11 พ.ค. เวลา 02:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ปมร้อนวิกฤตสินค้าเกษตรไทย เมื่อ “เวียดนาม” หายใจรดต้นคอ

  • มูลค่าจีดีพีประเทศไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน 1.9% และมองข้ามการคู่แข่งอย่าง “เวียดนาม” ที่พร้อมสปีดสู้ไทยในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “ธุรกิจด้านการเกษตร”
  • การส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2567 ของเวียดนามมีมูลค่า 62,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยคิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยถูกประเทศเวียดนามแซงหน้าไปเล็กน้อย
  • เวียดนามกำลังพัฒนาเร็วในทุกอุตสาหกรรม ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีมีความต่อเนื่อง ชัดเจน ขณะที่ไทยพัฒนาได้ช้ากว่า เปลี่ยนนโยบายไปมาตามยุคสมัยของนักการเมือง
เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2566 ประเทศไทยมูลค่าจีดีพีขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2565 อาจมองได้ว่าประเทศไทยเริ่มชะลอการเติบโต แต่อีกมุมคือการลงทุนและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มช้าและลดน้อยลง แม้ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยังคงมีศักยภาพสูง เดินหน้าแข่งขันในอยู่ตลาดโลกได้
แต่หลายโปรดักส์กลับวนเวียนอยู่ในจุดเดิม และมองข้ามการพัฒนาของประเทศคู่แข่งอย่าง “เวียดนาม” ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ที่พร้อมสปีดสู้ไทยในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “ธุรกิจด้านการเกษตร”
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ระบุ มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามในปี 2567 คาดว่าจะสร้างสถิติใหม่ถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหากรวมการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมงจะมีมูลค่าสูงถึง 62,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับปี 2566 สินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ 1.ผลไม้ 2.ข้าว 3.กาแฟ 4.เม็ดมะม่วงหิมพานต์
ขณะข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่ไทย เผยสถิติการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร(สินค้ากสิกรรม สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง) ปี 2567 ขยายตัว 5.4% คิดเป็นมูลค่า 52,185.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.7-1.8 ล้านล้านบาท) นับเป็นครั้งแรกที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเกินกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวที่ 6.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สินค้าเกษตรที่ส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ผลไม้สด 2.ข้าว 3.ยางพารา 4. ไก่ และ 5. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกตลอดจนสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนามมีความใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังมีตลาดหลักใหญ่ที่สุดร่วมกันคือ "จีน" แม้แบรนด์ "ประเทศไทย" จะยังคงแข็งแรงในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าเกษตรไทยถูกประเทศเวียดนามจี้จนแทบหายใจรดต้นคอและแซงหน้าไปเล็กน้อย จนผู้ประกอบการไทยให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
แหล่งข่าวในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในทุกอุตสาหกรรมของประเทศไทยตอนนี้ถือว่าอยู่ในจุดอิ่มตัวมากกว่าเวียดนาม ขาดแรงตระตุ้นสำหรับการแข่งขัน รวมทั้งขาดความเด็ดในการวางนโยบายของภาครัฐ ทำให้ทุกอย่างล่าช้า หากยกตัวอย่างผลผลิตทางการเกษตรเรื่อง “ข้าว” อาจเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพราะการผลิตข้าวของเวียดนามจี้หลังข้าวไทยและประเทศไทยก็เสียแช้มป์การส่งออกหลายปีแล้ว
