในพื้นที่การรบ
ทหารอเมริกา ทหารไทยและทหารลาวขวา ในสงครามลับ
ไม่เพียงแต่เครื่องบินทั้ง 2 แบบที่กล่าวมาข้างต้นยังมี A-1 Skyraider เข้าร่วมรบด้วยทั้งการสนับสนุนทหารราบและการบินโจมตีภาคพื้นดินต่อฝ่ายตรงข้ามในสงครามครั้งนี้ เครื่องบินแบบดังกล่าวนี้มีประจำการที่ฐานทัพอากาศนครพนมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย Skyraider
ไม่เพียงแค่ใช้อาวุธเท่านั้น ด้วยความที่มันบินช้ามันยังเหมาะสำหรับการบินลาดตระเวนทางอากาศเพื่อช่วยเหลือทหารฝ่ายเราในช่วงสงครามลาว โดยนักบิน Skyraider ทุกคนได้รับชื่อ “แซนดี้” เมื่อทำภารกิจบินค้นหาและช่วยชีวิตร่วมกับเฮลิคอปเตอร์แบบ  HH-3E “Jolly Green Giant”
เครื่องบินโจมตี A-1 Skyraider
หลังจากกลับมาจากสงครามทหารที่ได้รับบาดเจ็บจะถูก ส่งตัวมาที่โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี หากอาการเกินขีดความสามารถของแพทย์ที่อุบลราชธานี ก็จะ ส่งตัวต่อไปยังกรุงเทพฯ ส่วนทหารที่เสียชีวิต ทหารที่เสียชีวิตในสนามรบจะถูกนำไปเผาที่วัดหน้าค่ายในจังหวัดอุบลราชธานี
สงครามนี้ยังมีวีรบุษอีกหลายท่านที่จากบ้านจากเมืองมาเพื่อทำหน้าปกป้องประเทศไทยให้รอดพ้นจากอิทธิพลคอมมิวนิสต์ หากวันนี้มีคอมมิวนิสต์ทุกท่านเชื่อไหมครับว่าวันนี้เราจะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคารพยกย่อง การทำหน้าที่ของทหารไทยในครั้งนี้ถือว่าสมเกียรติอย่างยิ่งแม้จะต้องย่อยยับในสงครามลาวก็ตาม สุดท้ายผู้เขียนขอไว้อาลัยแด่นายทหารผู้วายชนม์ทุกท่าน มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
Credit บทความและภาพประกอบ
พลตรีศนิโรจน์ ธรรมยศ
thebookbun
Flickr
โฆษณา