9 พ.ค. เวลา 22:51 • อาหาร

สาเก...อร่อยกว่าที่คิด

สาเก มีชื่อภาษาอังกฤษ คือ Bread fruit เพราะเมื่อเอาผลดิบมาต้ม นึ่ง รสชาติคล้ายมันสำปะหลังหรือนำไปเผาในเตาถ่าน จะมีเนื้อสัมผัส คล้ายขนมปัง(sourdough bread)-แปลมาจากที่เขาบันทึกในบทความภาษาอังกฤษ แต่เมื่อผู้เขียนลองทดลองทำและชิมดู รสชาติคล้ายมันเผา
สาเกเป็นไม้ผลที่บ้านเก่าเคยปลูกไว้ เห็นตั้งแต่เด็กๆ พอมาอยู่ตจว. ก็ตามหาหน่อพันธุ์มาปลูก
ปีนี้ต้นสาเกที่ปลูกไว้ 5 ปีแล้ว เพิ่งออกลูก พอถามใครๆ ก็บอกว่า เอามาเชื่อม หรือทำสาเกแกงบวด...
ค้นวิธีทำสาเกเชื่อมจากในยูทูป
ลองผิดลองถูก จนสามารถพาสาเกเชื่อมออกงานได้
ตามรูปด้านบนนี้ ใช้สาเกเพียง 2 ลูกเท่านั้น แต่รอบนี้มีสต็อคในตู้เย็นอีก 6 ลูก ไม่รู้ว่าจะเชื่อมกินให้หมดได้อย่างไร เลยแบ่งมาต้มให้นิ่ม
พอชิมสาเกต้ม เนื้อสัมผัสเหมือนมันเทศ มันฝรั่ง เลยทดลองทำเป็นสาเกกวน แบบเผือกกวน(มีกะทิ น้ำตาลทราย และเกลือ)
ชิมสาเกกวนแล้ว ถูกใจมาก นึกถึงขนมปังหรือซาละเปาไส้สาเกกวน(เลียนแบบสังขยา) และไอเดียก็เตลิดไปจนถึงไอศครีมสาเก...
มีเมนูสาเกที่มีการบันทึกไว้ ตัวอย่างเช่น
-สาเกทอดกรอบ (คล้ายกล้วยฉาบทอด) โดยเอาสาเกดิบที่เอาแกนกลางออกมาสไลด์เป็นแผ่น ทอดในน้ำมันจนสีเหลืองทอง
-สาเกชุบแป้งทอด วิธีทำแบบเดียวกับกล้วยทอด มันทอด เนื้อสัมผัสของสาเกทอดจะอร่อยมาก ความเหนียวของเนื้อสาเกทำให้มีความหนึบหนับกินเพลิน
-ขนมปัง พาย เค้ก โดยนำผลสาเกดิบหั่นเป็นชิ้นบางๆ อบในอุณหภูมิ 60 องศานาน 3 ชม.แล้วบดร่อนเป็นแป้ง แล้วจึงนำแป้งสาเกมาทำขนมเหมือนใช้แป้งสาลี
-อาหารคาว นำสาเกที่ต้มจนนิ่มใส่ในแกงมัสมั่น (แทนมันฝรั่ง) / ใส่ในแกงเลียงแกงเผ็ด ต่างๆ
เมื่ออ่านบทความเกี่ยวกับสาเกเพิ่มเติม ก็ยิ่งตื่นเต้นที่พบว่า
1. สาเกมี glycemic index ต่ำ หมายถึงว่า การทานสาเกแล้วไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเร็ว เหมือนกินแป้งทั่วไป เพราะโครงสร้างคาร์โบไฮเดรตของสาเกเป็นลักษณะเชิงซ้อน ทำให้การย่อยและดูดซึมเป็นแบบช้าๆ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยเบาหวาน เช่น ทานสแนคสาเก เป็นของว่างได้
2. สาเก ไม่มี gluten ทำให้คนที่แพ้ gluten สามารถทานสาเกได้ ถ้าเอาสาเกมาทำเป็นอาหารพวกเส้น ก็จะเป็นทางเลือกในการปรุงอาหารจากสาเกได้มากขึ้น
3. ผลสุกของสาเก มีเนื้อสัมผัสคล้ายผลอะโวคาโดสุก(ผู้เขียนยังไม่ได้ลิ้มลอง)
4. คุณค่าทางโภชนาการ ผลสาเกดิบ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 103 kcal คาร์โบไฮเดรต 27.12 กรัม น้ำตาล 11 กรัม ไฟเบอร์ 4.9 กรัม ไขมัน 0.23 กรัม โปรตีน 1.07 กรัม น้ำ 70.65
ส่วนวิตะมินเกลือแร่ ซึ่งมีปริมาณวิตะมินซีค่อนข้างสูง (30% DV= ปริมาณที่แนะนำต่อวัน)และโปแตสเซียม (16% DV) มีรายละเอียดตามภาพข้างล่าง
เมื่อเทียบสาเกกับมันสำปะหลังแล้ว จะพบว่า สาเกมีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า(มันสำปะหลัง มี =40 กรัม ซึ่งให้พลังงาน 191 kcal) กล่าวง่ายๆ คือ สาเกทำให้อ้วนน้อยกว่ามันสำปะหลัง
นอกจากนี้ผลสาเกยังมีไฟเบอร์ (4.9 กรัม)มากกว่ามันสำปะหลัง (2กรัม) 2 เท่า
หวังว่า จะมีโอกาสได้ชิมสาเกสแนค ไอศครีมสาเกอร่อยๆ ในอีกไม่ช้า...
โฆษณา