Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ททท.หนุนมิชลินไกด์ ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4 แสนล้าน
ททท. เผยความร่วมมือกับ มิชลิน ไกด์ หนุนขับเคลื่อนรายได้ท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4 แสนล้านบาท เร่งต่อยอดเมืองสร้างสรรทางอาหาร ด้าน’เชฟไอซ์’ ชี้ร้านอาหารไทยแข่งขันเดือดกับทุนจีน
ททท.เผย มิชลินไกด์ หนุนท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4 แสนล้าน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากความร่วมมือกับมิชลินตลอด 8 ปีที่ผ่านมาได้ช่วยยกระดับวงการอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) อย่างเป็นรูปธรรม จากการเริ่มต้นแนะนำร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2561 ซึ่งมีร้านอาหารในคู่มือ มิชลิน ไกด์ เพียง 98 ร้าน
ปัจจุบันคู่มือเล่มล่าสุดปี 2568 มีจำนวนถึง 462 ร้าน ครอบคลุม 11 พื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค และที่สำคัญในปี 2568 นี้ ร้านศรณ์ โดยเชฟไอซ์ ศุภักษร จงศิริ ได้รับสามดาวมิชลินเป็นร้านแรกในประเทศไทยและเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของโลก นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของวงการอาหารไทย
การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นสิ่งที่ททท.ให้ความสำคัญ เพราะอาหารไทยเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่ได้รับความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย และเป็น Must Taste ซึ่งเป็น 1 ใน 5 MUST DO Experience in Thailand
ททท.จึงให้ความสำคัญจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทั้งในไทยและในต่างประเทศ โดยในแง่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แต่ก็พบว่าเติบโตดีขึ้น เพิ่มจาก 44% ในปี 2566 มาเป็น 53% ในปี 2567
นอกจากนี้อาหารไทย ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาทิ นิตยสารชื่อดัง Time Out ได้จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอาหารที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกปี 2568 รองจากเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาของสหรัฐอเมริกา และยกให้กรุงเทพฯ มีอาหารคุณภาพหลากหลายรูปแบบทั้งอาหารไฟน์ไดนิงที่สร้างประสบการณ์อันน่าจดจำและอาหารสตรีตฟู้ดราคาไม่ถึง 100 บาทที่ให้ประสบการณ์ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน
ร้านอาหารในคู่มือมิชลิน มียอดการทานอาหารของนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น 60%
การร่วมมือกับมิชลิน ทำให้อาหารไทย เป็นที่รับรู้ในระดับโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งททท.ได้เจรจาความร่วมมือกับมิชลิน มา 2 เฟสแรก เฟสแรกเริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2560-2564 เฟส 2 ปี 2565-2569 โดยททท. ลงทุนอยู่ที่ 25 ล้านบาทต่อปี สำหรับให้มิชลินแนะนำร้านอาหารในคู่มือมิชลินไกด์
ทั้งนี้ถือว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทานร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 ร้านค้าในคู่มือมิชลิน มีรายได้จากการเข้ามาทานอาหารของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 479.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60-70 % จากปี 2566
ส่วนความร่วมมือหลังจากปี 2569 ที่จะเป็นเฟสที่ 3 ค่าใช้จ่ายก็คงไม่หนีไปจากนี้ ซึ่งททท.ต้องการผลักดันนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่มีการใช้จ่ายสูง ประสบการณ์ทางอาหาร ก็จะเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
เร่งต่อยอดเมืองสร้างสรรค์ทางอาหาร ของยูเนสโก
รวมถึงททท.ก็จะใช้มิชลินต่อยอดในการขยายพื้นที่เมืองสร้างสรรค์ทางด้านอาหาร ต่อไปในทุกภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยยังขึ้นชื่อเรื่องมรดกวัฒนธรรมด้านอาหารที่หลากหลายและโดดเด่นในหลายจังหวัดนอกเหนือจากกรุงเทพฯ
โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ยังได้ขึ้นทะเบียนให้จังหวัดภูเก็ต (ปี 2558) และจังหวัดเพชรบุรี (ปี 2564) เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) โดยยกย่องวัตถุดิบท้องถิ่นอันล้ำค่าและสูตรอาหารแบบดั้งเดิมของชุมชน ซึ่งทางจังหวัดภูเก็ตสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจากอาหารได้กว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
อีกทั้งการร่วมมือกับมิชลิน ยังมีเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนรายได้การท่องเที่ยวเชิงอาหารในภาพรวมของไทย ซึ่งไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารในภาพรวม เฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 20 % ของรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท และททท.ต้องการทำให้อาหารไทยอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทย เป็นจุดขาย ขยายความเชื่อมเกี่ยวไปต่างชาติ
นอกจากนี้ททท.จะต้องการทำลายแทงร้านอาหารทั่วไทยแล้ว ก็มองไปถึงการแทงวัตถุดิบ ของอาหารที่ถูกนำมาเป็นเมนูมิชลินด้วย เพื่อโปรโมทคุณภาพอาหารและวัตถุดิบต่างๆของไทย ในการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย และการให้บริการจากใจ สร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าผ่านร้านอาหารไทย
เชฟไอซ์ ชี้ร้านอาหารไทยแข่งขันเดือดกับทุนจีน
นายศุภักษร จงศิริ (เชฟไอซ์ จากร้านศรณ์ รางวัลสามดาวมิชลิน) กล่าวว่า การมีมิชลิน ทำให้ผู้ประกอบการ คิดว่าจะมีการเปิดร้านอาหารไทยมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า มีร้านอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีการพัฒนาสูตรมากขึ้น รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบท้องถิ่น ก็จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน และร้านอาหารมิชลินในแต่ละพื้นที่ ก็ช่วยยกระดับได้เป็นเดสติเนชั่นได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ธุรกิจร้านอาหารไทยเผชิญในปัจจุบันคือผู้ประกอบการชาวจีนแข่งขันกับเจ้าของร้านอาหารในท้องถิ่นด้วยการเปิดร้านอาหารของตนเองเพื่อดึงดูดกรุ๊ปทัวร์ชาวจีน ซึ่งชาวต่างชาติจำนวนมากมองว่าประเทศไทยเป็นโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวด้วยการเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มร้านอาหารในปี 2568 การแข่งขันในอุตสาหกรรมจึงเข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีคู่แข่งเปิดร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้น ร้านอาหารที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้
thansettakij.com
ททท.หนุนมิชลินไกด์ ต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4 แสนล้าน
ททท. เผยความร่วมมือกับ มิชลิน ไกด์ หนุนขับเคลื่อนรายได้ท่องเที่ยวเชิงอาหาร 4 แสนล้านบาท เร่งต่อยอดเมืองสร้างสรรทางอาหาร ด้าน’เชฟไอซ์’ ชี้ร้านอาหารไทยแข่งขันเดือดกับทุนจีน
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย