7 พ.ค. เวลา 09:00 • การเมือง

เปิดโผปรับ ครม. หลังผ่านงบ 69 “สุพัฒนพงษ์”คัมแบ็กพลังงาน

เปิดโผ ปรับครม. หลังผ่านงบ 69 “สุพัฒนพงษ์”คัมแบ็กพลังงาน “อนุทิน”ส่อกลับ สธ. “ประเสริฐ”เต็งรมว.มหาดไทย-พาณิชย์ “มนพร”รมว.ดีอีเอส “อรรถกร” ผงาดคุมเกษตร “พชร นริพทะพันธุ์” รมช.คมนาคม
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ปรับ ครม.) ว่า ความจริงตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และทราบมาว่ามีเรื่องของผลโพลที่ทุกคนให้ความสนใจ ความจริงแล้วตนพร้อมรับฟังทุกความเห็น ไม่ว่าจะเป็นผลโพล หรือความเห็นของประชาชนจะนำไปคิด
“ความจริงแล้วใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ไม่ว่าตำแหน่งทุกอย่าง หรือ แม้แต่ตำแหน่งของนายกฯ ก็เช่นกัน ไม่ใช่แค่ตำแหน่งของใครคนใดคนหนึ่ง ตำแหน่งของนายกฯ ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็ทำใจให้นิ่งไว้”
1
เมื่อถามว่าที่บอกให้ทำใจให้นิ่ง เป็นการสื่อสารไปยังรัฐมนตรีทุกคนใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า “ไม่คะ ทุกๆ คนบอกว่าทุกๆ อย่างเราต้องใจนิ่งๆไว้ ตอนนี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิมไม่ได้คิดจะปรับอะไร แต่พอรับฟังความคิดเห็นก็ต้องมาดูว่าอย่างไรบ้าง เพราะความจริงแล้วชอบทำงานเป็นทีม ชอบทำงานในแบบที่ทำงานด้วยกันไม่ต้องสู่กัน ไม่ต้องไฟต์กันในแต่ละกระทรวง ความจริงไม่ชอบความแตกสามัคคี แต่ก็ทำดีที่สุดแล้ว ดูว่าเป็นอย่างไร ถ้าสมมุติว่าเกิดอะไรขึ้นมาเราไปปรับแก้ตอนนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นอะไร”
ส่วนที่ผลโพลบอกให้ปรับในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับเสียงสะท้อนของคนในพรรค จะปรับยุทธศาสตร์หรือปรับตัวรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร นายกฯและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก ทุกอย่างเหมือนเดิมขอตอบตามนี้ แต่เรารับฟังทุกความคิดเห็น”
ภายหลังการออกมาให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของ “นายกรัฐมนตรี” กระแสข่าวการ ปรับ ครม. ก็นิ่งเงียบไป
ปรับ ครม.หลังผ่านงบ 69
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์การ “ปรับ ครม.” เพื่อจัดทัพการทำงานบริหารประเทศ จะเกิดขึ้นในช่วงครบ 1 ปี ของการทำงานรัฐบาลแพทองธาร (รัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา 12 ก.ย. 2567 )
ดังนั้น การปรับ ครม. ของ “นายกฯแพทองธาร” จะเป็นในช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นจังหวะที่ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 2569 ไปแล้ว
นั่นหมายความว่า การปรับ ครม. จะเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกประมาณ 5 เดือน
สำหรับไทม์ไลน์ขั้นตอนการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของสภา ที่น่าสนใจ เป็นดังนี้
  • 28 - 30 พ.ค. 68 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯวาระที่ 1
  • 4 มิ.ย. - 8 ส.ค. 68 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ (ขั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ)
  • 4 มิ.ย. 68 การประชุมนัดแรก เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
  • 22 ก.ค. 68 คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
  • 25 ก.ค. 68 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นัด สส.ผู้แปรญัตติเสนอคำแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
  • 4 - 6 ส.ค. 68 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดพิมพ์รายงานประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ
  • 13 - 15 ส.ค. 68 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ วาระที่ 2-3
  • 25 - 26 ส.ค. 68 วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ
  • 8 ก.ย. 68 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฏหมายต่อไป
10 รมต.อยู่ในโผปรับเปลี่ยน
แหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาล เปิดเผยว่า การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นหลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ผ่านสภาฯ ไปแล้ว โดยรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกปรับเปลี่ยนมี 10 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้แก่
1. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว.ดีอีเอส
2. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์
3. นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง
4. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย
5. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข
6. นางสาวมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม
ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล
7. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ/รมว.มหาดไทย (พรรคภูมิใจไทย)
8. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน (พรรครวมไทยสร้างชาติ)
9. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (พรรคกล้าธรรม) และ
10. นายอิทธิ ศิริลัทยาธกร รมช.เกษตรและสหกรณ์ (พรรคกล้าธรรม)
ทั้งนี้ในส่วนของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวจะหลุดจากตำแหน่งขุนคลัง โดยทาบทาม “นายแบงก์” เข้ามาทำหน้าที่แทน ล่าสุดมีรายงานว่า พิชัย ชุณหวชิร ยังคงได้นั่งตำแหน่งเดิมต่อไป
8 รมต.เก่า-ใหม่เข้าทำงาน
2
สำหรับรัฐมนตรีคนเก่าที่ได้อยู่ต่อ แต่ปรับเปลี่ยนกระทรวงดูแล และรัฐมนตรีใหม่ที่จะเข้ามาร่วมครม.รัฐบาลแพทองธาร ประกอบด้วย
3
1. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองนายกฯและรมว.พลังงาน จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกฯและรมว.พลังงาน อีกครั้งหนึ่ง (โควต้านายทุน)
2. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่อาจต้องถูกปรับออกจาก รมว.มหาดไทย ไปนั่ง รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข
3
3. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข กลับมานั่งเพียงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (โควต้าพรรคเพื่อไทย)
4. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง อาจต้องลุกจากเก้าอี้ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม (ดีอีเอส) ไปดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย แทนที่ นายอนุทิน หรือ รมว.พาณิชย์ แทนที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (โควต้าพรรคเพื่อไทย)
5. นางมนพร เจริญศรี จากรมช.คมนาคม จะโยกไปนั่ง รมว.ดีอีเอส (โควต้าพรรคเพื่อไทย)
3
6. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ (โควต้าพรรคกล้าธรรม)
1
7. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง จากเดิมนั่งเก้าอี้รมว.เกษตรและสหกรณ์(โควต้าพรรคกล้าธรรม)
8. นายพชร นริพทะพันธุ์ บุตรชาย นายพิชัย จะดำรงตำแหน่งรมช.คมนาคม (โควต้าพรรคเพื่อไทย)
โพลหนุน ปรับครม.
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการ “ปรับ ครม.” นั้น ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เปิดเผยผลการสำรวจ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2568 เรื่อง “ปรับ ครม. วันไหนดี” สำรวจระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย.2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ปรับ ครม.) ในรัฐบาล ของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี
โดย “นิด้าโพล” ได้สอบถามถึงกระทรวงที่ประชาชนอยากให้ “ปรับ” รัฐมนตรี มากกว่า “ไม่ปรับ” อันดับหนึ่ง คือ กระทรวงพาณิชย์ 57.02% ระบุว่า ควรปรับเปลี่ยน ขณะที่ 41.60% ระบุว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยน
ขณะที่กระทรวงอื่นๆ ที่มีค่าความเห็นปรับ และไม่ปรับใกล้เคียงกัน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย 48.55 % ระบุว่า ควรปรับเปลี่ยน ขณะที่ 49.47% ระบุว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยน
ส่วนในกระทรวงอื่นๆ นั้น พบว่ามีค่าเปอร์เซ็นต์ที่ “ไม่ต้องการให้ปรับ” สูงกว่า “ความต้องการให้ปรับ”
ที่น่าสนใจคือ “นิด้าโพล”ถามถึงความต้องการ “ปรับ ครม.” พบว่า 48.24% ระบุว่า จำเป็นต้องปรับ ครม. โดยเร็วที่สุด รองลงมา 16.18% ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องปรับ ครม.
ขณะที่ 15.50% ระบุว่า การปรับ ครม. ควรรออีก 3 เดือน 10.07% ระบุว่า การปรับ ครม. ควรรออีก 6 เดือน 6.95% ระบุว่า การปรับ ครม. ควรรออีก 1 ปี และ 1.53% การปรับ ครม. ควรรออีก 9 เดือน และไม่ตอบ หรือ ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ปรับ ครม. ขึ้นอยู่กับนายกฯ
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2568 ถึงกระแสข่าวการปรับ ครม. ในพรรคเพื่อไทย มีการพูดคุยกันอยู่หรือไม่ว่า ยังไม่มี เรื่องนี้ในพรรคเพื่อไทยยังเงียบๆ เพราะเป็นดุลพินิจของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการเคลื่อนไหว และไม่มีการเรียกร้องอะไร
ส่วนกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติจากการถือหุ้น และกรณีแจกถุงยังชีพติดสติ๊กเกอร์และรูปนายพีระพันธุ์ มองว่าจะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ นายสุทิน ตอบว่า ให้กระบวนการเดินไปให้ถึงที่สุดก่อน ไม่มีปัญหา เพราะเป็นเรื่องของบุคคล ถ้าเป็นจริงก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล
ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. จะเรียกรัฐมนตรีรายหนึ่งไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรม กรณีถูกกล่าวหาว่าแจกถุงยังชีพติดสติกเกอร์และรูปตัวเอง ว่า ไม่มีปัญหาหรอก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้แจ้งมาแล้วหรือยัง นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ไม่ได้แจ้ง ยังไม่ทราบ แต่รู้เรื่องแล้ว เพราะมันกลั่นแกล้งมาตั้งนานแล้ว” เมื่อถามย้ำว่า จะไปตามที่ ป.ป.ช.เชิญใช่หรือไม่ กล่าวว่า “เขาเชิญเราก็ต้องไป”
โฆษณา