5 พ.ค. เวลา 07:34 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เปิดแผนกู้วิกฤตกองทุนสังคมล้มละลาย จ่อยืดอายุจาก 30 ปีไปเป็น 55 ปี

การแก้ปัญหากู้วิกฤตของกองทุนประกันสังคมที่คาดว่าเสี่ยงจะล้มละลายในอีก 30 ปีนี้ มีแนวทางอย่างไร และความคืบหน้าในการปฏิรูปประกันสังคม ออกจากระบบราชการ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีคำตอบ
จากการการศึกษาในปี 2563 ซึ่งสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า การดำเนินการของสำนักงานประกันสังคมภายใต้เงื่อนไข หลักเกณฑ์ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้รายรับไม่สมดุลกับรายจ่ายในอนาคต คาดว่าในปี 2597 เงินสำรองกองทุนจะลดลงเป็นศูนย์
ประมาณการสถานะเงินในกองทุนประกันสังคม ตามสถานการณ์ปัจจุบัน
1. เงินสมทบเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายประจำปีทั้งหมดไปจนถึงปี 2578
 
2. ตั้งแต่ปี 2579 เป็นต้นไป ต้องใช้ผลตอบแทนการลงทุนรวมกับเงินสมทบ เพื่อให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายประจำปี ทั้งนี้เงินสำรองยังคงมีกำรเติบโต แต่เป็นไปในอัตราที่ช้าลง
3. นับแต่ปี 2585 เป็นต้นไป รายรับรวม (เงินสมทบ ผลตอบแทนจากการลงทุน และรายได้อื่นๆ) ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำปี และเงินสำรองกองทุนเริ่มลดน้อยลง
4. ในช่วงปี 2597 เงินสำรองกองทุนจะลดลงเป็นศูนย์
5. นับแต่ปี 2597 จะต้องเก็บเงินสมทบ เพื่อให้เพียงพอค่าใช้จ่ายในปีนั้น ตามอัตราเงินสมทบต้นทุน ซึ่งมีอัตรา 20.3 % ในปี 2597
“ปัจจุบันเงินสำรองในกองทุนประกันสังคมยังมีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนทุกคน ซึ่ง ณ เดือนธ.ค.2567 สำนักงานประกันสังคมให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนกว่า 24,812,815 คน แต่ด้วยโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป และค่าบริการทางการแพทย์ ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต”
อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เด็กเกิดใหม่ลดลง การปฏิรูประบบบำนาญอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยองค์ประกอบหลักของการปฏิรูป ได้แก่ การขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญ และการเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เปิด 4 แนวทางแก้ปัญหากู้วิกฤตประกันสังคมล้มละลาย
ดังนั้นข้อเสนอแนะสำคัญที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทางสำนักงานประกันสังคม มองแนวทางไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ
เมื่อพิจารณาถึงอายุขัยในประเทศไทยและแนวทางปฏิบัติของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว พบว่า อายุเกษียณที่ 55 ปี ถือว่าต่ำเป็นพิเศษ จึงมีแนวคิดที่จะขยายออกไปเป็น 65 ปี ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีการหยิบยกขึ้นหารือในการประชุม SSO Sustainable 2024 ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2567 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนบำนาญระดับโลก และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางรองรับสังคมสูงวัย
ทั้งนี้ หลายประเทศได้ปรับอายุเกษียณมากกว่า 60 ปี เช่น สวีเดน ได้ขยายอายุเกษียณเป็น 67 ปี อย่างไรก็ตามการวางแผนและเปลี่ยนผ่านการเพิ่มอายุเกิดสิทธิรับบำนาญควรจัดทำขึ้นเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะยาว
2. ควรกำหนดการเพิ่มอัตราเงินสมทบตั้งแต่ในระยะสั้น
การประเมินค่าคณิตศาสตร์ประกันภัย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงความจำเป็นในการเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบ ซึ่งอาจต้องเก็บเงินสมทบในอัตรา 20.2 % เพื่อให้กองทุนอยู่ได้ตลอดระยะเวลาประมาณการ 75 ปี แต่เป็นที่ทราบดีว่าการเพิ่มขึ้นทันที ในจำนวนที่สูงเช่นนี้นั้นไม่สามารถทำได้จริง รวมทั้งยังกระทบทางด้านเศรษฐกิจต่อนายจ้างและลูกจ้างอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเสนอแนะให้เพิ่มอัตราสมทบเงินบำนาญทีละน้อย และแบ่งเป็นระยะในช่วงเวลาหลายปี
3. การขยายเพดานค่าจ้าง
ควรขยายเพดานค่าจ้างในปัจจุบันทันที และขยายแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากนั้น
4. สำนักงานประกันสังคมควรร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
ในการกำหนดนโยบายสร้างความยั่งยืนให้กองทุนที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขตัวแปรปัจจัย ทั้งนี้ควรมีการกำหนดรายละเอียดของมาตราการเหล่านี้ไว้ในกฎหมาย
ทั้งนี้หากดำเนินการตามแนวทางทั้งหมด จะช่วยยืนอายุกองทุนประกันสังคมไปจากเดิม 30 ปี เป็น 55 ปี (มีการปรับปรุงประมาณการจาก ILO ข้อมูลถึง ธ.ค. 63 โดยใช้ข้อมูลถึง ก.ย. 2567 เงินสำรองกองทุนจะลดลงเป็นศูนย์ในปี 2598)
อัพเดทการปฏิรูปประกันสังคม ออกจากระบบราชการ
ส่วนการปฏิรูปประกันสังคม ออกจากระบบราชการ เป็นเสรีให้มืออาชีพมาบริหาร แก้กฎหมายประกันสังคมที่อยู่มา 35 ปี ให้ทันยุคสมัยนั้น ที่ผ่านมาทางสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการศึกษาและเสนอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระที่มิใช่ส่วนราชการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานและให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด
โดยในปี 2538-2544 มีการศึกษาที่จะทำให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์การมหาชนเพื่อเพิ่มความเป็นอิสระในการบริหารงาน แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องอำนาจ และการบริหารภายใต้กรอบของกฎหมาย พ.ร.บ.องค์การมหาชน
ต่อมาในปี 2547-2550 ได้มีการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างให้เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารกองทุน แต่ยังพบปัญหาจากข้อจำกัดของระบบราชการ จากนั้นในปี 2551-2553 ได้มีการศึกษาและเสนอให้ปรับโครงสร้างเป็นองค์การบริหารพิเศษ (Executive Agency) โดยเสนอตราเป็นพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานประกันสังคมเป็นการเฉพาะ
ล่าสุดได้เสนอแยกกองบริหารการลงทุนเป็นหน่วยงานอิสระ มีการเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนเพื่อการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม พ.ศ. ... โดยมีหลักการเพื่อการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม และนำเงินลงทุนไปลงทุน แทนสำนักงานประกันสังคม โดยกำหนดให้กองทุนมีฐานะเป็น นิติบุคคล และเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ แต่มีการเปลี่ยนรัฐบาล จึงยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ข้อจำกัดและความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง มีใน 4 เรื่องหลัก คือ
1.การบริหารงาน หากระเบียบ หลักเกณฑ์ในการสรรหากรรมการ และระบบการควบคุมภายในไม่รัดกุม การบริหารอาจถูกแทรกแซงทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารองค์กร ไม่เป็นไปตามแผนและส่งผลเสียต่อประโยชน์ของผู้ประกันตน
2.การบริหารการเงิน การบริหารงบประมาณอาจไม่รัดกุม เท่าการจัดการภาครัฐ และอาจขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล 3.การบริหารการลงทุน หากไม่มีการควบคุมที่ดี การลงทุนอาจถูกแทรกแซงและขาดประสิทธิภาพ และ 4.การบริหารบุคลากร องค์กรจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงหากการบริหารบุคลากรไม่มีความรัดกุม เพราะต้องใช้งบประมาณของตนเองในการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการ
ทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา การปฏิบัติก็คงไม่ง่าย แต่การมีแผนอย่างน้อยก็เป็นเข็มทิศที่จะต้องมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดทางออกในการแก้ไข เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
โฆษณา