Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Double_U
•
ติดตาม
9 พ.ค. เวลา 09:57 • ครอบครัว & เด็ก
เล่ากล่าว ตอนที่2 ชุดนักเรียนสำคัญหรือไม่
ช่วงนี้ใกล้เปิดเทอมแล้วก็เลยอยากมาพูดเรื่องที่เคยเป็นประเด็นแล้วก็ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันซึ่งก็คือ เรื่องชุดนักเรียน คงไม่ต้องอธิบายกันแล้วว่า ชุดนักเรียนเกิดมาได้ยังไง ใครเป็นคนคิด ประวัติศาสตร์ของมันเป็นอย่างไร คุณสามารถหามันได้ในอินเตอร์เน็ต แต่เรากำลังมาพูดถึงคำถามที่ว่า ชุดนักเรียนสำคัญหรือไม่
เคยมีช่วงหนึ่งที่คนไทยดุเดือดกันมากเรื่องชุดนักเรียนและเครื่องแบบ มีการโจมตีกันอย่างรุนแรงถึงขั้นมีการเดินประท้วง ซึ่งสาเหตุก็คือเรื่องชุดเครื่องแบบทั้งเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา ปัญหาของเครื่องแบบก็คือมันมีมากเกินไป เคร่งครัดเกินไป และครูหรือคนที่ไม่พอใจในเครื่องแบบที่ไม่ถูกระเบียบลงโทษคนที่ใส่เครื่องแบบผิดระเบียบรุนแรงเกินไป
ทำไมถึงพูดว่าเครื่องแบบมีมากเกินไป ?
ลองนึกภาพตาม ยกตัวอย่างชุดนักเรียนหญิงประถมโรงเรียนหนึ่ง เสื้อสีขาวคอบัว กระโปรงจีบสีน้ำเงิน ถ้าเป็นผู้หญิงที่โตหน่อยก็ต้องใส่เสื้อกล้าม กางเกงซับใน ถุงเท้า รองเท้า บางที่บังคับให้ผูกโบว์สีที่กำหนด และเนื่องจากประเทศไทยใส่ชุดนักเรียนทั้งวันถ้าซักสลับกันอย่างน้อยก็ต้องมีสองชุด นี่แค่ชุดนักเรียนชุดเดียว ไหนจะชุดพละ รองเท้าผ้าใบ ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ที่มีองค์ประกอบและเครื่องแบบเกิน 10 ชิ้น บางโรงเรียนต้องมีชุดไทย ชุดพื้นเมือง ชุดขาวสำหรับศาสนา และอื่นๆ
จากที่ยกตัวอย่างการที่เด็กคนหนึ่งต้องเข้าโรงเรียนก็ต้องมีชุดที่จำเป็น 5 แบบแล้ว ยังไม่รวมจำนวนชิ้น และคูณสองไปในกรณีฉุกเฉิน อีกอย่างคือเด็กในวัยนี้โตขึ้นทุกวัน อาจต้องเปลี่ยนขนาดของเครื่องแบบทุกปี มันจึงเป็นเงินจำนวนมากทำให้หลายบ้านไม่มีเงินมาจ่ายค่าชุดนักเรียนที่บังคับเยอะแยะ และนั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด
ในสมัยเด็กของดับเบิลยู นุ่งผ้าแดงและชุดนักเรียนในการเรียนรำ และใส่ชุดนักเรียนในวันที่มีวิชาพุทธศาสนาจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงต้องมีชุดพื้นเมืองหรือชุดขาวสำหรับทำกิจกรรมพวกนี้ด้วย แถม-
ชุดลูกเสือ เนตรนารี ก็ไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น แค่สอนให้รู้ถึงการใส่ชุดเครื่องแบบที่ถูกต้อง และเลือกใส่ชุดพละที่มีผ้าพันคอหรือหมวกก็พอแล้ว ดับเบิลยูเคยเห็นคนล้มเป็นลมในวิชาลูกเสือบ่อยมาก ซึ่งมาจากการที่อากาศร้อนแล้วยังต้องใส่เสื้อผ้าหนา เป็นอันตรายต่อเด็ก ดังนั้นจึงอยากให้ลดชนิดและจำนวนของเครื่องแบบลง เพื่อความสบายของกระเป๋าเงินและของเด็กเอง
ทำไมถึงพูดว่าเครื่องแบบเคร่งครัดเกินไป?
