Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
7 พ.ค. เวลา 14:30 • ไลฟ์สไตล์
6 พฤติกรรมการเงินที่คิดว่าประหยัด แต่กระเป๋าตังค์ร้องไห้ กลายเป็น ‘เสียมากกว่าคุ้ม’
🔥 “ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง”
คำเตือนพาดหัวข่าวที่ช่วงท้ายปีมักได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
ไม่ว่าจะเผาหลอกหรือจะเผาจริง ปีนี้หรือปีหน้าหรือปีไหน ชาวบ้านผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเราก็หนีไม่พ้นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ค่าแรงอาจจะไม่ได้ขึ้นไปในอัตราเดียวกันสักเท่าไหร่
เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องการเงิน (Financial Literacy) จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่ายุคไหน การสร้างนิสัยการเงินที่ดี การติดตามและวางแผนการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม และการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน หาโอกาสประหยัดเงินส่วนที่สิ้นเปลืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่ในขณะที่การประหยัดเงินเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันคือหาจุดสมดุลระหว่างคุณค่าของเงินกับเวลา (ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของคุณอีกอย่างหนึ่ง) แน่นอนแหละว่าการหาดีลที่ดีที่สุด ขับรถไปซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่ห่างจากบ้านไป 10 กิโลเมตร แทนที่จะเดินไปร้านหน้าปากซอย เพื่อซื้อของบางอย่างที่กำลังลดราคาห้าบาทสิบบาทอาจจะช่วยประหยัดเงินได้ มันคุ้มที่จะทำแบบนั้นจริงๆไหม?
ทั้งค่าเดินทางที่ต้องเสียเพิ่ม หรือ เวลาก้อนนั้นที่หายไป ซึ่งคุณสามารถเอาไปใช้เพื่อหารายได้เพิ่มหรือลงทุนในสิ่งที่ไม่ได้สร้างรายได้แต่มีคุณค่าอย่างใช้มันกับครอบครัว เพื่อน หรือพัฒนาตัวเอง ก็ได้
มาลองดูกันว่ามีนิสัยเกี่ยวกับเรื่องเงินอะไรที่บ้างที่เราอาจจะคิดว่ามันช่วยประหยัดเงิน แต่ที่จริงแล้วควรจะเลิก
❌ 1. ซื้อของเพียงเพราะมันกำลังลดราคา
เชื่อว่าข้อแรกก็โดนใจใครหลายต่อหลายคนอย่างแน่นอน เพราะผมเองก็คนหนึ่งที่ตกหลุมพรางป้าย ‘Sale’ สีแดงๆ อยู่บ่อยๆ ยิ่งตัวเลขลดเยอะๆ ยิ่งรู้สึกว่าซื้อมาแล้วชนะระบบ (เราไปแข่งกับใครตอนไหนเนี้ย)
หลายครั้งการซื้อของลดราคาเพียงเพราะมันลดราคาอาจจะไม่ความคิดที่ดีนัก
ซื้อมาบางทีไม่ได้ใช้ ซื้อเอาไว้นั่นก่อน บางทีเป็นขนม ซื้อมาเพราะลดราคาดันลืมดูวันหมดอายุ หรือบางทีเจอร้านใช้เทคนิคตั้งราคาสูง แล้วทำป้ายลดราคาเพื่อให้ดูเป็นดีลฮอต ซื้อมาเรียบร้อย มารู้ทีหลังว่าของชิ้นนั้นราคาปกติไม่ได้แรงขนาดนี้ (เจ็บมาเยอะเหมือนกันนะเรา)
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้เป็นของที่เราจะซื้ออยู่แล้ว เวลามันลดราคาให้สงบใจไว้ให้ดี อย่าเพิ่งกดซื้อเพียงเพราะติดป้าย ’Sale’
❌ 2. ชอปหลายๆ ร้านเพื่อให้ดีลที่ถูกที่สุด
เคยเห็นคนที่ออกไปซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ตวันหนึ่งหลายๆ แห่ง เพียงเพื่อจะได้ดีลที่ดีที่สุดไหมครับ?
