Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 11:35 • ไลฟ์สไตล์
รวยแบบไหนถึงรวยได้นาน? เพราะ “หาเงิน” กับ “เก็บเงินให้อยู่” คือทักษะคนละชุด
🏢 กลางทศวรรษ 1920 อับราฮัม เจอร์แมนสกี (Abraham Germansky) คือมหาเศรษฐีแห่งโลกอสังหาฯ แถมยังคลั่งไคล้การลงทุนในตลาดหุ้น เขาทุ่มเงินใส่ตลาดราวกับมันไม่มีวันตก
เข้าใจได้ เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ‘The Roaring Twenties’ ที่เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูและประเทศประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมากมาย
แต่อย่างที่เรารู้ ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา
ในวันพฤหัสบดี ที่ 24 ตุลาคม 1929 หรือ ‘Black Thursday’ มาถึง ฟองสบู่แตก ผู้คนแตกตื่นขายเททุกอย่าง เจอร์แมนสกีหายตัวไปพร้อมทรัพย์สินที่กลายเป็นเศษกระดาษ ข่าวสั้นๆ ใน “The New York Times” เขียนเอาไว้ว่าทนายกำลังตามหาตัวเขาอยู่—ครั้งสุดท้ายคือบ่ายวันพฤหัสบดีนั้น เพื่อนของเขาเห็นเขาฉีกตั๋วกระดาษ (ใบหุ้น) แล้วโปรยมันขึ้นบนอากาศแล้วเดินจากไป
1
แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นเศรษฐีผู้นี้อีกเลย
สัปดาห์เดียวกัน เจสซี ลิเวอร์มอร์ (Jesse Livermore) เจ้าพ่อเก็งกำไรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในโลกการลงทุน เดินกลับเข้ามาที่บ้านพร้อมรอยยิ้ม
ภรรยาของเขารู้ข่าวเรื่องตลาดหุ้นและความโกลาหลที่เกิดขึ้น เตรียมใจรับสภาพแล้วว่าต่อไปชีวิตคงลำบาก แต่ลิเวอร์มอร์กลับกระซิบบอกว่า “ไม่ต้องประหยัดแล้วนะที่รัก วันนี้ผมทำเงินได้มากที่สุดในชีวิต” แค่วันเดียวเขากวาดกำไรเทียบค่าเงินปัจจุบันกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ จากการ ‘ชอร์ต’ ตลาด
😭 เหตุการณ์เดียวกัน สองชีวิต สองขั้ว—คนหนึ่งสิ้นเนื้อประดาตัว อีกคนขึ้นแท่นคนรวยที่สุดในโลก
ถ้าเรื่องจบแค่นี้ก็คงง่ายไป ทว่าเพียงสี่ปีถัดมา ลิเวอร์มอร์ใช้ชัยชนะเป็นเชื้อไฟเดิมพันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายพอร์ตแตก เสียศักดิ์ศรีและสภาพคล่อง เหลือเพียงหนี้สินกับความละอาย เขาหายตัวไปสองวันก่อนกลับมาอย่างคนหมดไฟในปี 1933 แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นคนเดิมได้ และเลือกที่จะจบชีวิตตนเองในปี 1940 ด้วยอายุเพียงแค่ 63 ปีเท่านั้น
หลายคนยกให้ เจสซี ลิเวอร์มอร์ เป็นสุดยอดเทรดเดอร์ตลอดกาล ทว่าอีกฝ่ายกลับมองว่าชีวิตของเขาเป็นบทเตือนใจถึงอันตรายของการใช้ Leverage หวังผลกำไรมหาศาล แทนที่จะเลือกกลยุทธ์ที่มุ่งเก็บผลตอบแทนที่ขนาดเล็กแต่สม่ำเสมอและมั่นคงกว่า
แต่นั้นแหละครับ จุดจบของลิเวอร์มอร์ซ้อนทับชะตาของเจอร์แมนสกี—ต่างกันแค่จังหวะเวลา
มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) บอกว่าเรื่องเล่าสั้น ๆ นี้สะท้อนบทเรียนทางการเงินอย่างหนึ่งว่า “หาเงิน” กับ “เก็บเงินให้อยู่” คือทักษะคนละชุดจริง ๆ
🌱 [ ความสำเร็จมักฝังเมล็ดพันธุ์ความพินาศ ]
เศรษฐกิจหมุนเป็นวงจร—เฟื่องฟูจนราคาแพง แพงจนคนตระหนก ตระหนกจนเกิดภาวะถดถอย แล้วความฝืดเคืองทำให้เกิดของขาด กระตุ้นรอบใหม่ของความเฟื่องฟู
ทุกคลื่นย่อมย้อนตีกลับ เข้ามา แล้ว เคลื่อนตัวกลับออกไป
ในวันที่ฟ้าเปิด น้ำทะเลนิ่งสงบ และเรือแล่นได้อย่างราบรื่นที่สุด น้อยคนจะคิดถึงเสื้อชูชีพ หรือเรือชูชีพ
