เมื่อวาน เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เลิกเตะตัดขากันเอง ยังสู้เวียดนามได้!

การเป็นตลาดหุ้นที่ดัชนีหุ้นร่วงหนักที่สุดในโลก โดยนับเอาเพียงแค่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 3 ปี ที่ดัชนีหุ้นไทยปรับร่วงลงไปกว่า 30% ไม่ใช่เรื่องขำๆ ที่จะเอามาพูดเล่นๆ หรือจะพูดปลอบใจตัวเองในทำนองที่ว่า “ดัชนีหุ้นไทยมีขึ้นก็ต้องมีลง” ได้ต่ออีกอีกแล้ว
1
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนับรวมเอาเรื่องภาษีนำเข้าสินค้า (Tariff) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศว่าจะเก็บจากทุกประเทศในโลก โดยที่การที่ประเทศไทยถูก “หมายหัว” ว่าจะเก็บในอัตรา 36% ถือเป็นปัญหา “คอขวด” ที่จะใช้ชี้วัดว่าตลาดหุ้นไทย “จะได้ไปต่อหรือจะพอแค่นี้” คงเห็นได้ชัดในเวลาไม่นานนับต่อจากนี้แน่นอน
ว่าแต่ปัญหา “คอขวด” ที่ว่า หากใช้ดัชนีหุ้นไทยเป็นตัวชี้วัดในมุมมองของเจ๊เมาธ์มีอะไรบ้าง ???
อย่างแรกเป็น...ปัญหาเรื้อรังของตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่มาจากการที่ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยเด่น ซึ่งสะสมปัจจัยลบเอาไว้จนล้นมาหลายปี ส่งผลให้นักลงทุนหน้าใหม่มองข้ามหรือไม่สนใจ ขณะที่นักลงทุนเก่าต่างก็มองหาทางถอยเพราะหมดทุน หรือ “ถัว” จนไม่รู้ว่าจะต้องถัวกันอีกมากเท่าไหร่ ขณะที่ประเด็นความเชื่อมั่น ยังรอการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมออกมา
อย่างที่สอง...เป็นปัญหาในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบความสามารถในการแข่งขัน ที่ว่ากับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมไปถึง เวียดนาม กลับพบว่าประเทศไทยเริ่มที่จะล้าหลัง
โดยเฉพาะในส่วนของประเทศเวียดนาม ซึ่งหากนำมาเทียบกับไทย จะพบว่ามีข้อแตกต่างกันดังนี้
1. เวียดนาม มีประชากรถึง 101 ล้านคน โดยเฉพาะประชากรวัยทำงานจำนวนมาก และค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 170 ดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่ไทยมีจำนวนประชากรราว 66 ล้านคน แต่สังคมกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (aging society) มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์ต่อเดือน
ดังนั้น ค่าแรงที่มีส่วนต่างกันเกือบ 100 ดอลลาร์ ในจำนวนแรงงานที่เยอะกว่าและอ่อนวัยกว่า เป็นเหตุให้อำนาจการแข่งขันในส่วนของแรงงานของเวียดนามเหนือกว่าไทย
2. เวียดนาม มี FTA ครอบคลุมตลาดเกือบทั่วโลก ขณะที่ไทยนั้นยังขาด FTA กับตลาดขนาดใหญ่ ทำให้การแข่งขันในส่วนนี้ไทยก็ยังเสียเปรียบเวียดนามเช่นเดียวกัน
3. เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งแม้จะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่การเปลี่ยนแปลงกลับไม่มีเหตุเหนือความคาดหมายเช่นเดียวกับไทย
1
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) ยังคาดการณ์ว่า เวียดนามจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่ อินโดนีเซีย และใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลกภายในปี 2579
ขณะที่ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ภายในปีนี้ GDP ของเวียดนามจะอยู่ที่ 5.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามหลังอินโดนีเซียและไทย แต่แซงหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ส่งผลให้เวียดนามไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคในแง่ของขนาดเศรษฐกิจ
อย่างที่สาม...เป็นปัญหาที่สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการภาษีนำเข้าขั้นต่ำในอัตรา 10% ในเดือน เม.ย. ซึ่งตอนนี้เริ่มต้นนับหนึ่งไปแล้ว รวมไปถึงแผนที่จะบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ในช่วงต้นเดือน ก.ค. หลังจากประกาศผ่อนผันมาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน
ในขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่รู้ว่า จะสามารถเข้าไปเจรจาได้เมื่อไหร่ รวมไปถึงถ้าได้เข้าไปเจรจาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ก็ถือทำให้ภาษีนำเข้าสินค้า (Tariff) เป็น “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะสร้างปัญหาให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจไปถึงตลาดหุ้นและตลาดทุนของไทยได้ในเวลาอีกไม่กี่เดือน
เมื่อจับเอาปัญหา “คอขวด” ทั้ง 3 ของตลาดหุ้นไทยมาพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอำนาจในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งใกล้ตัวอย่างเวียดนาม โดยที่ยังไม่นับรวมเอาปัญหาภาษีนำเข้าสินค้า (Tariff) ของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นานก็จะพบว่า ไทยมีความเสียเปรียบหลายอย่างอยู่แล้ว
และยิ่งหากนับเอาปัญหาภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ รวมเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราภาษีและเรื่องของการเป็นประเทศทางผ่านของสินค้าจาก “ประเทศจีน” ซึ่งถูกสหรัฐฯเล็งเป้าที่จะ “เตะตัดขา” เนื่องจากมองว่าเป็นคู่แข่งที่ต้องสกัดเอาไว้ทุกทาง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาก็อาจมองได้ว่า ไทย และ เวียดนาม อาจจะไม่ได้ หรือ เสียเปรียบกันมากเกินไป หากใช้โอกาสนี้สร้างข้อได้เปรียบในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โครงการ EEC โครงการแลนด์บริดจ์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ แม้แต่โครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ รวมไปถึงการเร่งเข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ ให้จบ
เจ๊เมาธ์ก็เชื่อว่า ไทยยังมีโอกาส “พลิกตัว” จนกลับมาตามเวียดนามได้ทัน ขอแค่ไม่ “เตะตัด” ขากันเองแค่นี้ก็พอแล้วเจ้าค่ะ
โฆษณา