Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 ชั่วโมงที่แล้ว • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมเงินฝืด อาจน่าเป็นห่วงกว่า เงินเฟ้อ
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนเมษายน ปี 2568 ที่ผ่านมานี้ อยู่ที่ -0.22% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
1
การที่อัตราเงินเฟ้อติดลบนั้น ก็หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้วราคาสินค้าในภาพรวมของเศรษฐกิจนั้นลดลง ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี
2
แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อติดลบแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างยาวนาน อาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยเท่าไรนัก
เพราะหมายความว่าประเทศไทย จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจจะน่าเป็นห่วงกว่าการมีเงินเฟ้อ ที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้นเสียอีก
1
และถ้าหากสงสัย ทำไมราคาข้าวของที่ถูกลงเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะเงินฝืด ถึงน่าเป็นห่วงกว่าการที่ข้าวของค่อย ๆ แพงขึ้นจากเงินเฟ้อ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
1
แม้อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
เพราะการที่จะประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ ก็ต้องเข้าหลายเงื่อนไข เช่น อัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน, อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายหมวดสินค้าและบริการ
และอาจจะรวมถึงเศรษฐกิจที่หดตัว พร้อมกับอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นด้วย
เพราะฉะนั้น การที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเพิ่งติดลบได้แค่เดือนเดียว และเมื่อดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หรือ Core Inflation ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่ไม่นำราคาพลังงาน และอาหารสดที่ผันผวนตามฤดูกาลมาคำนวณ
ก็จะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 0.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะราคาสินค้าอื่น ๆ เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และค่าเช่าบ้าน ยังคงเพิ่มขึ้น
การที่เงินเฟ้อติดลบในครั้งนี้ จึงทำให้หลาย ๆ คนก็คงไม่ได้รู้สึกอะไรว่าข้าวของถูกลงมากขนาดนั้น และก็ไม่เพียงพอที่จะเข้าเงื่อนไขภาวะเงินฝืด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว เงินฝืดจะช่วยให้คนที่มีเงินออม และผู้ที่มีรายได้ประจำ มีกำลังซื้อมากขึ้น จากราคาข้าวของที่ถูกลง
แต่ถ้าราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงยาวนาน หรืออัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นระยะเวลานาน จนเข้าสู่ภาวะ “Deflationary Spiral” หรือวงจรเงินฝืดแล้วละก็ เรื่องนี้จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมากเช่นกัน
โดยขั้นตอนของการเกิดวงจรเงินฝืดก็จะเริ่มจาก
1. ราคาสินค้าในเศรษฐกิจโดยรวม ที่ถูกลงต่อเนื่องอย่างยาวนาน ได้ทำให้ผู้คนรอซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
2. เมื่อผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอย รายได้ของร้านรวงต่าง ๆ ก็ลดน้อยลง
3. ธุรกิจที่มีรายได้เข้ามาน้อยลง แต่ต้องการได้กำไรเท่าเดิม ก็เริ่มการตัดลดต้นทุน เลิกจ้างพนักงาน ลดกำลังการผลิต และลดการลงทุนขยายกิจการเพิ่ม
1
4. เมื่อธุรกิจจำนวนมากลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานพร้อม ๆ กัน ผู้บริโภคในตลาดที่ตอนนี้ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ก็จะรัดเข็มขัดด้วยการใช้จ่ายให้น้อยลง
5. การใช้จ่ายน้อยลง ธุรกิจก็จะยิ่งมีรายได้น้อยลงไปอีก ทำให้ต้องลดราคาสินค้าอย่างมาก เพื่อระบายสินค้าให้ตัวเองพอมีสภาพคล่องเข้ามาบ้าง
1
6. ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยลง ก็จะตั้งตารอให้สินค้าราคาถูกลงอีก ตัวเองจะได้สามารถซื้อได้
1
และด้วยความที่การบริโภคของผู้คน และการลงทุนจากธุรกิจเอกชน เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ GDP
ทำให้เมื่อคนก็ไม่จับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็ไม่ลงทุนขยายกิจการ พร้อมทั้งจ้างคนเพิ่ม
เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะชะลอ หรือแม้แต่หดตัวลง จนทำให้ผู้คนต้องพบกับเวลาที่ยากลำบาก แม้ข้าวของจะถูกลงก็ตาม
แต่นอกจากนี้แล้ว ภาวะเงินฝืดยังส่งผลเสียเพิ่มเติมอีก
- ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง
เมื่อทั้งผู้คนและธุรกิจ พากันเก็บเงินไว้เพราะไม่มั่นใจในการเอาออกมาใช้สอย รวมถึงการที่เงินฝืด ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะเก็บเงินไว้อีก
1
ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มยิ่งถดถอยมากขึ้น
- ความเสี่ยงจากภาวะหนี้สิน
นอกจากเงินฝืดจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหนี้เพิ่มขึ้นแล้ว ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากภาวะเงินฝืด ก็ทำให้รายได้ของทั้งผู้คนและธุรกิจลดลง แต่ภาระหนี้สินที่ทำสัญญากันไว้แต่แรก ไม่ได้ลดลงด้วย
ซึ่งถ้าหากคนหรือธุรกิจไหนมีหนี้สินที่ต้องชำระ ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถจ่ายคืนเงินได้นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า แม้ว่าการที่ราคาสินค้าและบริการลดลงหรือการเกิดภาวะเงินฝืด ดูเหมือนจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ที่จะได้ซื้อของถูกลง
แต่ถ้าหากภาวะเงินฝืดยืดเยื้อ ก็จะกลายเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างน่ากลัว ไม่แพ้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเลย
และด้วยความที่ภาวะเงินฝืดนั้น มีพื้นฐานมาจากความไม่เชื่อมั่นของผู้คนต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ จนไม่ยอมออกมาจับจ่ายใช้สอย
1
ทำให้การจะแก้ภาวะเงินฝืดนั้น ค่อนข้างที่จะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะการใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างการลดดอกเบี้ย ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
อย่างกรณีของหลายประเทศที่เคยลดดอกเบี้ยนโยบายจนเกือบเหลือ 0% เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
1
เพราะฉะนั้นแล้ว การที่ราคาข้าวของถูกลง หากมีต้นตอมาจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลง ก็คงเป็นเรื่องที่ดี
แต่ถ้าหากวันใดที่ราคาสินค้าถูกลง มาจากการที่คนไม่อยากจะจับจ่ายใช้สอย จนห้างร้านจำเป็นต้องลดราคาเพื่อเอาตัวรอด
1
นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจอ่อนแอ อันอาจจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดที่น่ากังวล ซึ่งเราจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด..
#เศรษฐกิจ
#เศรษฐกิจไทย
#เงินฝืด
1
References
-
https://www.empower.com/the-currency/money/deflation
-
https://www.kasikornbank.com/th/kwealth/Pages/a399-t4-evg-what-is-deflation-for-economy-investment-kgth.aspx
-
https://www.infoquest.co.th/2025/492268
-
https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-matter/negative-inflation
-
https://www.economicshelp.org/blog/1888/economics/deflationary-spiral/
-
https://www.investopedia.com/articles/investing/051315/what-deflation-and-how-do-central-banks-fight-it.asp
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
43 บันทึก
49
2
48
43
49
2
48
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย