8 ชั่วโมงที่แล้ว • ธุรกิจ

เจาะลึก 6 สิ่งที่ควรดู ในงบการเงิน ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตโค้ก รายใหญ่ของไทย ที่กำลังจะ IPO

สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย คงคุ้นเคยกับบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC กันอยู่บ้าง
เพราะบริษัทที่ว่านี้ เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ให้ผลิตและจัดจำหน่ายโค้ก จากบริษัท The Coca-Cola Company ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ของประเทศไทย
ส่วนอีก 63 จังหวัดที่เหลือของไทย จะดูแลโดยบริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ไทยน้ำทิพย์ ได้ยื่นเอกสารไฟลิ่ง เพื่อเตรียมเข้าตลาดหุ้นไทยแล้ว
หากสงสัยว่า ไทยน้ำทิพย์ เป็นใคร และผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา น่าสนใจอย่างไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ไทยน้ำทิพย์ มีจุดเริ่มต้นในปี 2502 จากการร่วมมือระหว่าง 3 ครอบครัวผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ครอบครัวสารสิน, ครอบครัวเคียงศิริ, ครอบครัวบุญสูง กับบริษัท The Coca-Cola Company
โดยบริษัท ไทยน้ำทิพย์ นับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Swire Coca-Cola ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโค้ก ที่มีปริมาณการผลิตสูง เป็นอันดับ 5 ของโลก
หลังจากผ่านมา 66 ปี นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งขึ้นมา ไทยน้ำทิพย์ ถือว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะ
1
- เป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่ม NARTD หรือ Non-Alcoholic Ready-to-Drink ในไทย มีส่วนแบ่งตลาด 15.6%
- เป็นอันดับ 1 ในตลาดเครื่องดื่มอัดลม ด้วยส่วนแบ่งตลาด 51.4%
- แบรนด์โค้ก มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในเครื่องดื่มประเภทโคล่า ที่ 47.6%
ทีนี้เราลองมาดูตัวเลขจากงบการเงินของบริษัท ในช่วงที่ผ่านมากันบ้างดีกว่า ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
1. การเติบโตของรายได้และกำไร
ในช่วง 3 ปีมานี้ ไทยน้ำทิพย์ มีรายได้และกำไร เติบโตขึ้นมาตลอด
ปี 2565 รายได้ 35,989 ล้านบาท กำไร 3,083 ล้านบาท
ปี 2566 รายได้ 39,294 ล้านบาท กำไร 3,374 ล้านบาท
ปี 2567 รายได้ 41,314 ล้านบาท กำไร 4,379 ล้านบาท
2. อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin
Gross Profit Margin หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GPM คือสิ่งที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทมีความสามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจได้ดีแค่ไหน
ถ้าอัตรากำไรขั้นต้น มีความสม่ำเสมอ หรือเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ก็หมายความว่า บริษัทควบคุมต้นทุนได้ดี
คำนวณหาโดย
[(รายได้จากการขาย - ต้นทุนการขาย) / รายได้] x 100%
ปี 2565 มี GPM 38.22%
ปี 2566 มี GPM 38.60%
ปี 2567 มี GPM 38.50%
1
หากสังเกตให้ดี จะพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์มี GPM ที่ค่อนข้างคงที่ ประมาณ 38%
หมายความว่า บริษัทมีความสามารถควบคุมต้นทุนในการทำธุรกิจ ได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อรายได้เติบโตขึ้น ก็ยังสามารถควบคุมสัดส่วนของต้นทุน ให้ค่อนข้างนิ่งมากได้
3. หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ IBD/E
IBD/E คือเครื่องมือที่จะช่วยบอกเราว่า บริษัทมีความเสี่ยงในด้านหนี้สินมากแค่ไหน
เพราะเป็นการดูเปรียบเทียบว่า บริษัทมีหนี้สินประเภทหนี้เงินกู้ที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ย อยู่มากแค่ไหนเมื่อเทียบกับ เงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น
บริษัทที่มีหนี้เงินกู้เยอะ เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น จะถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่า บริษัทที่มีหนี้เงินกู้น้อย
คำนวณหาโดย
หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ปี 2565 มี IBD/E 0.061 เท่า
ปี 2566 มี IBD/E 0.03 เท่า
ปี 2567 มี IBD/E 0 เท่า
ที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ มี IBD/E น้อยกว่า 1 เท่ามาตลอด โดยหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัท คือเจ้าหนี้การค้า และหนี้สินสัญญาเช่า ซึ่งไม่มีการเสียดอกเบี้ย
การมี IBD/E ที่ต่ำแบบนี้มาตลอด ก็เป็นการบ่งบอกว่า แหล่งเงินทุนหลัก ที่ส่งผลต่อการเติบโตของบริษัท ที่ผ่านมา มาจากกระแสเงินสด ที่บริษัทสามารถผลิตได้จากการทำธุรกิจ
และการที่บริษัทมี IBD/E ที่ต่ำมากนี้เอง ยังเป็นอีกสิ่งที่ช่วยบ่งบอกว่า บริษัทมีความเสี่ยงในการล้มละลายน้อยด้วย
4. กระแสเงินสดอิสระ หรือ Free Cash Flow
กระแสเงินสดอิสระ คือเงินสดที่คงเหลืออยู่ในบริษัท หลังจากที่ได้หักค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำธุรกิจ ทุกอย่างไปหมดแล้ว
เงินสดเหล่านี้ บริษัทสามารถเลือกนำไปจ่ายคืนหนี้เงินกู้, จ่ายเป็นปันผล หรือซื้อหุ้นคืนก็ได้
บริษัทที่มีกระแสเงินสดอิสระ เป็นบวกมาก ๆ อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดชั้นดีให้กับผู้ถือหุ้น
คำนวณหาโดย
เงินสดสุทธิจากกิจกรรมการดำเนินงาน - รายจ่ายเพื่อการลงทุน
ปี 2565 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 3,642 ล้านบาท
ปี 2566 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 5,074 ล้านบาท
ปี 2567 มีกระแสเงินสดอิสระ เท่ากับ 1,992 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ มีกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกตลอด สะท้อนว่าบริษัทเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้กับเจ้าของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 กระแสเงินสดอิสระที่ลดลง ก็เป็นเพราะว่าบริษัทมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงานลดลง แต่รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการทำธุรกิจสูงขึ้นกว่าปีก่อน
5. ROIC
ROIC หรือ Return on Invested Capital เป็นสิ่งที่ช่วยบอกเราว่า การลงทุนทำธุรกิจของบริษัท ได้รับผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่า จริงหรือไม่
ถ้า ROIC สูง หมายความว่า ลงทุนไปแล้ว ได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ามาก
แต่ถ้า ROIC ต่ำ ก็หมายความว่า ผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่คุ้มค่าเงินลงทุนเลย
คำนวณหาโดย
(กําไรจากการดําเนินงานหลังหักภาษี / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100
ปี 2565 มี ROIC เท่ากับ 64.36%
ปี 2566 มี ROIC เท่ากับ 115.01%
ปี 2567 มี ROIC เท่ากับ 69.13%
การที่ ROIC สูงกว่า 60% มาตลอด 3 ปีนี้ ก็หมายความว่า การลงทุนเพื่อทำธุรกิจของไทยน้ำทิพย์ สามารถทำผลตอบแทนจากการลงทุน กลับมาได้คุ้มค่าเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 การที่ ROIC ลดลง มีสาเหตุมาจาก บริษัทได้มีการเพิ่มทุนเข้ามา 18,066 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นบริษัท CBCL และ CCBVL บริษัทละ 30%
1
โดย CBCL และ CCBVL เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ของบริษัท The Coca-Cola Company ในประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ตามลำดับ
1
การเพิ่มทุน จึงทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ ส่วนของเงินลงทุนในธุรกิจ เพิ่มขึ้นนั่นเอง
