6 พ.ค. เวลา 05:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คิ๊กออฟเมืองการบินอู่ตะเภา UTA เซ็นสัญญาก่อสร้าง 18 มิ.ย.นี้

คิ๊กออฟโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา UTA เซ็นสัญญาก่อสร้าง วันที่ 18 มิถุนายนนี้ ไม่รอรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน เหลือรอเจรจาสิทธิประโยชน์พื้นที่ปลอดอากรเมืองการบินอู่ตะเภา
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีซีซี เผยว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ภายใต้ลงทุนของบริษัท อู่ตะเภา เอวิเอชัน จำกัด หรือ UTA เตรียมเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2568 นี้
จากนั้นอีอีซี จะออก Notice to Proceed หรือ NTP ซึ่งเป็นเอกสารที่จะออกให้แก่ผู้รับเหมา เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เพราะจะไม่รอรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินแล้ว
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ในโครงการลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภาเพิ่มเติม เช่น ขออนุญาตสรรพสามิต เปิดเป็นพื้นที่ขายเครื่องแอลกอฮอล์ได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่สามารถขายได้ตลอดทั้งวัน ร้านอาหารก็ไม่ต้องเสียภาษีแบบดิวตี้ฟรี ซึ่งในกรอบอีอีซีดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งตอนนี้หารือกันแล้วกว่า 80% ไม่น่าติดปัญหา
ในส่วนของรันเวย์ เส้นที่ 2 มูลค่าการลงทุน 18,690 ล้านบาท ที่กองทัพเรือเปิดประมูลไปแล้ว และจะใช้เงินกู้ไปดำนินการ ซึ่งผู้ชนะประมูล คือ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถ้าทางอิตาเลียนไทยไม่เซ็นสัญญาเริ่มงาน ก็จะโดนยึดเงินประกัน
ขณะที่โครงการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO อู่ตะเภา ยังต้องรอมติ ครม. ที่จะยกเลิกสิทธิในการลงทุนที่เคยให้กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งถ้าครม.มีมติก็จะเปิดเช่าพื้นที่ให้เอกชนลงทุน การบินไทยก็มีสิทธิที่จะเสนอโครงการเข้ามาได้
ดังนั้นในปี 2568 นี้น่าจะได้เห็นการลงทุน 3 โครงการในอู่ตะเภา ได้แก่
  • 1.
    การก่อสร้างรันเวย์ เส้นที่ 2 ของกองทัพเรือ ใช้เวลาสร้าง 4 ปี
  • 2.
    การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และเมืองการบิน ของ UTA ซึ่งได้สัมปทาน ตามกำหนด คือ เดือนมิถุนายน 2568 อีก 2 เดือนเราจะได้เห็นเม็ดเงินลงทุน 2 ส่วนนี้เข้ามา
  • 3.
    การลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)ที่รอมติครม.
โดยการบินไทยกับบางกอกแอร์เวย์ส ก็มีแผนลงทุนจะเข้ามาลงทุน MRO หลักหมื่นล้านบาท และเมื่อรวมการลงทุนของ UTA ใน 4-5 ปีก็จะเป็นหลักแสนล้านบาท ช่วยทำให้พื้นที่สัตหีบ ระยอง ชลบุรี ก็มีเงินอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งให้อัยการตรวจสอบแล้ว โดยอัยการจะใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน จากนั้นก็จะส่งให้เอกชนผู้ชนะประมูล คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด พิจารณา ถ้ายังไม่พอใจก็ต้องแก้ใหม่ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ที่ เอรา วัน จะไม่ยอม
อย่างไรก็ตามถ้าอัยการส่งกลับมาก็เข้าบอร์ดอีอีซี อีกรอบ เพื่อให้อนุมัติสัญญาตามที่แก้ ภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะเข้าบอร์ดอีอีซีได้ คาดว่า เดือนกรกฎาคม 2568 น่าจะไป ครม.ได้เพราะหลุดไทม์ไลน์มาตั้งแต่ปี 2560 และถ้าเอกชนที่ชนะประมูลลงทุน ก็ต้องเป็นการพิจารณาของ ร.ฟ.ท.ที่จะดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 218,701.49 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นส่วนที่เอกชนลงทุน 194,004.14 ล้านบาท บนพื้นที่ 6,500 ไร่ รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ปี 2572 โดยเริ่มสร้าง เฟส 1 ก่อน ประกอบด้วย
Airport Terminal
มีอาคารผู้โดยสารกว่า 157,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 15.9 ล้านคนต่อปี มี 2 ทางวิ่ง ยาว 3,500 ม. รับเครื่องบินได้ทุกขนาด มี 60 หลุมจอด
Air Cargo & Logistics
รับขนส่งและกระจายสินค้ากว่าล้านตันต่อปี
Airport City
ประกอบด้วยศูนย์การค้าระดับโลก, MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub, สนามแข่งฟอร์มูลาวัน และ Entertainment Complex
โดยทั้งหมดมี 4 เฟส เป็นสัมปทาน 50 ปี ของบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ที่ประกอบด้วย Bangkok Airways, BTS และ Sino-Thai คาดแล้วเสร็จปี 2572
โฆษณา