ของเหล่านี้มักจะถูกมองเป็นของที่ "เอาไว้ใช้ยามฉุกเฉิน" ซึ่ง…ดูห่างไกลเกินกว่าจะให้ความสำคัญในวันนี้
แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าเหตุการณ์ไม่คาดคิดมักเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก—ไม่ว่าจะเป็นฟองสบู่ตลาดหุ้น, วิกฤตการเงินปี 2008, โควิด-19 , สงคราม, ภาวะเงินเฟ้อ หรือแม้แต่ตัวผู้นำที่ดูเหมือนจะบริหารประเทศผ่านทวิตเตอร์ที่ไม่มีใครคาดเดาได้แม่นยำล่วงหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือความปั่นป่วนเหล่านี้ “จะเกิดอีก”
ดังนั้น สิ่งที่เราควบคุมได้จริงๆ ไม่ใช่พายุ แต่คือ “การเตรียมตัว” ของเรามากกว่า
บริษัทและคนก็เช่นกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อนิสัยและพฤติกรรมของเราเอง
หากร่ำรวยได้ หาเงินได้เก่ง เราเริ่มเชื่อว่าตัวเอง ‘ถูกเสมอ’ เปิดรับสิ่งใหม่ลดลง ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ไม่เตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง
และเมื่อโลกเปลี่ยน—ไม่ว่าจะเทคโนโลยี คู่แข่ง หรือพฤติกรรมผู้บริโภค—จุดแข็งเดิมกลายเป็นจุดอ่อนทันที
แอนดี โกรฟ (Andy Grove)ผู้ก่อตั้งบริษัท Intel เคยเตือนว่า “ความสำเร็จทางธุรกิจมีเมล็ดพันธุ์แห่งการล่มสลายซ่อนอยู่”
เขาจึงปลูกฝังวัฒนธรรม “หวาดกลัวอย่างสร้างสรรค์” (healthy paranoia) ให้ทีมเสมอ
📖 สื่อ Harvard Business Review เขียนเอาไว้ว่า
“โกรฟเชื่อว่าการมี “ความกลัวเล็ก ๆ” เป็นเรื่องดี — โดยเฉพาะในองค์กรที่เคยลิ้มรสความสำเร็จมาแล้ว เพราะความกลัวทำหน้าที่เป็นยาถอนพิษให้กับความเฉื่อยชาและความพึงพอใจเกินเหตุที่มักตามมาหลังชัยชนะ เขาจึงให้มี “ความระแวง” เล็กน้อยไว้เสมอ — ความรู้สึกสงสัยว่าโลกอาจกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ไม่เข้าข้างเรา”
แม้แต่ บิล เกตส์ (Bill Gates) ตอนที่เริ่มทำบริษัท Microsoft แม้จะประสบความสำเร็จและเติบโตเร็วแค่ไหน เขาก็มักระวังความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและเก็บเงินสำรองของบริษัทไว้เผื่อจ่ายให้กับพนักงานเป็นระยะเวลา 1 ปีเสมอ
ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเขาบอกว่า “ผมตั้งใจจะเก็บเงินสดไว้ในธนาคารให้พอจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ทั้งปี แม้จะไม่มีรายรับเข้ามาเลยก็ตาม และแทบตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมก็รักษากฎข้อนี้ไว้ได้จริง ๆ”
Microsoft ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรับตัวได้ทัน และไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต จนสามารถก้าวผ่านไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างสวยงาม จากเมื่อก่อนคือบริษัทขายซอฟต์แวร์ ถ้าไม่เปลี่ยนและยังยึดติดกับการขาย Windows หรือ Microsoft Office พวกเขาอาจจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์แล้วก็ได้
ตอนนี้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้นำด้าน AI ด้วยการร่วมมือกับ OpenAI สำหรับยุคสมัยต่อไปด้วย
หรืออย่าง Netflix ที่ยอมปิดธุรกิจ DVD ของตัวเองเมื่อรู้แล้วว่าสตรีมมิงกำลังจะมา
ในโลกธุรกิจไม่ว่า ‘คูเมืองลึก’ แค่ไหน ก็สามารถถูกสั่นคลอนได้ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง
💰 [ แล้วเราจะ ‘รวยให้นาน’ ได้ยังไง? ]
เฮาเซิล สรุปไว้แบบนี้ว่า “หนทางสู่ความร่ำรวยมีเป็นล้านวิธี แต่หนทางเดียวที่จะรักษาความมั่งคั่งไว้ได้ คือ ‘ความถ่อมตัว’ — ถ่อมจนบางครั้งแทบเป็นความระแวงเลยทีเดียว และชวนย้อนแย้งตรงที่ แทบไม่มีอะไรทำลายความถ่อมตัวได้รวดเร็วเท่ากับการร่ำรวยเสียเอง”
1
อยากรวยได้นานต้อง
1. หาให้เก่ง – ใช้ความกล้า เสี่ยงคำนวณผลได้ผลเสีย เห็นโอกาสก่อนใคร
2. ยอมรับความไม่แน่นอน – ความสำเร็จเมื่อวานอาจไร้ค่าพรุ่งนี้
3. ถ่อมตัวให้สุด - ไม่มีอะไรทำลาย ego ให้แตกละเอียดได้ดีเท่าตลาดขาลงอีกแล้ว
บทเรียนอีกอย่างหนึ่งจากชีวิตของลิเวอร์มอร์คือการ “เก็บเงินให้อยู่” เป็นเรื่องที่ยากมาก ตลอดชีวิตการทำงานของเขาขึ้นสุดลงสุดมาหลายรอบ รวยสุดขั้วแล้วก็จนสุดขีดมาไม่ต่ำกว่า 4 รอบ และเงื่อนไขก็เหมือนเดิมทุกครั้ง—กำไรใหญ่ → มั่นใจเกินเหตุ → ใช้เลเวอเรจ → ตลาดพลิก → ล้างพอร์ต
แน่นอนว่าเราอาจจะไม่ได้มีการใช้ Leverage เหมือนอย่างลิเวอร์มอร์ แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจคือจิตวิทยาเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า
เราอาจจะลงทุนในตลาดขาขึ้นพอดี กลายเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย คิดเอาว่าตัวเองเป็นเซียนหุ้น ลงทุนหนักขึ้นไปอีก
แต่อย่างที่โกรฟบอก “ความสำเร็จทางธุรกิจมีเมล็ดพันธุ์แห่งการล่มสลายซ่อนอยู่”
เมื่อวัฏจักรเปลี่ยน แล้วเราไร้ภูมิคุ้มกัน สุดท้ายทุกอย่างจะพังทลายลง
คนทั่วไปอาจไม่มีเลเวอเรจระดับนั้น แต่รูปแบบทางจิตวิทยาเหมือนกันเป๊ะ เราได้โบนัสก้อนโตแล้วเชื่อว่าลงหุ้น *อะไรก็ขึ้น* เราซื้อคอนโดหลังแรกแล้วคิดว่าตัวเองเป็นกูรูอสังหาฯ … จนวัฏจักรเปลี่ยน เรากลับไร้ภูมิคุ้มกัน
🎯 การได้มาซึ่งความมั่งคั่ง ต้องการสายตาแหลมคม กล้าได้กล้าเสีย แต่การรักษาความมั่งคั่งต้องการหัวใจที่ยอมรับว่า “ฉันอาจมองพลาด” อยู่ทุกวัน
ถ้าคุณเพิ่งทำกำไรก้อนโต นั่นคือสัญญาณเตือนให้ควร “ถ่อมตัวเป็นพิเศษ” เพราะความสำเร็จอาจจะกำลังบังตาเราไม่เห็นว่าไฟไหม้อยู่ตรงหน้า
ตรงกันข้าม หากคุณกำลังฝังตัวอยู่ในโหมดระวังภัยจนอาจพลาดโอกาสใหญ่ ก็อย่าลืมว่า “กลัวเกินไป” ก็เท่ากับถอยหลังในโลกที่เคลื่อนที่ตลอดเวลา
จงกล้าพอจะวิ่งไล่คว้าโอกาส แต่จงกลัวพอจะหยุดมองว่าเส้นทางข้างหน้ามีหน้าผารออยู่รึเปล่า
สุดท้าย คำถามที่สำคัญไม่ใช่ “จะรวยได้ไหม?” แต่คือ **“รวยแบบไหนถึงจะรวยได้นาน?”**
เพราะเส้นทางสู่ความร่ำรวยกับการรักษามันเอาไว้ เป็นสองทักษะที่แตกต่างกัน
การเป็นเศรษฐีสอนให้เราเชื่อว่าตัวเองเก่ง
แต่การอยู่รอดสอนให้เรารู้ว่าโลกเปลี่ยนเร็วแค่ไหน
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
อ้างอิง :
https://www.americanheritage.com/good-bye-everything
https://www.alphapicks.co.uk/.../the-original-wolf-of
...
https://vt.tiktok.com/ZSh8JLCg9/
https://collabfund.com/blog/getting-rich-vs-staying-rich/
https://youtu.be/uxu37dqVR90?si=JTDKfl4dsiFoSD3h
https://finance.yahoo.com/.../bill-gates-ensured
...
#GettingRich #StayingRich #การเงินส่วนบุคคล #แนวทางการเก็บเงินให้อยู่ #ทักษะการเงิน
4 บันทึก
9
2
4
9
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย