เมื่อวาน เวลา 10:06 • การเมือง

ความสัมพันธ์ “จีน” “รัสเซีย” ผ่านมุมมอง “วันแห่งชัยชนะ” ครบรอบ 80 ปี

ท่ามกลาง “สงครามยูเครน” และ “สงครามการค้า สหรัฐ-จีน”
เมื่อ 7 พฤษภาคม 2025 “สี จิ้นผิง” เดินทางถึงกรุงมอสโกเพื่อเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ และในช่วงเลี้ยงน้ำชาต้อนรับได้หารือกับ “ปูติน” โดยทั้งสองได้หารือถึง “สงครามในยูเครน” และเข้าร่วมขบวนสวนสนามแห่งชัยชนะที่จัตุรัสแดง การเยือนของประธานาธิบดีจีนจะมีขึ้นจนถึง 10 พฤษภาคม 2025 [1]
เครมลินระบุว่าการมาเยือนของ สี จิ้นผิง เป็นชัยชนะทางการทูตท่ามกลางการปฏิเสธของผู้นำรัฐคนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 80 ปี วันแห่งชัยชนะ รวมถึงวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ เนื้อหาในบทความนี้เป็นบทคัดย่อจากบทความฉบับเต็มจากสถาบันวิจัย Re: Russia [2]
เครดิตภาพ: Xinhua/Xie Huanchi
การเข้าร่วมพิธีฉลองวันแห่งชัยชนะครบรอบ 80 ปี ของ “สี จิ้นผิง” ถือเป็นไฮไลท์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เลยก็ว่าได้ของพิธีในปีนี้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ว่าความพยายามของ “รัฐบาลทรัมป์” ในการพยายามสร้างรอยร้าวระหว่างจีนและรัสเซียล้มเหลวไม่เป็นท่า
แต่กลุ่มนักวิเคราะห์ของ Re: Russia มองว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซีย-จีน อาจดูไม่มั่นคงและเปราะบางได้ในระยะยาว ซึ่งวิกฤตในความสัมพันธ์อาจเป็นผลมาจากไม่ใช่แรงกดดันจากภายนอก แต่เป็นผลจากตรรกะหรือแรงผลักดันภายในของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเอง
  • ใครคือผู้ชนะ
บทความต้นเรื่องระบุว่า “จีนเป็นผู้ชนะเต็มประตูเหนือรัสเซีย” ถึงจะมีการพูดถึงคำว่า “มิตรภาพไร้พรมแดน” จีนได้ทั้งขึ้นทั้งร่องในความสัมพันธ์กับรัสเซีย
จีนเป็นผู้สั่งซื้อและนำเข้าทรัพยากรของรัสเซียรายใหญ่และเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญให้กับรัสเซีย ส่วนแบ่งของวัตถุดิบในด้านแร่ธาตุที่เป็นสินค้าส่งออกของรัสเซียไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นเกือบ 80% ในขณะเดียวกันการลงทุนโดยตรงของจีนในรัสเซียยังคงน้อยมากและแทบจะไม่มีการเติบโตเลย
ดังนั้นบทวิเคราะห์ต้นเรื่องจึงเขียนว่า รูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับรัสเซียจึงดูเป็นเหมือนอาณานิคมมากกว่าความร่วมมือระหว่างรัสเซียและยุโรปในช่วงก่อนสงครามเสียอีก หากจะเปรียบเทียบก็อาจเทียบได้กับภาพลักษณ์ของรัสเซียในการค้ากับยุโรปในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งรัสเซียได้พัฒนาไปไกลแล้วในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
1
เครดิตภาพ: Newsweek
การพึ่งพาทางเศรษฐกิจบังคับให้รัสเซียต้องยอมผ่อนปรนต่อจีนและจำกัดความทะเยอทะยานในหลายๆ ด้าน ในการต่อสู้เพื่อโลกที่มีขั้วอำนาจหลายขั้วกับตะวันตก รัสเซียเองก็พบว่าตัวเองอยู่ในโลกที่มีขั้วอำนาจเดียวซึ่งโอกาสต่างๆ ของรัสเซียกำลังลดลงแทนที่จะขยายตัว
ชนชั้นสูงและความคิดเห็นของชาวรัสเซียเชื่อในแนวคิดเรื่อง “จุดเปลี่ยนสู่ขั้วตะวันออก” แต่พวกเขาอาจจะต้องผิดหวังอย่างมากในอนาคตอันใกล้นี้ แนวคิดด้านชาตินิยมของปูตินหรือจักรวรรดินิยมของพวกเขาอาจกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิด “ความขุ่นเคืองกับจีน” มากขึ้น แทนที่จะเป็น “ความขุ่นเคืองกับชาติตะวันตก”
  • สัญลักษณ์ต่อต้านทรัมป์
