11 พ.ค. เวลา 12:35 • ธุรกิจ

ถอดรหัส “การบินไทย” ผนึกบิ๊กธุรกิจระดับโลก จ่อร่วมทุนดัดแปลงโบอิ้ง 777-300 ER

การเทคออฟธุรกิจของการบินไทยนอกจากการเพิ่มรายได้จากธุรกิจการบินแล้ว ล่าสุดร่วมมือกับ 1 ใน 3 บริษัทผู้ดัดแปลงเครื่องบินขนส่งสินค้าระดับโลก จ่อตั้งบริษัทร่วมทุน ดัดแปลงโบอิ้ง 777-300 ER จากเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร เป็นเครื่องบินเฟรเตอร์ ในไทย
การบินไทยรุกขยายธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศ
การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว หวังออกจากแผนฟื้นฟูปลายพ.ค. หรือต้นมิ.ย.2568 นี้ ก่อนกลับมาเทรดในเดือนก.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าเทคออฟธุรกิจ ซึ่งนอกจากการเพิ่มรายได้จากธุรกิจการบินแล้ว ยังโฟกัสขยายธุรกิจด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน
ล่าสุดการบินไทยยังได้ร่วมมือกับ 1 ใน 3 บริษัทผู้ดัดแปลงเครื่องบินขนส่งสินค้าระดับโลก จ่อตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดัดแปลงโบอิ้ง 777-300 ER จากเครื่องบินขนส่งผู้โดยสาร เป็นเครื่องบินเฟรเตอร์ ในประเทศไทย
นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยใหญ่ฝ่ายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การขยายธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน นอกจากการบินไทย และบางกอกแอร์เวย์ส จะอยู่ระหว่างศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา
ผนึกบิ๊กธุรกิจระดับโลกจ่อร่วมทุนดัดแปลงโบอิ้ง 777-300 ER ใช้ขนส่งสินค้า
ล่าสุดการบินไทยยังได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท Kansas Modification Center, LLC. (KMC) ในโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F)
ในโลกนี้มีแค่ 3 บริษัทที่สามารถดัดแปลงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) ได้ ซึ่งบริษัท KMC เป็นหนึ่งใน 3 ของโลก KMC ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300 ER ในฐานะผู้บุกเบิกเทคนิคการดัดแปลงรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนหน้า (Forward Cargo Modification) ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เน้นรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนท้าย
ส่งผลให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพเชิงน้ำหนัก (Weight Efficiency) ที่สูงกว่า เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าระยะไกล เมื่อ KMC เห็นศักยภาพของการบินไทย ก็อยากมาร่วมทุนด้วย โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ถ้าผลการศึกษาร่วมกันเป็นไปได้ดี ก็มีแนวโน้มที่จะร่วมทุนกันในประเทศไทย และเป็นรายแรกของอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโบอิ้ง 777-300 ER
ดีมานต์การดัดแปลงเครื่องบินโดยเฉพาะ 777-300 ER จากเครื่องบินโดยสาร เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (เครื่องบินเฟรทเตอร์) มีความต้องการสูงมาก ซึ่งขณะนี้ทาง KMC อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตในการดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300 ER จากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FAA
โดยมีโอกาสที่ KMC จะได้รับใบอนุญาตจาก FAA ก่อนบริษัทอื่น เมื่อได้ใบอนุญาตก่อนก็จะจับดีมานต์ได้ก่อน เพราะธุรกิจนี้เป็นความต้องการของตลาดอย่างมาก จากการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกกำลังเติบโต ขณะที่เครื่องบินขนส่งสินค้าขาดแคลน การบินไทยก็มองว่าเรามียุทธศาสตร์ด้านธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO อยู่แล้ว
การดัดแปลงเครื่องบินก็เป็น MRO ประเภทหนึ่ง ซึ่งมูลค่าสูงมาก เครื่องบินลำหนึ่งดัดแปลง ถ้าไปจ้างทำเครื่องบินลำตัวกว้าง อาจจะอยู่ที่ 30 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อลำ จึงจะเห็นว่ามูลค่าธุรกิจสูง การร่วมมือกันจะเป็นการก้าวกระโดดของการบินไทย
ทำให้ได้เรียนรู้โนฮาวที่เราไม่มี ซึ่งก็จะช่วยเสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยี ถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology-Transfer) การดัดแปลงเครื่องบิน P2F จากผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก พัฒนาห่วงโซ่อุปทานการบิน สร้างระบบนิเวศการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการดัดแปลงเครื่องบิน P2F ภายใต้ลิขสิทธิ์จาก บริษัท KMC และบริษัทพันธมิตรของ KMC ช่วยยกระดับ MRO สู่ระดับโลก
นอกจากการบินไทยจะได้ประโยชน์ ประเทศก็ได้ประโยชน์มากเช่นกัน เนื่องจากเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้มีความครบวงจร สร้างรายได้ให้กับหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุง อากาศยาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จนถึงอุตสาหกรรมดัดแปลง อากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ อีกทั้งยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของชาติในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
รวมถึงยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศไทย และยังมีส่วนช่วยสร้างงานกว่า 500 ตำแหน่งให้กับอุตสาหกรรมการบินในประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เล็งลงทุนในพื้นที่ดอนเมือง-อู่ตะเภา
สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะเป็นลูกค้าจากทั่วโลกที่ต้องการดัดแปลงเครื่องบินรุ่นนี้มาเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า โดยการบินไทยมองว่าจะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุด คือ ดำเนินการที่ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง
อีกทั้งหลังจากนั้นหากการบินไทยได้รับการดำเนินการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO สนามบินอู่ตะเภา ในพื้นที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็วางไว้ว่าที่อู่ตะเภาก็จะมีการให้บริการนี้เป็นอีกหนึ่งบริการด้วย
นอกจากนี้การบินไทยยังมีแผนดึงช่างอากาศยานที่ทั้งเกษียณไปแล้ว และเคยทำงานกับการบินไทย เข้ามาร่วมงานภายใต้บริษัทร่วมทุนนี้ด้วย หากผลการศึกษาระหว่าง 2 บริษัทมีทิศทางที่ดี และนำไปสู่การลงทุนร่วมกันได้ต่อไป
โฆษณา