“เวียดนามทุ่มงบประมาณทั้งการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวเป็นจำนวนมาก ในปี 2566 ข้าว ST25 ของเวียดนามก็ได้รับรางวัลการประกวดสายพันธุ์ข้าวดีที่สุดในโลก ขณะที่ข้าวไทยกลับล้าหลัง แม้มีข้าวหอมมะลิแต่ก็มีมูลค่าสูงไม่ตอบโจทย์ตลาดที่ต้องการข้าวราคาถูก ทำให้การแข่งขันกับเวียดนามค่อนข้างยาก นอกจากนี้ค่าแรงของเวียดนามก็ถูกกว่าไทยอีก”
ขณะที่นายสมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตส่วนผสมอาหาร เครื่องเทศและเครื่องปรุงรส กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในภูมิภาคเดียวกันประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำเทรนด์ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยมีประเทศเวียดนามตามหลังมาติด ๆ ซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาที่เร็วและตอนนี้ลงทุนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารค่อนข้างสูง มีนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
“ประเทศเวียดนามให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงกับนักลงทุน จึงดึงดูดนักลงทุนได้ดีกว่าไทย ตลาดในประเทศก็ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ แม้ค่าแรงไม่อาจเทียบกับไทยได้แต่กำลังซื้อถือว่าดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในมุมมองของโบรกเกอร์ยังบอกว่า สินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา คู่แข่งในภูมิภาคเดียวกันก็คือเวียดนาม”
ด้าน นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าการเกษตรของเวียดนามถือว่าเติบโตแซงหน้าประเทศไทยไปแล้วในบางอย่าง เช่น ข้าว และผลไม้อื่น ๆ นอกจากนี้ยังพัฒนารวดเร็วด้วยการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่มีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่องได้ทันที เรียกว่าแรงขับเคลื่อนของทั้งประเทศดีดตัวขึ้นมาจากภาวะสงครามจึงมีความกระตือรือร้นสูง โดยเฉพาะด้านการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาให้เทียบเท่าในระดับอินเตอร์
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนในประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการให้สิทธิด้านภาษีและสิทธิการลงทุนอื่นๆ แม้กระทั่ง CP บริษัทอาหารชั้นนำจากประเทศไทยยังไปลงทุนในเวียดนาม ขณะเดียวกันระบบโครงสร้างภายในประเทศของเวียดนามก็เริ่มตามประเเทศไทยทันแล้วในทุกด้าน ทั้งระบบโลจิสติกส์ ขนส่ง ระบบราง รถไฟฟ้า ฯลฯ
ส่วนการขับเคลื่อนของไทยโดยรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการลงทุนจะต้องผ่านขบวนการต่าง ๆ รวมถึงรอการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องดิ้นรน การพัฒนาจึงช้าจนอาจมองข้ามความไม่แน่นอนในการบริหารของภาครัฐ ที่มักจะเปลี่ยนนโยบายไปมาตามยุคสมัยของนักการเมือง ตามนโยบายพรรค หรือบุคลากรทางการเมือง ไม่มีความต่อเนื่อง เช่น
รัฐบาลก่อนหน้านั้นเคยผลักดันเรื่อง BCG Economy Model ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่รัฐบาลในยุคปัจจุบันกลับพูดถึงน้อยมากและหันมาผลักดันเรื่อง Soft Power มากกว่า
“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศเวียดนามจะแซงประเทศไทยได้ในระยะ 3-5 ปี ไม่ใช่แค่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่จะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย เพราะความเข้มแข็งในการผลักดันของภาครัฐระหว่างไทยกับเวียดนามต่างกันมาก โดยภาครัฐฝั่งเวียดนามค่อนข้างเข้มแข็ง พูดถึงเรื่องเดิม นโยบายเดิม ต่อเนื่อง ชัดเจน และประชากรยังเป็นคนหนุ่มสาว อยู่ในช่วงที่เทคโนโลยีทั่วโลกพร้อมพัฒนาตลอดเวลา ขณะที่ไทยไม่มีความแน่นอน และประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว”
ดังนั้น ในภูมิภาคเดียวกันเวียดนามจึงนับเป็นหนึ่งในประเทศที่น่ากลัวสำหรับไทย แต่ไทยยังมีโอกาส มีความสามารถ ในการแข่งขันสูงสำหรับทุภาคธุรกิจโดยเฉพาะด้านเกษตร แต่สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปคือความต่อเนื่องในการพัฒนาและแรงขับเคลื่อนจากนโยบายของภาครัฐ เพราะหากยังไม่เร่งปรับตัว อาจเสียแชมป์ส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้านถาวร
โฆษณา