การที่ “สี จิ้นผิง” มาเข้าร่วมพิธีครบรอบ 80 ปีนี้ คาดว่าได้รับการวางแผนไว้ตั้งแต่แรกเพื่อครั้งฉลองครบรอบ 70 ปีในปี 2015 ตอนนั้นปูตินก็ได้ไปฉลองครบรอบการสิ้นสุด WWII ในพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารทางฝั่งแปซิฟิกในวันที่ 3 กันยายน 2015 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การที่ปูตินและสีเฉลิมฉลองครบรอบการยอมจำนนของฝ่ายอักษะคือเยอรมนีและญี่ปุ่นร่วมกัน โดยฉลองแยกจากผู้นำฝั่งตะวันตก (ยุโรป กับ อเมริกา) ก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์เพิ่มเติมเข้ามาด้วย
ปูตินเดินทางมาร่วมฉลองพิธีครบรอบ 70 ปี สิ้นสุด WWII ทางฝั่งแปซิฟิก ที่ปักกิ่ง เมื่อ 3 กันยายน 2015 เครดิตภาพ: Damir Sagolj / Reuters
อย่างที่เรารู้กันดีตอนนี้จีนกำลังอยู่ในช่วง “สงครามการค้า” กับสหรัฐ และทรัมป์เองก็กำลังผูกมิตรกับปูตินเพื่อหวังดึงรัสเซียให้ออกห่างจากจีน
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์คือ ในวันพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ปูตินและสีได้พูดคุยผ่านวิดีโอลิงค์ซึ่งคาดว่าคุยกันเรื่องการรับมือกับทรัมป์สมัยสอง และการให้คำมั่นว่าจะเดินทางมาเข้าร่วมพิธีสวนสนามวันแห่งชัยชนะเมื่อ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา และยืนเคียงข้างกันบนจัตุรัสแดง
ซึ่งนี่ไม่ใช่ขบวนสวนสนามแห่งชัยชนะเหนือยูเครน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ดูเหมือนขบวนแห่งความสามัคคีทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมอสโกและปักกิ่ง ซึ่งต่อต้านการโจมตีทางการทูตของวอชิงตัน
“แผนของทรัมป์-วิตคอฟ” ดูออกง่ายมาก พวกเขาต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง รัสเซีย-จีน โครงการความร่วมมือด้านพลังงานและอาร์กติกระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียยังคงคลุมเครือและเป็นเพียงสมมติฐาน ไม่รู้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ออกข่าวมาเพื่อหวังสร้างความร้าวฉานกับจีน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัดตอนนี้คือ “ข้อตกลงแร่กับยูเครน” ซึ่งเริ่มเซ็นไปแล้วฉบับแรก สหรัฐได้เข้ามาหาผลประโยชน์ในดินแดนภูมิภาคนี้เพื่อต่อต้านจีนโดยตรง ในขณะที่การพึ่งพาจีนของรัสเซียยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติมาก ถึงแม้สหรัฐจะยอมผ่อนปรนมาตรการต่อรัสเซียไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามความร่วมมือระหว่าง “รัสเซีย” และ “จีน” ยังคงเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้งปูตินและสีได้สร้างรากฐานในความเป็นปฏิปักษ์ต่อลัทธิเสรีนิยมตะวันตก และการปรับนโยบายต่างประเทศ ซึ่งเป็นความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจและกฎของเกมบนเวทีโลก
เครดิตภาพ: Tagesspiegel
จากบทความของ Foreign Affairs เมื่อเมษายน 2025 ความขัดแย้งระหว่างมอสโกและปักกิ่งในช่วงสงครามเย็น ไม่ใช่ผลจากความพยายามของสหรัฐฯ แต่เป็นผลจากตรรกะบางประการของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศคอมมิวนิสต์เอง [3]
ผู้เขียนต้นเรื่องเตือนว่า ในปัจจุบันความขัดแย้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากภายนอกเหมือนกับในอดีต และความพยายามแทรกแซงความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างโจ่งแจ้งโดยฝ่ายตรงข้ามทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มที่จะทำให้ความเป็นพันธมิตรนี้แข็งแกร่งขึ้นมากกว่าที่จะทำให้อ่อนแอลง เหมือนกับตอนนี้ที่ทรัมป์กำลังผูกมิตรกับเครมลินนั้นก็ย่อมจะล้มเหลว
  • ดุลการค้าและผลที่ตามมา
ปัจจัยหลักที่อาจทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีนไม่มั่นคงในระยะยาวก็คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ซึ่งส่งให้ผลประโยชน์ต่อรัสเซียน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจีน
ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรของจีน ปริมาณการค้าระหว่างรัสเซียกับจีนมีมูลค่าถึง 2.45 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2024 คิดเป็นส่วนแบ่งของจีนในมูลค่าการค้าต่างประเทศของรัสเซียอยู่ที่ 35% ในขณะที่ส่วนแบ่งการค้าของรัสเซียกับยุโรปลดลงเหลือ 11% (ด้วยเรื่องคว่ำบาตร) เมื่อเทียบกับก่อนเกิดสงครามยูเครน รัสเซียมีส่วนแบ่งการค้ากับยุโรปพอๆ กับจีนตอนนี้คือ 35% ขณะที่กับจีนมีแค่ 18% [4][5]
การส่งจ่ายน้ำมัน ก๊าซ และวัตถุดิบอื่นๆ ของรัสเซียให้กับจีน ซึ่งบางครั้งอาจมีส่วนลดสูงถึง 45% เมื่อเทียบกับราคาที่ขายให้กับยุโรป ในบริบทฝั่งรัสเซียของการคว่ำบาตรและการแตกหักกับตะวันตก รัสเซียไม่มีทางเลือกมากนักในการส่งออกวัตถุดิบแร่หรือหาซัพพลายเออร์ทางเลือกสำหรับการนำเข้าที่สำคัญ มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 60% ของการนำเข้าของรัสเซียจากจีนเป็นผลิตภัณฑ์ไฮเทค เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่น
ข้อได้เปรียบในการเป็นซัพพลายเออร์และผู้ซื้อรายใหญ่เพียงรายเดียว ทำให้เกิดภาวะกึ่งผูกขาด ทำให้จีนมีโอกาสมากมายในการขยายตลาดเข้ารัสเซีย หากสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงยุติสงครามการค้าได้อย่างรวดเร็ว จีนอาจลดค่าเงินหยวน เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือในการส่งออกและนโยบายด้านอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เกิดเงื่อนไขในการขยายการนำเข้าสินค้าจากจีนเข้ารัสเซียต่อไป
Kirill Tremasov ที่ปรึกษาประธานธนาคารกลางรัสเซียกังวล ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่สกุลเงินสำรองของรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบด้วย
เครดิตภาพ: KIRILL KUDRYAVTSEV / AFP via Getty Images
  • ด้านการทหาร
รัสเซียถือเป็นผู้นำในความสัมพันธ์ทวิภาคีมาโดยตลอดกับจีน ตามข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าในช่วงทศวรรษปี 2000 จีนได้ซื้ออาวุธจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก และด้วยความช่วยเหลือจากรัสเซีย จีนได้ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเป็นส่วนใหญ่ [6]
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษปี 2000 เป็นต้นมา การซื้ออาวุธจากรัสเซียของจีนลดลงอย่างมากด้วยเหตุผลสองประการ คือ จีนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของตนเองและเพิ่มนำเข้าอาวุธที่ไม่ใช่ของรัสเซีย
ข้อมูลจาก CSIS ระบุว่ารัสเซียกล่าวหาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนแอบคัดลอกเทคโนโลยีทางการทหาร รวมถึงละเมิดข้อตกลงกับซัพพลายเออร์อาวุธของรัสเซีย และทำวิศวกรรมย้อนกลับอาวุธของรัสเซีย [7]
เมื่อถึงจุดที่จีนต้องการอาวุธและเทคโนโลยีของรัสเซียน้อยลงเรื่อยๆ หลังจากสงครามยูเครนเต็มรูปแบบเริ่มปี 2022 ความร่วมมือทางการทหารก็ถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อรัสเซียพบว่าตนเองเสียส่วนแบ่งในการส่งออกอาวุธทั่วโลกลดลงจาก 20% ในช่วงกลางทศวรรษ 2010 เหลือ 4% ในปี 2024 (จริงแล้วเพราะพวกเขาต้องเก็บไว้ใช้ในสงคราม) จีนกลับเพิ่มการส่งออกอาวุธทางทหาร และภายในปี 2023-2024 จีนแซงหน้ารัสเซียในส่วนแบ่งการส่งออกอาวุธทั่วโลก ตามข้อมูลของ SIPRI
2
เครดิตภาพ: Maxim Bogovid / AP / RIA Novosti
เรียบเรียงโดย Right Style
10th May 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Sergey Bobylev / RIA Novosti / Reuters>
โฆษณา