5 พ.ค. เวลา 02:31 • ธุรกิจ

นักเศรษฐศาสตร์จี้คลังขายหุ้นปลดแอก “การบินไทย” บริหารจัดการแบบเอกชน 100 %

ภาครัฐไม่ควรแทรกแซงธุรกิจการบิน เพราะไม่ใช่กิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ แนะกระทรวงการคลังควรทยอยขายหุ้นทิ้ง เพื่อเปิดทางให้การบินไทย มีการบริหารจัดการแบบเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพ สูงกว่าการที่ภาครัฐเข้ามาแทรกแซง และให้สายการบินแข่งขันได้ เหมือนสายการบินชั้นนำของโลก มุมมอง รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แม้การบินไทยจะแปรเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจกลายเป็นบริษัทเอกชนแล้ว และล่าสุดได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่หลังการแต่งตั้งบอร์ดใหม่ 11 คน พบว่าเป็นตัวแทนจากภาครัฐถึง 7 คน ทำให้เกิดข้อกังวลถึงอนาคตการบินไทยในมือบอร์ดแบบรัฐวิสาหกิจ ที่มองว่าอาจจะถูกแทรกแซงทางการเมืองเหมือนในอดีต
จี้คลังขายหุ้นปลดแอกการบินไทย
ต่อเรื่องนี้ รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากอุตสาหกรรมใดไม่ได้มีคุณสมบัติเรื่องการผูกขาด โดยธรรมชาติ ก็ไม่สมควรให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซง เพราะจะเกิดความเสียหายหลายด้าน ซึ่งธุรกิจการบินไม่ได้จัดอยู่ในประเภทที่ต้องให้รัฐเข้ามาบริหารจัดการ หรือมีความจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องเข้ามาถือหุ้น
ประกอบกับปัจจุบันสถานะการเงินของการบินไทยดีขึ้นแล้ว กระทรวงการคลังจึงไม่ควรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกต่อไป ควรขายหุ้นออกไปให้เอกชนเป็นเจ้าของ 100% เช่นเดียวกับสายการบินของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ สูงกว่าการที่ภาครัฐเข้ามาแทรกแซง และประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
วันนี้แม้การบินไทยจะไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่กระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ มีอำนาจในการบริหารจัดการ และการแต่งตั้งบอร์ดการบินไทย ทั้ง 11 คน ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคนจากภาครัฐ ขณะที่นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร กรรมการ ตัวแทนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ก็หลุดออกไป
ทั้งยังมีกระแสจากข่าวว่า นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง อาจจะได้นั่งเป็นบอร์ดการบินไทย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล และในอดีตที่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ทำให้การบินไทยที่เคยเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ เกิดหายนะ มีหนี้ท่วมเกือบเจ๊งมาแล้ว จากการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารงาน
ดังนั้นถ้ากระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทยออกไป จะทำให้การบริหารงานเป็นเอกชน และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการที่รัฐฯเข้ามาแทรกแซง
1
ยกเคสลุฟต์ฮันซ่า จากรัฐสู่เอกชน
ยกตัวอย่าง สายการบินลุฟต์ฮันซ่า สายการบินแห่งชาติเยอรมนี ซึ่งปัจจุบันเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมันและใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรป ว่าในอดีตเคยเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ได้มีการแปรรูปให้เป็นของเอกชน โดยรัฐไม่มีหุ้นใดๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปี 2563 ที่อุตสาหกรรมการบินได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง รัฐบาลเยอรมันจำเป็นต้องเข้าไปถือหุ้น 20% ในลุฟต์ฮันซ่า เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาความช่วยเหลือทางการเงิน แล้วก็ได้สิทธิ์ในการบริหาร แต่ 2 ปีให้หลังจากนั้น คือ ในปี 2565 เมื่อสถานะทางการเงินของลุฟต์ฮันซ่าฟื้นตัว รัฐบาลก็ขายหุ้นที่มีทั้งหมดออกไป ดังนั้นปัจจุบันลุฟต์ฮันซ่าก็กลับมาบริหารจัดการโดยเอกชนอย่างสมบูรณ์
“เราควรสมควรที่กระทรวงการคลังจะขายหุ้นในการบินไทยออกไป เพื่อให้เอกชนได้ถือหุ้น 100% เหมือนสายการบินลุฟต์ฮันซ่า หรือ สายการบินของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะกระทรวงการคลัง ก็อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งในอดีตคนของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็เคยบริหารจัดการจนทําให้บริษัทการบินไทย ที่เคยเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่คนไทยภาคภูมิใจ เกิดหายนะ มีท่วมเกือบเจ๊งมาแล้ว”
ส่วนประเด็นที่อาจจะมีการโต้แย้งว่า ทำไมบางสายการบิน อย่าง “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส” รัฐบาลก็ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นหนึ่งในสายการบินที่ถูกจัดว่าดีที่สุดในโลก มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องบอกว่า กรณี สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส แม้รัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นประมาณ 56% ผ่านบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้ง แต่ต้องยอมรับการบริหารงานระหว่างประเทศสิงคโปร์ และไทย มีธรรมาภิบาล ที่แตกต่างกัน การที่รัฐถือหุ้นในสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหา เพราะสิงคโปร์เป็น “ประเทศสีขาว”
จากการสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันต่ำที่สุด 1 ใน 5 ของโลกตลอดมา ปีล่าสุดสิงคโปร์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันต่ำ เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ดังนั้นนักการเมือง ผู้บริหารประเทศ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ก็เป็นคนรับผิดชอบชั่วดี มีสำนึก มีความละอาย ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการออกนโยบาย เช่น ซื้อเครื่องบินจํานวนมาก เพื่อได้รับค่าคอมมิชชั่น
ขณะที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 107 จาก 180 ประเทศ 107 ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับประเทศสีเทาเข้ม และปรากฏว่าที่ผ่านมาการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมักไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นสําคัญ เพราะว่าผู้ออกนโยบายสาธารณะมักมีผลประโยชน์ทับซ้อน บทเรียนของการบินไทยในอดีตก็เห็นแล้ว เช่น ซื้อเครื่องบินจำนวนมากเพื่อได้รับค่าคอมมิชชั่น
“นี่เป็นกรณีที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประเทศไทยที่การบริหารราชการแผ่นดินมีการทุจริตคอร์รัปชันในระดับวิกฤต ดังนั้นทางออกที่จะทำให้การบินไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ ให้กระทรวงการคลังขายหุ้นออกไป แล้วให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ และเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการซื้อเครื่องบินเอง เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความคุ้มทุนและความสามารถในการทำกำไร และในระหว่างที่ยังไม่ได้ขายหุ้นก็ไม่ควรติดสินใจใดๆในเรื่องเหล่านี้” รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวทิ้งท้าย
โฆษณา