เมื่อวาน เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สรุป 3 เทคนิค ค้นหาหุ้นเติบโต ในอุตสาหกรรมที่ไม่โต ฉบับ Peter Lynch

เวลาเราพูดถึงหุ้นเติบโต หลายคนอาจนึกถึงบริษัทเจ้าของนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสุดล้ำเปลี่ยนโลก
แต่สำหรับคุณ Peter Lynch นักลงทุนระดับตำนาน
ผู้เขียนหนังสือการลงทุนระดับขึ้นหิ้ง ที่ชื่อ
“One Up On Wall Street”​​
เขากลับไม่ได้มองหาบริษัทในอุตสาหกรรมที่โตเร็ว แต่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เรียบง่าย เป็นบริษัทที่โตได้ แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมธรรมดา ๆ
แล้วคุณ Peter Lynch มีเทคนิคในการค้นหาหุ้นเติบโต ที่ซ่อนตัวอยู่ในอุตสาหกรรมธรรมดา ๆ อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
คุณ Peter Lynch ให้นิยามหุ้นเติบโต (Fast Growers) ว่า มักเป็นบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็กที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ ทำให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตเร็ว แค่เป็นบริษัทที่โตได้แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ธรรมดาก็พอ
 
การเติบโตแบบนั้น คุณ Peter Lynch มักมองหาจาก
1. มองหาบริษัทที่ยึดส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งได้
หนึ่งในวิธีที่ทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ขยายตัวมากนัก คือการแย่งลูกค้ามาจากคู่แข่ง
เพราะเมื่อขนาดตลาดไม่โต โอกาสเติบโตที่เหลืออยู่
ก็คือ การชิงส่วนแบ่งการตลาดมาให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
การเติบโตแบบนี้ ไม่ต้องรอเศรษฐกิจฟื้น ไม่ต้องรอเทรนด์ใหม่ แต่เกิดจากความสามารถของตัวบริษัทเอง ในการทำให้ลูกค้ามาอุดหนุนธุรกิจของเรา แทนธุรกิจของคู่แข่ง
ลองมองมาที่ตลาดหุ้นไทย ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับแนวความคิดนี้ อาจจะเป็น
- อุตสาหกรรมผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ
ในอดีตเคยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ตามจำนวนประชากรที่เริ่มมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง
แต่เมื่อทุกคนในประเทศ มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ก็ค่อย ๆ ลดลง
จนทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ต่างก็ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยการอัดโปรโมชันลดราคา เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนใจมาใช้บริการเครือข่ายของตัวเอง
ในที่สุดก็เกิดการควบรวมบริษัท เหลือผู้เล่นเพียง 2 รายเท่านั้น ทำให้การแข่งขันค่อย ๆ ลดลงในที่สุด
- อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชูกำลัง
ในช่วงที่เครื่องดื่มอย่าง M-150 ของโอสถสภา และกระทิงแดงของกลุ่มธุรกิจ TCP ปรับราคาขึ้นจาก 10 บาทเป็น 12 บาท กลุ่มคาราบาวกลับคงราคาขายสินค้าของตัวเองไว้ที่ 10 บาทเหมือนเดิม
ด้วยความที่ลูกค้าหลักของตลาดนี้ คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่มีกำลังซื้อไม่มาก การขึ้นราคาขายเพียงนิดเดียว ก็ทำให้ลูกค้าเริ่มลังเล และหันมาลองแบรนด์ที่ขายถูกกว่า
ทำให้ช่วงนั้น กลุ่มคาราบาวสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาได้
ก่อนที่สุดท้ายโอสถสภา ต้องกลับมาแก้เกม โดยออกสินค้าราคา 10 บาท ควบคู่กับ 12 บาท เพื่อดึงลูกค้ากลับ และรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง
2. มองหาบริษัทที่ขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นได้
แม้ตลาดเดิมจะโตไม่มาก แต่ถ้าบริษัทสามารถพาสินค้าหรือบริการเดิม ขยายตลาดออกไปหากลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากเช่นกัน
การเติบโตแบบนี้ เป็นการขยายธุรกิจจากความถนัดเดิมของบริษัท ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างของใหม่ แค่ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งราคา ช่องทางจัดจำหน่าย รวมถึงแผนการตลาดก็พอ
ลองมองมาที่ตลาดหุ้นไทย ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับแนวความคิดนี้ อาจจะเป็น
- ERW หรือบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ โรงแรมหรู 5 ดาว บริเวณสี่แยกราชประสงค์
ตัดสินใจขยายธุรกิจมาทำโรงแรมราคาประหยัดภายใต้แบรนด์ Hop Inn จับกลุ่มลูกค้าคนทำงานที่ต้องเดินทาง หรือทำธุระที่ต่างจังหวัด ซึ่งต้องการที่พักสะอาด ปลอดภัย ในราคาที่จับต้องได้
ปัจจุบัน Hop Inn มีสาขาในไทยครอบคลุมกว่า 65 แห่ง และเริ่มขยายไปเปิดที่ประเทศญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
ด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ERW ก็เตรียมนำ Hop Inn เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นอีกด้วย
- KLINIQ หรือบริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) คลินิกเสริมความงาม ที่เดิมเริ่มต้นจับกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ THE KLINIQUE
ต่อมาได้ขยายฐานมายังกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน ที่ต้องการทั้งคุณภาพและความคุ้มค่า ภายใต้แบรนด์ L.A.B.X
ก่อนที่สุดท้ายจะเปิดตัว L’Clinic เพื่อจับกลุ่มลูกค้าในตลาด Mass มากขึ้น
3. มองหาบริษัทที่นำสูตรสำเร็จไปทำซ้ำได้
ถ้าบริษัทมีโมเดลธุรกิจที่ใช้ได้อยู่แล้ว และสามารถนำโมเดลนั้นไปทำซ้ำในพื้นที่ใหม่ ๆ ได้ จะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดโมเดลธุรกิจใหม่อีกครั้ง
และหากพูดถึงธุรกิจที่เติบโตแบบนี้ กรณีศึกษาที่คลาสสิกและชัดเจนที่สุด ก็คือ การขยายสาขา 7-Eleven ของ CPALL หรือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
รู้ไหมว่า ในช่วงแรกของการขยายสาขาร้านสะดวกซื้อของ CPALL ออกไปยังต่างจังหวัด ต้องพบเจออุปสรรคมากมาย เช่น พฤติกรรมลูกค้าในแต่ละพื้นที่ที่ต่างกัน รวมไปถึงคู่แข่งท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับทำเล และพฤติกรรมคนท้องถิ่นที่ดีกว่า
CPALL จึงคิดค้นโมเดลการขยายสาขาที่เรียกว่า Sub-Area License ขึ้นมา
โดยโมเดลนี้จะเป็นการให้สิทธิขาดแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นรายใดรายหนึ่ง ในการเปิดร้าน 7-Eleven ในพื้นที่ที่กำหนดแต่เพียงผู้เดียว
ตัวอย่างของกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ได้รับสิทธิพิเศษแบบนี้ก็เช่น
กลุ่มตันตราภัณฑ์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต ได้รับสิทธิเปิดร้าน 7-Eleven ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ แต่เพียงผู้เดียว คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
กลุ่มยิ่งยง ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายิ่งยง อุบลฯ บริหารพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอำนาจเจริญ
CPALL ใช้โมเดลการขยายสาขาแบบนี้ ซ้ำกับพื้นที่อื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ จนทำให้ CPALL สามารถขยายสาขา 7-Eleven ครอบคลุมทั่วประเทศได้ในที่สุด
- SISB โรงเรียนนานาชาติที่ใช้โมเดลเดิมในการขยายสาขา เมื่อโรงเรียนหนึ่งประสบความสำเร็จ ก็สามารถเปิดเพิ่มในทำเลใหม่ ๆ หรือในจังหวัดอื่นได้
โดยยังคงมาตรฐานหลักสูตร การบริหาร และแนวทางการสอนไว้เหมือนเดิม
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็น่าจะทำให้เข้าใจแนวทางในการหาหุ้นเติบโตของคุณ Peter Lynch ได้ชัดเจนมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ในช่วงที่ตลาดหุ้นบ้านเรายังไม่ไปไหน ราคาหุ้นที่โดนถล่มขายลงมา ก็อาจเป็นจังหวะที่ดี ที่เราจะได้เริ่มทำการบ้าน
มองหาธุรกิจธรรมดา ที่เติบโตได้ในแบบของตัวเอง..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำ ให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#PeterLynch
โฆษณา