เช่น ผักสดซื้อห้างนี้ ของแห้งซื้อที่ร้านนั้น ผลไม้แวะตรงข้างทาง ฯลฯ จริงอยู่ว่ามันคงประหยัดเงินได้บางส่วน แต่ถ้าต้องเสียเวลาทั้งวันเพียงเพื่อวิ่งตามดีลของร้านต่างๆ อาจจะไม่คุ้มค่าน้ำมันซะทีเดียว
อย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น (Hidden Cost) ต่างๆ ตัวอย่างอีกอันเช่นการซื้อของบน Facebook Marketplace บางทีเจอของมือสองราคาดี เสียเวลา เสียค่าเดินทาง นัดเจอกันเสร็จเรียบร้อย มาเห็นทีหลังว่ามือหนึ่งก็กำลังลดราคาอยู่ ราคาเท่าๆ กันก็บ่อย ลองคิดตัวเลขให้ดีก่อนเสมอ
❌ 3. ขับรถเพื่อตามหาน้ำมันราคาถูก
ค่าเดินทางถือเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของทุกคนในแต่ละเดือน โดยเฉพาะคนที่ขับรถซึ่งมีทั้งค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าภาษี พรบ. ประกัน ฯลฯ จึงไม่แปลกหรอกที่เราอยากจะหาทางประหยัดค่าเดินทางลงบ้าง
แต่การขับรถเพื่อไปเติมน้ำมันที่ปั้มที่น้ำมันราคาถูกกว่าลิตรละ 5 สตางค์ ที่ห่างออกไปหลายกิโลและไม่ได้อยู่บนเส้นทางการเดินทางของเราอยู่แล้ว ก็ดูจะเป็นการเสียมากกว่าได้
ลองนั่งกดเครื่องคิดเลขดูอีกทีก่อนจะตัดสินใจขับรถออกไปอีกสักครั้งครับ
❌ 4. ซื้อของทุกอย่างยกแพ็ค ยกลัง ยกโหล เพราะคิดว่าคุ้ม
การไปชอปปิงแบบยกแพ็คที่ห้างขายส่งดูเหมือนจะเป็นการจ่ายแพงหน่อยในตอนแรก แล้วประหยัดกว่าในตอนท้ายเพราะหารออกมาแล้วตกต่อชิ้นราคาถูกกว่าซื้อย่อย
จริงอยู่ว่าโดยทั่วไปแล้วตามทฤษฎีแล้วมันก็คงเป็นแบบนั้น ถ้าเป็นธุรกิจ ร้านอาหาร ร้านค้าที่ซื้อไปขายต่อการซื้อแบบนี้ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะเมื่อมีดีลลดราคา แต่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปการซื้อเหมาแพ็คอาจจะเอาเข้าจริงไม่ได้ประหยัดขนาดนั้น (หรือบางทีเสียเงินเยอะกว่าด้วย)
สมมุติถ้าคุณเป็นครอบครัวขนาด 4 คน พ่อแม่ลูกสอง การซื้อไอเทมอย่างกระดาษทิชชู่หรือน้ำยาซักผ้าที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้วมาเป็นแพ็คแบบนี้ถือว่าประหยัด แต่ถ้าซื้อหอมใหญ่ถุง 10 กิโล หรือ ซอสปรุงรสแบบยกลังแบบนี้คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะคงไม่ทันหมดและสุดท้ายก็ต้องทิ้ง แทนที่จะประหยัดเงินกลายเป็นเสียเงินเพิ่ม (ไม่นับว่าเสียพื้นที่เพื่อจัดวางของเหล่านี้ด้วยนะ)
นอกจากนั้นยังมีโอกาสที่เราจะซื้อเยอะจนเกินพอดีด้วย ดีลราคาถูกเหล่านี้มักมาพร้อมกับโปรโมชันการตลาดที่พยายามโน้มน้าวให้เราซื้อมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นซื้อน้ำอัดลม 5 โหลในราคาที่ถูกลงโหลละ 10 บาท แต่เราต้องถามตัวเองว่าต้องการน้ำอัดลม 60 ขวดจริงๆ เหรอ?
❌ 5. ซื้อของถูก แต่ไม่มีคุณภาพ
เคยได้ยินคำว่า ‘เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย’ ไหมครับ?
ของถูกจากแอปฯ ต่างๆ เสื้อตัวละ 50 บาท สายชาร์จโทรศัพท์เส้นละ 10 บาท ฯลฯ ของเหล่านี้แม้ราคาจะถูกก็จริง แต่บ่อยครั้งก็เสียง่าย เสียก็ต้องซื้อใหม่ แล้วยิ่งเป็นสินค้าเทคโนโลยีอย่างสายชาร์จหรือแบตฯ เสริม ซื้อของถูกมาแล้วไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ของเราอาจเกิดความเสียหาย หรือดีไม่ดีเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้เลยเช่นกัน
1
เวลาจะซื้อของจ่ายเงิน การเลือกสินค้าที่ราคาเหมาะสม หรือแพงหน่อย แต่ถ้าคุณภาพดี สมราคา และจะอยู่กับเราไปอีกนาน ก็คงคุ้มค่ากว่า
ถ้าตอนนี้เงินยังไม่พอ อาจจะเก็บเงินอีกสักหน่อย รออีกสักนิดเพื่อให้ได้ดีลที่ดีก็ได้
❌ 6. ซ่อมแซมบ้าน ทำ DIY โปรเจ็กต์ด้วยตัวเอง
เราอยากประหยัดเงินให้มากที่สุด เวลาของบางอย่างเสียเช่นรถยนต์มีเสียงแปลก ท่อน้ำซึมแตก หลังคารั่ว พื้นร้าว ฯลฯ เราก็พยายามซ่อมเอง ไปดูช่องยูทูบเอาว่าผู้เชี่ยวชาญเขาทำยังไง
โชคดี บางทีมันก็เวิร์ก แต่ถ้าโชคร้าย ค่าใช้จ่ายอาจจะบานยิ่งกว่าเดิม
หรืออยากทำโปรเจ็กต์บางอย่างเช่นเรียนทำอาหาร ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่ควรจะคำนวณค่าใช้จ่ายในการลงทุนและเวลาที่ต้องใช้ให้ดีก่อนจะเริ่มลงซื้ออุปกรณ์มาเต็มบ้านจะดีกว่า
อ้างอิง :
https://www.investopedia.com/why-buying-in-bulk-can-come
...
https://lifehacker.com/avoid-these-money-saving-habits
...
https://lifehacker.com/how-to-decide-when-to-diy-and-when
...
#aomMONEY #MakeRichGeneration #การเงิน #ซื้อเหมา #นิสัยประหยัดที่ไม่ประหยัดจริง
7 บันทึก
14
1
11
7
14
1
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย