7 พ.ค. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

ZUS Coffee ร้านกาแฟมาเลเซียที่ “ชนะ Starbucks ภายใน 5 ปี” เตรียมเปิดในไทย ปลายปีนี้

หากพูดถึงเชนร้านกาแฟที่ขยายธุรกิจไปสู่ตลาดโลก
Starbucks ก็คือเคสธุรกิจสุดคลาสสิก ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในอุตสาหกรรมกาแฟ
แต่ในหลายประเทศ กลับมีผู้เล่นท้องถิ่นที่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากยักษ์ใหญ่ได้สำเร็จ ด้วยกลยุทธ์ที่เข้าใจผู้บริโภคในประเทศของตัวเองมากกว่า
ดังกรณีของ Luckin Coffee ในจีน Compose Coffee ในเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ Café Amazon ในไทย ก็มีจำนวนสาขามากกว่า Starbucks
เช่นเดียวกับตลาดมาเลเซีย ที่ในตอนนี้มีแบรนด์ท้องถิ่นที่ชื่อว่า “ZUS Coffee” กำลังเป็นคู่แข่งที่ต้องจับตามอง
เรื่องราวของแบรนด์นี้น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ZUS Coffee เป็นเชนร้านกาแฟสัญชาติมาเลเซีย
ก่อตั้งโดยคุณ Ian Chua และคุณ Venon Tian
ด้วยคอนเซปต์ทำให้กาแฟสเปเชียลตี ไม่ใช่ของหรู ที่ดื่มเฉพาะวันพิเศษ แต่เป็นของที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกวัน
พวกเขาเปิดร้านสาขาแรกในรูปแบบคีออสก์ หรือซุ้มร้านค้าเล็ก ๆ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2019
แม้จะเปิดตัวเพียง 4 เดือนก่อนโควิด-19 จะระบาด
แต่ดีที่ว่าผู้ก่อตั้งทั้งสองคน มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจสตาร์ตอัปและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี พวกเขาจึงพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับสั่งกาแฟล่วงหน้า เพื่อมารับที่ร้าน หรือจัดส่งถึงบ้าน ก่อนที่ ZUS Coffee จะเปิดตัวด้วยซ้ำ
ซึ่งในยุคที่การสั่งกาแฟผ่านแอปยังใหม่มากในมาเลเซีย แอปนี้จึงตอบสนองผู้บริโภคในช่วงล็อกดาวน์เป็นอย่างดี และทำให้ ZUS Coffee ปรับตัวได้เร็วกว่าร้านกาแฟอื่น ๆ จนเริ่มทำกำไรได้ตั้งแต่ 10 เดือนแรกที่เปิดตัว
จากนั้น ZUS Coffee ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ขยายสาขากว่า 360 แห่งทั่วมาเลเซีย ภายในสิ้นปี 2023
และขึ้นเป็นเชนร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย แซงหน้า Starbucks ในเดือนกันยายน ปี 2024 หรือภายในไม่ถึง 5 ปีหลังก่อตั้งแบรนด์
ปัจจุบัน ZUS Coffee มีสาขาทั้งหมด 743 แห่งในมาเลเซีย ขณะที่ Starbucks มี 320 แห่งในมาเลเซีย
นอกจากนี้ ความสำเร็จของ ZUS Coffee ยังเห็นได้จากตัวเลขการเงินของบริษัท ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 285 ล้านบาท ในปี 2024
แต่ในทางกลับกัน Berjaya Food ผู้ถือสิทธิ์ Starbucks ในมาเลเซีย ได้เผยผลประกอบการล่าสุดว่าขาดทุนติดต่อกันถึง 5 ไตรมาส แถมร้าน Starbucks ประมาณ 60 แห่งในมาเลเซีย ยังปิดให้บริการชั่วคราวในปีที่ผ่านมา
แล้วทำไม ZUS Coffee ถึงโตแซง Starbucks ได้ ?
สาเหตุหลักอันดับแรก คือ “ผลกระทบจากการบอยคอตต์ Starbucks”
นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสปะทุขึ้น ลูกค้าในประเทศมาเลเซียที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หันหลังให้ Starbucks เนื่องจากความเชื่อมโยงกับอิสราเอล
และหันไปสนับสนุน ZUS Coffee ที่เป็นร้านกาแฟท้องถิ่นแทน จนแบรนด์ได้รับความนิยมขึ้นอย่างมาก
เรื่องต่อมา คือ “ราคา”
กาแฟของ ZUS Coffee ราคาต่ำกว่า Starbucks ประมาณ 20% โดยแบรนด์วางตำแหน่งอยู่ในกลุ่มราคาปานกลาง ระหว่างกาแฟในร้านสะดวกซื้อและร้านกาแฟพรีเมียม จึงเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่า
ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ “เทคโนโลยี”
ZUS Coffee นิยามตนเองว่าเป็น “Tech-Driven Coffee Chain” อันดับ 1 ของมาเลเซีย
โดยมีจุดเด่นชัดเจนในการนำเทคโนโลยีมาเป็นแกนกลางของธุรกิจ เช่น
4
- แอปที่มีระบบสั่งล่วงหน้า, จัดส่ง, โปรแกรมสะสมแต้ม พร้อมฟีเชอร์สะสมแต้ม เมนูแนะนำเฉพาะบุคคล
- ใช้ Big Data และ AI วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า
- ฝึกอบรมพนักงานด้วยระบบเทคโนโลยี
ด้วยการผสมผสานระหว่างคุณภาพ การเข้าถึง และกลยุทธ์ที่เน้นเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้ ZUS Coffee กลายเป็นหนึ่งในเชนร้านกาแฟที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ZUS Coffee มีสาขานอกบ้านเกิดอีก 120 แห่งในฟิลิปปินส์, 4 แห่งในสิงคโปร์ และดำเนินกิจการในบรูไนภายใต้รูปแบบแฟรนไชส์
นอกจากนี้ ยังวางแผนจะเปิดร้านใหม่ 200 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเปิดสาขาแรกในไทยและอินโดนีเซียภายในสิ้นปี 2025 นี้
ซึ่งต้องบอกว่าอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของ ZUS Coffee ก็คือ “การปรับเมนูให้เข้ากับรสนิยมของแต่ละประเทศ”
อย่างเช่น กาแฟ Gula Melaka ในมาเลเซีย ที่ใช้ไซรัปจากน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม
กาแฟรส Ube Latte ในฟิลิปปินส์ ​ที่ใช้มันม่วงที่ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชอบ มาสร้างเมนูที่คนท้องถิ่นอิน
และบทต่อไปของแบรนด์นี้ อาจกำลังเริ่มต้นในประเทศไทย เร็ว ๆ นี้ ก็ต้องรอลุ้นกันว่า ZUS Coffee จะหยิบเมนูไหนมาปรับให้ถูกปากคนไทยบ้าง
ดูแล้วผู้ประกอบการร้านกาแฟในไทย จะต้องทำงานกันหนักขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไปเต็ม ๆ
ก็คงหนีไม่พ้นผู้บริโภค อย่างพวกเรานี่แหละ..
โฆษณา