5 พ.ค. เวลา 12:30 • ครอบครัว & เด็ก

เคยทะเลาะกับแฟนเรื่องเงินรึเปล่า?

คำถามเรื่องเงิน 11 ข้อที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรเปิดใจคุยกันก่อนเริ่มชีวิตคู่ อย่ารอบ้านแตกแล้วค่อยคุย
“ของมาส่งอีกแล้วเหรอ?” “ช่วงนี้ซื้ออะไรเยอะแยะ?” “ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตมาแล้วนะ” “ทำไมเดือนนี้ช๊อตอีกแล้ว?” “รถเสียอีกแล้ว เอาเงินที่ไหนมาซ่อม” “ต้องส่งเงินให้ที่บ้านเธออีกเหรอ แค่บ้านเราก็แทบไม่มีจะกินแล้วนะ” ฯลฯ
ประโยคข้างบนคุ้นๆ กันไหมครับ?
เอางี้ถามใหม่ เราเคยทะเลาะกับแฟนเรื่องเงินกันบ้างไหมครับ?
เชื่อว่าหลายคนคงพยักหน้าหงึกๆ อยู่แน่นอน
เรื่องเงินถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตคู่ ใครที่เคยมีแฟนในระดับความสัมพันธ์ที่จริงจังหรือใช้ชีวิตกับคู่รักมาระยะหนึ่งแล้วจะทราบดีเลยว่าการมีปากเสียงเรื่องเงินนั้นเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้
แม้จะรู้ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญ แต่เรากลับพูดถึงมันน้อยมาก พูดกว้างๆ แบบไม่ลงรายละเอียด บางคู่บางคนหลีกเลี่ยงที่จะคุยกับคนรักด้วยซ้ำเพราะแค่เปิดปากนิดเดียวก็ทะเลาะกันแล้ว งั้นเลี่ยงไปเลยดีกว่า (ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก)
แอนนา เซล (Anna Sale) ผู้จัดรายการพอดแคสต์ด้านการเงินและชีวิต “Death, Sex & Money” และผู้เขียนหนังสือ “Let's Talk About Hard Things” บอกไว้ในบทความบนเว็บไซต์ “The New York Times” ว่า
“ข่าวดีก็คือว่าการคุยเรื่องเงินแบบเปิดเผยนั้นทำให้เราคุยเรื่องเงินได้ดีขึ้น คุณจะเข้าใจพื้นฐานความเชื่อของกันและกัน และจะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นการลงมือทำได้ยังไง มุมมองที่แบ่งปันกันของคู่รักจะมีด้านใหม่ๆ เกิดขึ้น และเมื่อเราคุยกันได้อย่างสบายใจมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องเงินและอุปสรรคต่างๆ คุณก็จะพร้อมถามและมอบการช่วยเหลือให้คนที่คุณรักในชีวิตด้วย”
เรื่องเงินไม่ควรรอให้ทะเลาะกันบ้านแตกแล้วค่อยคุย ถึงตรงนั้นอาจจะสายไปแล้วก็ได้
แล้วถ้าเราไม่ได้รู้ว่าจะเริ่มคุยยังไง ถามคำถามแบบไหนดี อาจจะลองใช้ลิสต์คำถามจากตรงนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่รักที่อยู่กันมาแล้วสักพัก คนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตคู่ หรือแม้แต่คู่ที่กำลังตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเดียวกันเป็นครั้งแรก ก็ใช้ได้เช่นกัน
✅ “เราอยากให้ชีวิตคู่ของเราออกมาเป็นยังไง?”
ก่อนจะเข้าเรื่องเงิน สเตฟานี เซเปดา (Stephanie Zepeda) นักบำบัดทางการเงินแนะนำว่าคู่รักควร ‘จินตนาการ’ ถึงอนาคตของพวกเขาด้วยกันก่อน
หาช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันสักพักหนึ่ง ทานมื้อค่ำด้วยกัน นั่งคุยถึงความฝัน ความต้องการ อยากทำอะไร สิ่งที่มีค่าในชีวิต เวลาส่วนตัว หน้าที่การงาน บ้านอยากอยู่แบบไหน มีลูกไหม กิจวัตรประจำวัน ไปดื่มไปกินกับเพื่อนรึเปล่า ประสบการณ์ต่างๆ
ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ได้พูดเรื่องเครียดๆ แต่เริ่มต้นด้วยชีวิตคู่ที่อยากเป็นของทั้งสองคนก่อน (ซึ่งที่จริงถ้าตรงนี้มันต่างกันมากๆ หรือรับไม่ได้ น่าจะเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างแล้ว)
✅ “ถ้าหากถูกหวยรางวัลใหญ่จะทำอะไร?”
ตรงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หวยนะครับ แต่เป็นได้หมดทั้งมรดกตกทอด โบนัสก้อนใหญ่ ฯลฯ
เซเปดาอธิบายว่าคำถามตรงนี้มีประโยชน์มากโดยเฉพาะในกรอบของคู่รักที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มันจะช่วยอธิบายค่านิยมที่เป็นรากฐานของคำถามแบบนามธรรมว่าเงินมีไว้เพื่ออะไร
บางคนอาจจะบอกว่าซื้อความสุขให้ตัวเอง บางคนบอกเอาไว้ลงทุนเพื่ออนาคต หรืออะไรก็ตาม คำถามตรงนี้จะช่วยอธิบายแนวคิดการใช้เงินที่มีในมือได้
เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ เคยกล่าวว่า “เงินไม่ได้เปลี่ยนคน มันแค่เผยธาตุแท้ของคนคนนั้นออกมา ถ้าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว หยิ่งยโส หรือโลภมาก เงินก็ดึงส่วนเหล่านั้นออกมา แค่นั้น”
✅ “ในอีก 10 ปีข้างหน้า ลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ในชีวิตของคุณจะเป็นยังไง?
เป้าหมายในชีวิตของคุณอีก 5 ปี หรือ 10 ปีต่อจากนี้จะเป็นยังไง? ถ้าเพิ่งเริ่มทำงานแล้วยังเป็นหนุ่มเป็นสาวที่ยังไม่มีลูก คำถามตรงนี้อาจจะช่วยทำให้เห็นภาพอนาคตของชีวิตคร่าวๆ อยากมีบ้านด้วยกันไหม อยากเรียนต่อรึเปล่า วันหนึ่งอยากมีลูกกันไหม หรือแม้แต่เรื่องแต่งงานจดทะเบียนสมรส
หรือสำหรับคนที่แต่งงานแล้วอยู่ด้วยกันมาสักพักหนึ่ง คำถามนี้ก็ช่วยทำให้วางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้เช่นกัน ลูกจะเรียนโรงเรียนไหน เงินออมเกษียณต้องมีประมาณเท่าไหร่ พ่อแม่ที่สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ ควรจัดการดูแลยังไง ฯลฯ
✅ “คุณมีเงิน/สินทรัพย์ หรือ หนี้เท่าไหร่?”
เชื่อไหมครับว่าบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคู่รักของตัวเองมีเงิน/สินทรัพย์ หรือ หนี้เท่าไหร่
บางคนไม่เคยพูด บางคู่ไม่เคยถาม ไม่กล้าถาม เพราะมันละเอียดอ่อน
การจะคุยเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง อาจจะแชร์เรื่องครอบครัว การเติบโตมาตั้งแต่เด็ก วิธีการเลี้ยงดูของครอบครัว มุมมองที่มีเกี่ยวกับเรื่องเงิน อาจจะมีเรื่องน่าอายๆ หลุดออกมาบ้างก็คุยกันอย่างเปิดอก อีกเรื่องที่ต้องระวังคือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม คุยกันได้แต่อย่าไปยึดติด
จำเอาไว้ว่านี่คือประเด็นสำคัญ การมีชีวิตคู่กับใครสักคนเราต้องทราบรายละเอียดตรงนี้ ใช้เวลาหน่อยไม่เป็นไร บอกกันตรงๆ มีเท่าไหร่ ขาดตรงไหน หนี้สินภาระมีอะไรบ้าง อย่าปิดบัง เพราะมันมีโอกาสกลายเป็นปัญหาทีหลังได้ เปิดไพ่ทุกอย่างบนโต๊ะแล้วค่อยๆ คุยกัน
✅ “มีประเด็นเรื่องเงินในตอนนี้หรืออนาคตที่ควรรู้รึเปล่า? หรือมีอะไรที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินของฉันรึเปล่า?”
การโกหกก็เรื่องหนึ่ง การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงที่จริงเกิดขึ้นบ่อยกว่าเมื่อเจอคำถามที่ไม่อยากตอบ
เพราะฉะนั้นหลังจากที่รู้แล้วว่าคู่รักของคุณมีเงินเดือนเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หนี้สินตอนนี้จัดการตรงไหนอยู่ หรือมีภาระอะไรอยู่บ้าง ทีนี้อาจจะลองใช้คำถามแบบปลายเปิดไปเลยเพื่อให้มันครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ข้อมูลตรงนี้อาจจะมีอะไรที่คาดไม่ถึงอยู่บ้าง เช่นก่อนหน้านี้เคยล้มละลายมาก่อน ติดหนี้การพนันจนหมดเนื้อหมดตัว หรืออาจเป็นหลานชายของเจ้าคุณปู่ที่กำลังจะได้มรดกก้อนโต
ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม อย่าตัดสินเด็ดขาด แค่รับรู้ข้อมูลตรงนี้เอาไว้
✅ “ถ้าอยู่ด้วยกัน เงินจะแชร์กันด้วยไหม?”
ประเด็นนี้มีคู่รักที่ทำกันหลากหลายวิธี ทั้งแยกกันหมด แชร์กันบ้าง หรือแม้แต่แชร์ทุกอย่างกันหมดเลย
คุยกันครับว่าความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ของคุณคืออะไร อยากแชร์กันรึเปล่า เห็นว่ายังไง มีข้อตกลงร่วมกันเช่นว่าถ้าแยกกัน เวลาซื้อของแพงกว่า xxx บาท ต้องบอกกันนะ หรือถ้ามีค่าใช้จ่ายจะหารกันยังไง ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคนในเวลานั้นไหม?
เปิดบัญชีร่วมแล้วเอาเงินมาใส่กองกลางทุกเดือนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง
ชีวิตคู่และการเงินไม่มีอะไรตายตัว แต่ต้องระบบที่ลงตัวกับทั้งสองคนให้ได้
✅ “คุณชอบจัดการเรื่องเงินในบ้านรึเปล่า? ใครควรเป็นคนดูแลงานบ้านและเอกสารต่างๆ?”
จัดการใบแจ้งหนี้ จดหมาย ภาษี หรือเอกสารทางการเงินเป็นสิ่งที่กินพลังงานมากๆ สำหรับบางคน แต่ในเวลาเดียวกัน บางคนก็ชอบทำ ชอบจัดการลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
งานบ้านเองก็เช่นกัน จะช่วยกันทำ จะหาคนมาช่วยทำ คุยและแบ่งหน้าที่กัน อย่าตอบตกลงทำเพียงเพราะความรักหรือเกรงใจ เพราะงานนี้มันจะติดตัวไปตลอด เพราะฉะนั้นแบ่งหน้าที่กันให้ดีๆ
✅ “ถ้าวันหนึ่งใครสักคนตายขึ้นมาแบบกะทันหันจะทำยังไง?”
คู่รักหลายๆ คู่อาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องพินัยกรรมหรือประกันชีวิตเลยจนกระทั่งอายุเข้าสู่วัยกลางคนหรือเริ่มมีลูก แต่บางทีการเริ่มไว้แต่เนิ่นๆ ก็เป็นเรื่องดี หากจะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว การทำประกันหรือพินัยกรรมเอาไว้ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะในกรณีที่ฝั่งหนึ่งหาเงินได้เยอะกว่ามากๆ หรือมีภาระร่วมกันซื้อสินทรัพย์ใหญ่ๆ อย่างเช่นบ้าน การเตรียมพร้อมเอาไว้จะช่วยลดภาระของคนที่อยู่ข้างหลังได้ไม่น้อยเลย
✅ “ข้อกฎหมายอะไรบ้างที่ควรจะรู้?”
หากตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ก็ตาม การหาความรู้เรื่องข้อกฎหมายเอาไว้ถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย บางคนมีสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างการคบหากัน หากวันหนึ่งต้องแยกทางกันขึ้นมาสินทรัพย์ตรงนี้จะไปอยู่กับใคร หรือแบ่งกันยังไง เช่นเริ่มธุรกิจด้วยกันตอนยังคบหากัน ธุรกิจเติบโตสร้างรายได้มากมาย แต่ตอนนี้แยกกันแล้วต้องหาทางแบ่งกันให้ลงตัว ควรศึกษาและคุยเรื่องนี้ไว้ด้วย
✅ “เราจะหยุดทะเลาะกันเรื่องเงินในประเด็นเดิมๆ ได้ยังไง?”
การทะเลาะกันเรื่องเงินเป็นเรื่องปกติ แต่การทะเลาะกันเรื่องเดิมๆ อันนี้น่าปวดหัว ต้องหาทางแก้
สมมุติว่าคนหนึ่งชอบซื้อของออนไลน์มาก ของลดราคามาเมื่อไหร่อดใจไม่ได้สักที กดเอฟจนปุ่ม F บนมือถือจะพังอยู่แล้ว แบบนี้อาจจะไม่ดีนัก ลองคุยกันครับว่าจะหาทางแก้ปัญหาตรงนี้ยังไง อาจจะทำบัญชีหรือแบ่งเงินแยกสำหรับ ‘ซื้อของ’ ไปเลยในแต่ละเดือน ซื้อได้เลยเต็มที่แต่ห้ามเกินลิมิตที่ตั้งไว้ แล้วทั้งสองคนก็ช่วยกันดูแล
หรือบางทีถ้าคนหนึ่งมีภาระต้องส่งเงินให้ทางบ้านทุกเดือน อาจจะต้องมีลิมิตว่าควรเป็นเท่าไหร่ อย่าให้เกินจนตัวเองและครอบครัวต้องลำบาก ฯลฯ
✅ “ภาพช่วงวัยเกษียณของคุณหน้าตาเป็นยังไง?”
มันอาจจะดูไกล แต่เมื่อสองฝ่ายมาอยู่ร่วมกัน มันก็มีโอกาสที่ความสัมพันธ์ครั้งนี้จะยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณทั้งสองจะตัดสินใจมีลูก แต่งงาน หรือ ใช้ชีวิตด้วยกันไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเรื่องเกษียณก็จะกลายเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึง
ภาพในจินตนาการของคุณเป็นยังไง ของอีกฝ่ายเป็นยังไง? เราสามารถทำอะไรได้บ้างที่จะไปให้ถึงจุดนั้น จะช่วยกันได้ยังไงเพื่อให้ความฝันเป็นจริงได้
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการใช้เงิน #การเงินกับความรัก
โฆษณา