วันนี้ เวลา 01:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ฝันค้างแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต นายกฯ สั่งถอย รื้องบกระตุ้นศก.

นายกฯ สั่ง ‘พิชัย’ ทบทวนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังงบเหลือ 1.5 แสนล้าน ไม่พอแจกดิจิทัล 1 หมื่นบาท ขณะงบลงทุนปี 69 ลดวูบ 7% จ่ายหนี้เพิ่มขึ้น คลังรับกู้เงินเป็นทางเลือกสุดท้าย รับมือภาษีสหรัฐฯ
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทบทวนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยทั้งระบบอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน และความกดดันจากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา
นายพิชัย เปิดเผยว่า การทบทวนครั้งนี้มีจุดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จากปัจจัยนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา รวมถึงการปรับ Outlook เศรษฐกิจไทย โดย Moody’s ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอยากเห็นปรับการลงทุนภายในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“เราได้ออกหนังสือส่งไปยังคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่ต้องเตรียมตัวรับมือนโยบายภาษีสหรัฐ เพื่อให้ทุกท่านรับรู้ว่าเราจะต้องมีการปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีวงเงินเหลืออยู่ 1.57 แสนล้านบาท ว่าจะนำไปใช้ในโครงการด้านใดบ้าง รวมถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตด้วย”
คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจจะพิจารณาภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งในด้านงบประมาณ การส่งออก การขยายฐานภาษี และโครงการต่างๆ ที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการนัดประชุมต่อไป โดยในระหว่างนั้น กรรมการแต่ละคนจะต้องเตรียมการบ้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหารือ
  • เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
กระทรวงการคลังมีแผนเชิญภาคเอกชนมาหารือถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกา เพื่อหาแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ซึ่งอาจต้องเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลจะเข้ามาช่วยในเรื่องดอกเบี้ยเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลง ผ่านการหารือกับสถาบันการเงินหรือ ธปท.
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะต้องพิจารณาหาทางขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ รวมถึงการพิจารณาลดการขาดดุลงบประมาณ ส่วนด้านการเกษตร จะต้องมีการทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งน้ำเพื่อเกษตรกรรมและน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงพิจารณาแผนการเพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวโพด เนื่องจากประเทศมีความต้องการข้าวโพดปีละ 4.5 ล้านตัน
นายพิชัย ยังกล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่า ถ้าสหรัฐส่งไปขายจีนน้อยลง จีนก็ต้องขาดสินค้าบางชนิด ซึ่งตนจะต้องเข้าไปสำรวจ เพื่อหาทางส่งสินค้าไปขายจีนเพิ่มขึ้น และเราอาจจะต้องหาทางปลูกพืชบางชนิดเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวสาลี เป็นต้น
  • การปรับสมดุลการค้ากับสหรัฐ
ทั้งนี้เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางการค้า ไทยได้เร่งปรับสมดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่ม บมจ.ปตท. ได้ลงนามในสัญญาซื้อ LNG จากสหรัฐแล้ว 1 ล้านตัน และมีแผนที่จะซื้อเพิ่มเติมอีก 1.2 ล้านตัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับสมดุลการค้าแล้ว ไทยยังได้ต้นทุนในการซื้อ LNG ที่ไม่สูงอีกด้วย
รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพ ที่ใช้แหล่งเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่น หญ้าเนเปียร์และข้าวโพด ซึ่งจะทำให้การซื้อ LNG ในอนาคตน้อยลง
นายพิชัย อธิบายว่า ราคาก๊าซที่ได้จากโรงไฟฟ้าชีวภาพ ต้นทุนจะอยู่ที่ 3.50 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุน LNG เล็กน้อย แต่จะได้รับผลพลอยได้ คือ เศษซากที่เหลือจากการทำ Bio Gas คือ ปุ๋ย ซึ่งหากเราใช้วัตถุดิบที่ผลิต Bio gas 4 หมื่นตัน จะได้เศษซากที่เป็นปุ๋ย ราว 70% หรือ 2.8 หมื่นตัน ซึ่งสามารถขายในราคาถูกให้กับเกษตรกรได้
  • ความท้าทายด้านงบประมาณ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเผชิญคือข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบกลางรายการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 ที่เคยตั้งไว้ 187,700 ล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 150,000 ล้านบาท หลังจากใช้ไป 37,000 ล้านบาท ในโครงการแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ หากรัฐบาลจะแจกเงิน 10,000 บาท เพิ่มเติมให้กับกลุ่มที่เหลืออีก 18 ล้านคนจะต้องใช้งบประมาณอีก 1.8 แสนล้านบาท ทำให้งบที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ อีก 11 โครงการ ครอบคลุมด้านการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งหากรวมงบประมาณที่ต้องการทั้งหมด อาจมากกว่า 150,000 ล้านบาทที่มีอยู่ จึงต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด
  • เกลี่ยงบปี 69 โปะงบกลาง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเกลี่ยงบประมาณในปัจจุบันมีความท้าทายสูง โดยเฉพาะงบประมาณปี 2568 ที่กฎหมายได้ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้แล้ว หากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดต้องออกเป็นพระราชบัญัติโอนงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งบประมาณสะดุด จึงทำได้เฉพาะการปรับเปลี่ยนกรอบวงเงินการใช้จ่ายภายในกระทรวงที่จะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น
สำหรับงบประมาณปี 2569 หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท แล้ว ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นและเห็นว่าจะไม่มีการปรับปรุงรายละเอียด เนื่องจากหากต้องรื้อทำใหม่จะใช้เวลาอีกพอสมควร ทำให้ไม่ได้มีการปรับแก้มากนัก
แหล่งข่าวระบุว่า ในส่วนของงบประมาณก็ได้จัดเตรียมวงเงินในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว หากช่วงนั้นมีความจำเป็นต้องออกมาตรการบางอย่างมารองรับภาษีทรัมป์ ก็สามารถใช้ในส่วนนี้ได้
  • งบปี 69 ลงทุนลด-จ่ายหนี้พุ่ง
จากการวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2569 พบปัญหาสำคัญของงบประมาณที่จะนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจ คือ รายจ่ายลงทุนลดลงจาก 932,362.1095 ล้านบาท ในปี 2568 เหลือ 864,077.2071 ล้านบาท ในปี 2569 ลดลง 68,284.9024 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.9 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 24.8 ของปี 2568
ขณะเดียวกัน รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เพิ่มขึ้นจาก 150,100 ล้านบาท ในปี 2568 เป็น 151,200 ล้านบาท ในปี 2569 เพิ่มขึ้น 1,100 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 ของวงเงินงบประมาณ
ที่น่าสนใจคือ งบกลางรายการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2569 ถูกตั้งเพียง 25,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ายอดคงเหลือในปี 2568 อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในปีต่อไป
  • การกู้เงินเป็นตัวเลือกสุดท้าย
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การกู้เงินเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจจะเป็นความคิดสุดท้าย เนื่องจากยังมีช่องทางในการใช้งบประมาณที่หลากหลาย เช่น การบริหารงบประมาณ โดยปีงบ 68 ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 1.57 แสนล้านบาท เงินกู้เพื่อการฉุกเฉินตามวงเงินงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเคยใช้ช่วงโควิด และเงินคงคลัง ทั้งนี้ ยังมีการบริหารจัดการงบประมาณปี 69
รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อมีผลกับจีดีพีในปี 68 ซึ่งไม่อยากให้จีดีพีโต 2.1% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการ โดยจะใส่ความพยายามให้เศรษฐกิจโตลดลงจาก 3% ให้ได้น้อยที่สุด
“การกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อมีผลกับจีดีพีในปี 68 ซึ่งเราไม่อยากให้จีดีพีโต 2.1% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการ และมาตรการที่จะออกมาจะมีหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะการบริโภคอย่างเดียว” นายลวรณกล่าว
  • แจกเงินหมื่น ส่งผลแค่ระยะสั้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการแจกเงินหมื่นจะส่งผลเพียงระยะสั้น แนวทางที่ดีกว่าคือโครงการช่วยลดภาระค่าครองชีพที่ร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การขายสินค้าและบริการในราคาต้นทุน ซึ่งจะกระตุ้นการผลิต การจ้างงาน และสร้างผลลัพธ์ระยะยาวมากกว่า
2
“เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 60% และการท่องเที่ยว เมื่อกำลังซื้อลดลงทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ จะกระทบทั้งสองภาคส่วน” นายวิศิษฐ์กล่าว พร้อมย้ำว่า ปัจจุบัน SMEs ชะลอการผลิต ผลิตตามออเดอร์ 3 เดือนยังเป็นไปด้วยความยาก
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และนายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีความเห็นว่า ตลาดอสังหาฯหดตัวแรง ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 90% จึงอยากขอร้องให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อและลดดอกเบี้ย MRR พร้อมให้หน่วยงานราชการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้ารายงวดงาน และให้สถาบันการเงินค้ำประกัน
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เผยว่ามาตรการกระตุ้น ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน คือ การเชิญผู้ประกอบการและ สื่อในตลาดหลัก มาสำรวจเส้นทางในประเทศไทย ได้แก่ จาก จีน รัสเซีย อินเดีย เวียดนาม ตะวันออกกลาง และ ยุโรป
รวมไปถึงการสนับสนุน หรือ ทำ joint promotion ในตลาด จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยออกไปโรดโชว์ ในต่างประเทศ เอเชียตะวันออก และอาเซียน
ส่วนการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องการให้รัฐบาลโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ให้ดำเนินการได้โดยเร็ว การชดเชย ภาษีผู้ประกอบการไทย ในการจัดประชุมสัมนาในประเทศไทย การให้อินเซ็นทีฟ ผู้ประกอบการต่างประเทศมาจัดกิจกรรม ประชุม สัมนา ท่องเที่ยวเป็นรางวัล ในประเทศไทย
1
โฆษณา