โดย เงินลงทุนในธุรกิจ หรือ Invested Capital มีส่วนประกอบมาจาก
ส่วนของผู้ถือหุ้น + หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย - เงินสดและทรัพย์สินเทียบเท่าเงินสด
พอเป็นแบบนี้ ก็เลยส่งผลให้ ROIC ของบริษัทในปี 2567 ลดลงจากในปี 2566 ตามไปด้วย
6. CFROI
และสุดท้ายก็คือ CFROI หรือ Cash Flow Return on Investment เป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันกับเราว่า ROIC ที่บริษัททำได้ เป็นของแท้แน่นอน จริงหรือไม่
1
เพราะ ROIC เองก็มีจุดอ่อนอยู่บ้าง นั่นคือไม่สามารถบอกได้ว่า บริษัทมีกระแสเงินสดกลับมาจากการลงทุน คุ้มค่าจริงหรือไม่กันแน่
1
แต่ CFROI จะช่วยปิดจุดบอดนี้ได้ โดยจะบอกว่า กระแสเงินสดที่ได้รับจากเงินลงทุน สุดท้ายแล้ว บริษัทได้รับเป็นผลตอบแทน ในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน
หาก CFROI สูง ก็หมายความว่า การลงทุนสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้คุ้มค่า
แต่หาก CFROI ต่ำ ก็หมายความว่า ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเลย
โดยหาก CFROI มีความสอดคล้องกับ ROIC ก็หมายความว่า ROIC ที่เราคำนวณออกมาได้ในตอนแรก ถือว่าเชื่อถือได้
คำนวณหาโดย
(เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน / เงินลงทุนในธุรกิจ) x 100%
ปี 2565 มี CFROI เท่ากับ 108.95%
ปี 2566 มี CFROI เท่ากับ 212.00%
ปี 2567 มี CFROI เท่ากับ 70.86%
ที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ มี CFROI สูงมาก ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับ ROIC เลย
ตรงจุดนี้เอง ที่ช่วยยืนยันได้ว่า เงินลงทุนทำธุรกิจของบริษัทที่ผ่านมา ทำผลตอบแทนกลับคืนมา ทั้งในรูปของกำไรและกระแสเงินสด ได้เป็นอย่างมาก
1
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่า เราน่าจะรู้จักกับ ไทยน้ำทิพย์ ทั้งประวัติความเป็นมา รวมถึงแนวโน้มตัวเลขทางการเงินสำคัญในช่วงที่ผ่านมา กันดีขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์บริษัทให้ลึกซึ้ง ยังมีด้านอื่น ๆ นอกจากตัวเลขทางการเงิน อยู่อีกด้วย
เช่น การวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจต่อจากนี้ ว่าบริษัทจะไปได้ไกล อีกมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการวิเคราะห์ผู้บริหาร ว่ามีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ น่าไว้วางใจหรือไม่
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง งบการเงินคงจะไม่สามารถบอกเราได้ทั้งหมด แต่เราจะต้องไปหาคำตอบมาให้ได้ เพราะจะทำให้การวิเคราะห์ธุรกิจของเรา มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้หากเราคิดเล่น ๆ ดู การเลือกตบเท้าเข้าตลาดหุ้นไทยครั้งนี้ของไทยน้ำทิพย์ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากอยู่เหมือนกัน
2
เพราะนักลงทุนไทย มีโอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่าย แบรนด์เครื่องดื่มโค้ก สำหรับทั้งประเทศไทยได้เลย
จากหุ้นของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโค้ก ในพื้นที่ 63 จังหวัดของไทย ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด
และบริษัท หาดทิพย์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโค้ก ในพื้นที่ 14 จังหวัดทางภาคใต้ที่เหลือ
ต่อจากนี้ ก็น่าติดตามกันต่อไปว่า วันที่ ไทยน้ำทิพย์ เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย บริษัทจะมีมูลค่าเท่าไร และอนาคตของบริษัท จะเป็นไปในทิศทางไหนกัน..
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
#ลงทุน
#หุ้นไทย
#ไทยน้ำทิพย์
References
- ไฟลิ่ง บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โฆษณา