จริงๆแล้วเครื่องแบบไทยในหนึ่งชุดไม่ได้มีจำนวนชิ้นมาก คือมีเสื้อ กระโปรงหรือกางเกง รองเท้าและถุงเท้า รวมสี่ชิ้น แต่นักเรียนหลายคนเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามเพราะคิดว่ามันเท่ ไม่นำเสื้อใส่ในกางเกง ใส่ถุงเท้าข้อสั้น ใส่รองเท้าแตะ และความคิดที่ว่าการทำผิดกฎระเบียบมันเป็นสิ่งที่เท่และเป็นที่น่าสนใจของเพื่อน ดับเบิลยูไม่สนับสนุนการแต่งกายที่ไม่เรียบร้อย เราต้องเคารพถึงสถานที่ การแต่งกายอย่างที่กล่าวมาข้างต้นไม่ใช่การแต่งกายที่ผิดระเบียบแต่เป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่
แต่ก็จะมีอีกกรณีหนึ่งที่กฎของโรงเรียนเคร่งครัดเกินไป เช่นสีของโบว์ที่ต้องเป็นสีเดียวเท่านั้น ทั้งที่ควรจะอนุญาตให้เป็นสีสุภาพได้ เช่นอนุญาตให้เป็นสีน้ำเงินสีเดียว แต่เด็กผู้หญิงใช้สีน้ำเงินอาจรู้สึกไม่มั่นใจ อย่าใช้สีน้ำตาลหรือสีขาวมากกว่า ซึ่งทั้งสองสีก็เป็นสีที่สุภาพแต่ผิดกฎของโรงเรียน ในกรณีนี้อยากให้อะลุ่มอล่วยและเปลี่ยนกฎใหม่ให้สามารถใช้สีดังกล่าวได้ เพิ่มจากการอนุญาตเพียงหนึ่งเป็นการอนุญาตสัก3-4 แต่ไม่ใช่อนุญาตทั้งหมด เพราะถ้าอนุญาตทั้งหมดเด็กก็จะสนใจแต่การแต่งตัวโดยที่ไม่สนใจการเรียน
เรื่องนี้ขอบอกเลยว่าเป็นเรื่องจริง การที่เด็กสนใจการแต่งตัวจนเสียการเรียน เด็กหลายคนยังไม่โตพอสำหรับความสวยงาม แต่สำหรับเด็กมอปลายก็ควรอะลุ่มอล่วย แต่ก็ไม่ใช่การปล่อยผ่านละเลย นั่นคือเรื่องที่ยากในสังคมไทย เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ควรอะลุ่มอล่วยคืออะไรและมากแค่ไหน เช่น สมมุติว่าโรงเรียนหนึ่งอนุญาตให้ทาเล็บได้แต่ต้องเป็นสีชมพูอ่อนเท่านั้น เด็กก็ทาสีชมพูอ่อนจริงแต่ต่อเล็บเสียยาว ติดลายทุกนิ้ว หาทุกช่องทางที่จะทำผิดแต่ยังถูกอยู่ได้ หากเด็กคนนี้ถูกลงโทษก็อาจอ้างได้ว่าตนทาเล็บสีชมพูแล้ว ไม่ควรผิดกฎ ฯลฯ
ทำไมถึงพูดว่าลงโทษคนที่ใส่เครื่องแบบผิดกฎรุนแรงเกินไป?
ประเด็นร้อนที่พูดถึงมากที่สุดก่อนหน้านี้คือการที่มีครูหลายคนทำโทษเด็กแบบรุนแรง ตีเจ็บ ให้ยืนกลางสนาม หรือยึดของผิดระเบียบนั้น การลงโทษที่แรงเกินไปไม่ใช่สิ่งที่ดีอยู่แล้วไม่ว่าจะกับเรื่องใดก็ตาม ยิ่งพวกเขาเป็นเด็กต้องยิ่งระมัดระวัง แต่จะปล่อยผ่านไปก็ไม่ได้เพราะเด็กก็จะกลับมาทำอีก หลายคนเลือกใช้วิธียึดของ แต่เด็กเหล่านั้นก็จะโวยวายเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ตัวเองซื้อมา เสียเงินไปหลายบาท ครูบางคนยึดแล้วไม่คืน บางคนยึดแล้วเอาไปให้ลูกตัวเองใช้
บางคนอ้างว่าที่ไม่คืนเพราะเด็กก็จะเอามาใส่อีก ซึ่งก็อาจจริง ทางออกของเรื่องนี้ที่ดับเบิลยูคิดคือ ยึดของแล้วเรียกผู้ปกครองมาพบ หรือโทรแจ้งผู้ปกครอง ว่าลูกทำผิดกฎอย่างไรแล้วคืนของสิ่งนั้นให้ผู้ปกครอง ให้หน้าที่การดุเป็นของผู้ปกครองต่อไป เด็กจะกลัวและไม่กล้าทำอีก แต่ถ้าทำแบบนี้แล้วเด็กยังทำอีกแปลว่าผู้ปกครองไม่ได้สนใจเด็ก ต้องหาวิธีอื่นต่อไป เห็นไหมว่าวิธีที่นุ่มนวลไม่ต้องตี หรือยึดไปไม่คืนก็สามารถลงโทษเด็กได้ หากทำแบบนี้ทุกโรงเรียนปัญหาเรื่องเด็กบาดเจ็บหรือถูกครูยึดของก็จะหมดไป
ขอสรุปสั้นๆเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแบบในบทความนี้คือ 1. ลดจำนวนชนิดของเครื่องแบบลง ให้เหลือเฉพาะเครื่องแบบที่จำเป็นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง การใส่เครื่องแบบที่สอดคล้องกับการเรียนไม่ได้เป็นการรับประกันว่าเด็กจะซึมซับสิ่งที่เรียนได้มากขึ้น 2. มีกฎอะลุ่มอล่วยให้กับเครื่องแบบที่ชัดเจน ไม่เคร่งเกินไปและไม่หย่อนเกินไป การจดจ่ออยู่กับเครื่องแบบจะทำให้เด็กเสียการเรียนได้ 3. ไม่ลงโทษแบบรุนแรงหากเด็กใส่เครื่องแบบผิดกฎ ไม่ยึดของของนักเรียน ให้ใช้วิธีโทรหาผู้ปกครอง หรืออื่นๆตามเหมาะสมแทน
ขอเพิ่มอีกนิดเกี่ยวกับบทลงโทษการใส่เครื่องแบบผิดกฎระเบียบ บางแห่งใช้วิธีหักคะแนนจิตพิสัย แต่เด็กเกเรที่ใส่เครื่องแบบผิดระเบียบจะสนใจคะแนนจิตพิสัยไปทำไม เด็กไม่สนใจอยู่แล้วมีแต่ผู้ปกครองเนี่ยแหละที่สนใจแล้วจะมาโวยวายกับโรงเรียนว่าลูกฉันเกรดไม่ดีเพราะคะแนนจิตพิสัยในวันเกรดออก ดังนั้นหากอยากใช้วิธีนี้จริงควรโทรบอกผู้ปกครองตั้งแต่แรกว่าจะหักคะแนนในส่วนนี้และไม่มีสิทธิ์เรียกร้องในวันที่เกรดออก เด็กนักเรียนเป็นหน้าที่ของครูและผู้ปกครองที่ต้องดูแล ถ้าไม่ร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายจะเติบโตได้อย่างไร
เล่ากล่าวตอนสองก็มีเพียงเท่านี้ หัวข้อนี้เคยเป็นประเด็นร้อนและเถียงกันใหญ่โตมาก่อน ดังนั้นกรุณาแสดงความคิดเห็นกันอย่างสุภาพและมีเหตุผล ส่วนตัวดับเบิลยูชอบใส่เครื่องแบบ เพราะขี้เกียจคิดว่าพรุ่งนี้จะใส่อะไรดี แถมยังเป็นคนชอบรีดผ้า การรีดผ้าหรือใส่เครื่องแบบมาโรงเรียนจึงไม่เป็นปัญหา และไม่เคยถูกตำหนิเรื่องการใส่เครื่องแบบเลย แต่เห็นโพสต์ของพ่อแม่หลายคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องแบบประกอบกับนึกถึงประเด็นขึ้นมาได้จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาค่ะ
ความคิดเห็น
โรงเรียน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย