11 พ.ค. เวลา 20:08

ตอนสุดท้าย: ติดเชื้อในกระแสเลือด สู่การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม

ประสบการณ์ 3 เดือนที่จะสลักอยู่ในใจตลอดไป "ติดเชื้อ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม" ตอนไปเรียนต่อที่แคนาดา
เริ่มต้นประมาณวันที่ 5 ตุลาคม - เราเริ่มมีไข้ขึ้นสูงไปถึง 40 องศานิดๆ ไม่ถึง 40.5 หนาวสั่นไปหมดทั้งตัวไปรพ. Walk-In เข้าไปเจอพยาบาลไม่ดีเลย ตรวจเล็กๆน้อยๆพูดจาแย่ด้วยบอกให้กลับไปหาไทลินนอลทานเอง 2 เม็ด ละรอนานมากช่วงบ่ายๆกว่าจะกลับถึงห้องก็ค่ำเลยจำได้แต่เราก็ช่างมันนั่งโง่ๆมานานละไม่ได้ไรอยากรีบกลับไปพัก ส่วนเอมออกไปหายาหาแผ่นเย็นมาแปะพยายามเช็ดตัวเรา สุดท้ายอาการเราก็ไม่ดีขึ้น
**ที่จะเล่าต่อจากนี้จำอะไรไม่ได้เลยนี่คือคำบอกเล่าจากภรรยาผม เนื่องจากมีอาการเพ้อจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มันขึ้นไปที่สมอง**
หลังจาก 5 ตุลาคม - ผมริ่มมีอาการเพ้อ ไม่มีสติ พูดอะไรออกมาก็ไม่รู้เหมือนไม่ใช่ตัวเราเอง เอมเห็นแล้วเริ่มเครียด ร้องไห้ ไล่โทรปรึกษาครอบครัวที่ไทยเล่าให้ฟังว่าเราเป็นยังไงแล้วจะเอายังไงดี รวมถึงโทรหาโฮสแฟมมิลี่ที่เคยอยู่ด้วยตอนไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา เพื่อปรึกษาอาการของผมเพราะเขาเป็นพยาบาล Paramedic
ทุกคนบอกให้โทรหารถฉุกเฉินเลยเพราะอาการของผมนั้นแย่มากๆกำลังจะวิกฤตแล้ว เรียกรถพยาบาลมาถึงค่อนข้างไวเกือบ 10 นาทีมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่แบกผมขึ้นรถ ระหว่างที่ผมอยู่ในรถนั้นผมตัวสั่นตลอดเวลาไข้ยังคงสูงประมาณ 39-40 องศา พูดจาไม่รู้เรื่อง และเขาเจ้าหน้าที่ได้ทำการเจาะไขสันเอาน้ำไขสันหลังส่งให้โรงพยาบาลตรวจเมื่อไปถึง ผมได้นอนที่รพ. Surrey Memorial Hospital เพราะที่พักอาศัยอยู่ใกล้ที่นั้นที่สุด
มาถึงเข้าห้อง ICU ทันทีเพราะอาการหนักมากๆอุณหภูมิยังคงอยู่ระดับ 39-40 องศานิดๆ ทางโรงพยาบาลใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการเอาไข้ผมลงจนไปอยู่ที่ระดับปกติประมาณ 37 องศาได้ โชคดีที่ icu มีพี่พยาบาลคนไทยเลยสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นเพราะศัพท์แพทย์ภาษาอังกฤษมันยากมาก นึกถึงภาษากฎหมายไทยยากๆงงๆ นั้นแหละครับ
แต่ก็ผ่านไปได้โดยที่มีทั้งพี่คนไทยช่วยและโฮสแฟมมิลี่ของเอมคอยแปลให้ง่ายขึ้นอีกทีเป็นภาษาคน อาการผมก็ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเขาก็ตรวจน้ำไขสันหลังผมเจอว่าติดเชื้อในกระแสเลือด เลยพาไปทำ CT Scan บนสมอง และ X-ray เพิ่มเติมเลยรู้ว่าไอเชื้อตัวนี้มันก็อยู่ในหัวใจและบนสมอง หลักๆเจอ 2 ที่ ผมติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า MSSA ทางโรงพยาบาลก็เริ่มให้ยาปฎิชีวนะกับผม
ตลอดช่วงเวลาหลายวันนี้ผมไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลยจากวันที่มีอาการเพ้อจนวันต่อมาผมเหมือนภาพตัดมาโผล่วันที่ 11 เลยซึ่งเอมบอกว่าดีแล้วที่ไม่รู้เรื่องเพราะผมโดนเจาะเลือดไปตรวจหลายรอบมากๆเพราะเลือดเหนียวไม่ไหลออกมาเลย ใส่ท่อปัสสาวะ อะไรก็ตามที่ทำแล้วเจ็บและลำบากแต่เพื่อการรักษานะ เพราะรอยเจาะเต็มแขนผม 2 ข้างเลยทำให้ผมไม่มีแรงแม้แต่จะจับช้อนส้อมหรือแม้กระทั่งหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเฉยๆตอนที่ผมกลับมีสติอีกครั้งนึง
เอมเล่าให้ฟังว่าใบหน้าของผมในตอนนั้นเป็นเหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรสายตาใสๆเหมือนเด็กไม่รู้เรื่อง คอยเอาแต่พูดเรื่องเดิมซ้ำๆขี้ลืมพูดจาวกวน “เห้อ คงได้นอนโรงพยาบาลแล้วสินะ” ทั้งๆที่ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังนอนรพ.อยู่ ตอนแรกเอมกลัวว่าความทรงจำเราจะเกิดความผิดปกติไปด้วยแต่ดีที่เชื้อที่อยู่บนสมองมันน้อยและอยู่แค่รอบนอกของตัวสมองเลยไม่มีอาการอื่นนอกจากการเพ้อ
วันต่อๆมาในโรงพยาบาลนี้ก็ได้มีการตรวจเพิ่มเติมคือ MRI เพื่อเช็คสมองว่าเชื้อแบคทีเรียลดลงไหม และส่องกล้องไปที่หัวใจเพื่อดูหัวใจว่าเสียหายมากน้อยขนาดไหนเพราะหมอก็บอกว่ามีโอกาสที่จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เขาก็คอยอัพเดทให้ฟังว่าปรึกษากับทั้งแพทย์หัวใจและแพทย์ผ่าตัด รวมถึงฝั่งวิจัยด้านการติดเชื้อด้วยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการรักษาของเคสผม
ซึ่งก็ใช้เวลานานระดับนึงประมาณ 2 สัปดาห์ที่ต้องรอลุ้นว่าต้องผ่าหรือไม่ผ่า ซึ่งในตอนนั้นมี 2 ทางคือ 1. ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม 2. ให้ยาปฎิชีวนะจนครบโดสเพื่อกำจัดเชื้อออกให้หมด
เวลาผ่านไปผมก็ได้รับแจ้งว่ายังไงก็ต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเพราะภาพส่องกล้องที่ออกมาลิ้นหัวใจ Mitral ผมเสียหายไปครึ่งนึง แต่โชคดีที่อาการผมยังปกติดีอยู่แต่ในขณะเดียวกันก็อันตรายเหมือนกันเพราะมันเหมือนระเบิดเวลาจะระเบิดตอนไหนก็ไม่รู้ และหมอแจ้งว่าไม่ปลอดภัยที่จะบินกลับไปรักษาที่ไทยเพราะอาจจะไม่ทัน
ช่วงกลางเดือนตุลาคม - ผมย้ายไป Royal Columbian Hospital ซึ่งสามารถทำการผ่าตัดให้เราได้ พอย้ายมาทีนี้การดำเนินงานเร็วขึ้นมากก็พราะเคสเราค่อนข้างนานแล้ว ทีมแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดเราก็ทยอยมาหาและแนะนำตัวกับเราทีละคนและอธิบายให้ฟังว่าแผนการผ่าตัดจะเป็นยังไงบ้าง
แต่ทางทีมก็ขอให้เราทำ Ultrasound, CT Scan, ECG และ MRI อีกอย่างละรอบนึงเพราะต้องเช็คตั้งแต่สมองจนถึงหัวใจเพื่อให้แน่ใจว่าสมองและร่างกายของเรามีความพร้อมที่สุดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอาการแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดและเช็คว่าร่างกายเราตอบสนองกับ Antibiotic มากน้อยแค่ไหนในการกดเชื้อแบคทีเรียให้ลดลงในร่างกาย
หลังจากทยอยไล่ตรวจเช็คอีกครั้งผลตรวจก็เป็นไปด้วยดีโดยที่อาการเราคงที่ เชื้อที่สมองลดลงจนเหลือน้อยมาก ฟันที่ผุไม่มีสัญญาณของการติดเชื้อ หัวใจยังคงเต้นปกติ แต่ตลอดเวลาตั้งแต่ย้ายมาโรงพยาบาลนี้ผมต้องใส่เครื่องวัดคลื่นหัวใจที่จะมีแผ่นแปะหลายๆจุดและหิ้วเครื่องนั้นติดตัวตลอดเวลา จนรู้สึกเหมือนเป็นเสาไฟฟ้า55555
ผ่าตัดวันที่ 23 ตุลาคม - เราเป็นเคสที่ 2 ของทีมผ่าตัดหัวใจในวันนั้นซึ่งกว่าจะได้ผ่าก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆแล้วจำได้ว่า บรรยากาศวุ่นวายและเร่งรีบมากตอนที่เขามาพาตัวเราไปเข้าห้องเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด เจาะแขนเพิ่มเพื่อใส่ IV สำหรับรับยาทางแขนแล้วก็นอนรอ
มีหมอดมยาสลบมาคุยอธิบายขั้นตอนกับเราให้สบายใจในการผ่าตัดครั้งนี้ ทีมผ่าตัดกับพยาบาลน่ารักมากๆนะครับ เดินมาคุยระหว่างที่เรารอไม่ให้เราเครียดเรื่อยๆ แต่ก็รอไม่นานประมาณ 10 นาทีเขาก็ย้ายเราไปอีกห้องนึง วุ่นวายมากย้ายเราไปอีกเตียงแล้วมีคนมารุมตัวเราประมาณ 10 คนได้ จับแปะนั้นใส่นี้มีอะไรมาครอบหัวเพื่อติดตามการทำงานของสมองด้วย จำได้ว่าใครถามอะไรก็ ”I‘m good.“ แล้วก็หลับไปเลย
ผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง การผ่าตัดราบรื่นดีไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆเกิดขึ้นตามที่หมอบอกกับเอม จำไม่ได้ว่าฟื้นขึ้นมากี่โมงแต่มันดึกมากๆตื่นมาอีกทีพักฟื้นอยู่ ICU แรงหายหมดรู้สึกเหนื่อยมาก รู้สึกตึงตั้งแต่คอลงไปถึงหน้าท้อง
เพราะเป็นการผ่าตัดแบบเปิดอก รอยผ่าความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว มีทั้งรอยเจาะ รอยเลือดที่เลอะผ้าปิดแผล รอยเย็บซึ่งเย็บด้วยแม็กแต่มีผ้าปิดไว้อีกที ผ้าปิดแผลเต็มตัวและท่อหรือเข็มบนแขนบางส่วนและตรงคออีก 1 ที่ ที่ยังอยู่เพื่อให้ยาต่อ และบนแขนทั้ง 2 ข้าง
เสมหะเต็มคอ ตัวบวมยา วันนั้นการที่เราแค่จะลืมตาเป็นอะไรที่ยากมากๆ เป็นความรู้สึกที่เหมือนนอนเป็นผักเฉยๆเลย แค่ขยับนิ้วมือชี้ไปตรงๆได้วันนั้นก็คือเก่งมากๆแล้ว
การพักฟื้นของเราในแต่ละวันอาการก็ค่อยๆดีขึ้นฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆทีละนิด ทรมาณที่สุดคือการที่เราต้องไอเพื่อขับน้ำขับเสมหะออกจากร่างกายโดยเฉพาะในปอดออกมาถุยทิ้งเพราะมันเจ็บแผลหน้าอกมากต้องเอาหมอนมากอดไว้เพื่อไม่ให้แผลฉีกได้
ในวันแรกๆ ทางพยาบาลก็ปรับท่าเราให้พยายามนั่งให้หัวใจและปอดทำงานได้ดีขึ้น ฟื้นฟูระบบหายใจกลับมาให้เป็นปกติ
แต่ยังไม่น่ากลัวเท่าการเอาท่อออกจากคอและแขนซ้ายตรงข้อพับ เอาเป็นว่าวันนั้นมีรอยเลือดค่อนข้างเยอะเลย
เราค่อนข้างต้องปรับตัวพอสมควรเพื่อให้การพักฟื้นเป็นไปอย่างราบรื่น พยายามทานอาหารให้มากขึ้นเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูเร็ว ทำกายภาพบำบัดออกไปเดิน ลุกขึ้นนั่งหรือยืนให้ร่างกายกลับมามีแรงเท่าเดิมเพราะตอนนั้นลุกขึ้นมาจากเตียงก็เหนื่อยแล้วการจะคุยกับคนนี่คือเอมต้องคุยแทนทั้งหมด
เพราะเราพูดแค่ชื่อตัวเองยังรู้สึกเหนื่อยเลยถึงขนาดว่า แค่การหายใจเราก็ยังต้องฝึกใหม่ เพื่อให้ปอดกับหัวใจกลับมาทำงานได้ปกติ
จนผ่านไปถึงวันที่ 7 ของการพักฟื้นก็มีพยาบาลมาเอาตัวแม๊กที่เย็บแผลเราออกครึ่งนึง(ทุกๆอันที่2) รวมถึงด้ายบริเวณอื่นบนหน้าห้องออกไปบ้าง น่าแปลกที่ตัวแม๊กที่เย็บแผลเรามันดูเหมือนต้องเจ็บแน่นอนแต่ตอนเอาออกมันไม่เจ็บเลยแถมสบายตัวกว่าเดิมระดับนึงเลยเพราะมันไม่รู้สึกตึงเท่าไรหายใจสะดวกขึ้น
ผมนอนคุยกับพยาบาลไปเรื่อยๆแปปเดียวก็เสร็จแล้ว ส่วนอาการเราแตกต่างจากวันแรกๆชัดเจน อยากอาหารมากขึ้น พูดได้คุยได้เถียงได้บ่นได้ เดินไปห้องน้ำเองได้ เดินขึ้นบันไดไหวประมาณชั้นนึง มีเดินเซนิดหน่อยยังต้องให้เอมคอยช่วยประคองบ้าง แต่การลุกขึ้นมานั่งหรือล้มตัวลงนอนยังเป็นอะไรที่ลำบากอยู่และค่อนข้างเจ็บ
ทุกๆวันตอนเช้าจะมีการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจดูว่ามีโอกาสติดเชื้ออีกรอบไหม และตรวจค่า INR เพื่อปรับยาและ ให้มั่นใจว่าค่าเลือดมีความคงที่จึงจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้และเราต้องกินยาป้องกันไม่ให้เลือดเป็นลิ่มหรือแข็งตัวไปตลอดชีวิต
บางคนอ่านแล้วคงสงสัยว่า ไม่เจ็บหรอ คือเขาผ่าตัดเสร็จเขาฉีดยาชาให้ด้วยตื่นมาเลยไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดอะไร และเขาให้ทานไทลินอล 2 เม็ดต่อครั้ง 2 ครั้งต่อวัน ติดกันประมาณ 6 วันเพื่อกดอาการเจ็บปวดไว้ เลยไม่มีปัญหากับยกเว้นความรู้สึกที่มันตึงๆและการหายใจที่จะไม่ค่อยสะดวก
อาการเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆแต่ก็ยังออกไม่ได้เพราะเขาจำเป็นต้องหาแพทย์ประจำบ้านให้เราสำหรับช่วงพักฟื้นที่ห้องตอนออกจากโรงพยาบาลแล้วเพื่อให้การรับยาต่อเนื่องและถอดตัวเย็บแผลต่างๆบนตัวเราออก ระหว่างนี้ก็ได้คุยกับหลายๆคนทั้งหมอ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ มาดำเนินเรื่องต่างๆเพื่อช่วยเรา
แต่สุดท้ายด้วยความที่ระบบมันยากและช้าด้วยตัวมันเองอยู่แล้วจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะหาแพทย์ประจำบ้านให้เราทันเวลาแม้แต่ตัว Social Worker ก็บอกว่ายาก กลายเป็นว่าหลังจากออกโรงพยาบาลผมและเอมต้องหาเกือบทุกอย่างเอง เช่น
  • 1.
    Blood test เพื่อดูผล INR มาคำนวณว่าต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดปริมาณเท่าไร
  • 2.
    คอยนัดหมอตามคลีนิกเพื่อให้เขาดูผลเลือดละบอกว่าเราควรกินยาจากข้อข้างบนปริมาณเท่าไร
  • 3.
    นัดไปทำความสะอาด PICC Line อาทิตละครั้ง
  • 4.
    นัดรอ Supply มาส่งเอาไว้ใช้สำหรับ Home IV สิ้นสุดวันที่ 3 ธันวา
มีรายละเอียดยิบย่อยอีกหลายข้อแต่อันที่คือหลักๆที่ต้องทำ ปัญหาคือทุกอย่างมันคือคนละที่หมดเลยที่เราจะต้องไป ลึกๆเรารู้สึกว่าเขาผลักภาระให้ประชาชนมากเกินไป ต่อให้มีแพทย์ประจำบ้านก็ต้องทำเรื่อง refferal ส่งไปให้แพทย์เฉพาะทางแล้วก็ต้องรออีก
เราถือ MSP ทุกอย่างฟรีจริงแต่ถ้าระบบมันช้าและไม่อำนวยแบบนี้ผมคิดว่ามันก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไร เรามีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่ได้ใกล้ตายจริงๆแบบกรณีผมเขาก็จะไล่กลับบ้านไม่รักษาซึ่งเรื่องแบบนี้มันคือสุขภาพคนนะ สนใจหน่อยก็ได้เพราะทุกคนก็จ่ายภาษีเพื่อเข้าถึงสวัสดิการรัฐกันทั้งนั้นไม่ได้มาขออยู่ฟรี ตัวอย่างก็ เพื่อนคนไทยผมอีกคนนึงเป็นงูสวัดโดนไล่กลับมารักษาเองที่บ้าน ถ้าไม่ใกล้ตายจริงเขาก็ไม่รักษาจริง
โชคดีที่เจอพยาบาลและหมอที่ใจดีมากๆที่ Jim Patterson ตอนแรกที่นี่รับดูแลเราแค่เรื่องการทำ Home IV Program ที่ต้องเอายากลับไปทำเองที่ห้อง เขาเห็นว่าอีกไม่นานเราจะกลับไทยถาวรแล้ว และการหาหมอคนละคนสำหรับการจัดปริมาณยา Warfarin มันไม่มีประสิทธิภาพและไม่ควรทำแบบนั้น
กระเป๋า Home IV
เขาเลยช่วยให้เราทำนัด Blood test และไปคุยกับเภสัชของที่นี่ให้เพื่อให้ช่วยดูเคสของเรา ซึ่งก็โชคดีที่สุดท้ายแล้วเราไม่ต้องไปที่อื่นอีกเลย ให้ที่นี่ดูแลเคสเราทุกอย่างครบหมด
ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์หลังจากออกจากโรงพยาบาลอาการเราก็ค่อยๆดีขึ้นแต่ก็มีเรื่องที่ต้องคอยระวังคือเรามักจะมีไข้ช่วงกลางคืน หมอก็ให้คอยบันทึกเอาไว้ถ้าหากว่าไข้ขึ้นสูงก็อาจจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นอีก เอมก็เครียดเพราะไม่รู้สาเหตุ
จนโฮสแฟมมิลี่ของเอมเขาก็น่ารักมากๆด้วยความที่เขาเป็นพยาบาลอยู่แล้วก็อาสามาช่วยดูแลเรา บินมาจาก USA รัฐ Pensyslvania พอมาถึงก็สอนวิธีดูแลตัวเองเพิ่มเติมทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นและหาอุปกรณ์ต่างๆมาให้เราใช้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เอมจะได้เหนื่อยน้อยลง สอนวิธีหายใจให้ปอดขยายกลับมาเท่าเดิมไม่เหนื่อยง่ายซึ่งเห็นผลค่อนข้างชัดเมื่อผ่านไปแต่ละวัน
และการไอที่ถูกต้องเพื่อให้ขับของเหลวออกจากปอด อธิบายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้แบบนั้น ซึ่งบางอย่างโรงพยาบาลก็ไม่ได้อธิบายให้เราฟัง ตอนที่เขามาถึงเขารู้ว่าเรากำลังจะกลับไทยถาวรเขาบอกว่า “เราจะมาช่วยให้ตอนกลับไทยไม่ต้องนอนติดเตียงแบบที่นี่กลับไปจะได้แฮปปี้ไม่เหนื่อยง่ายได้กลับไปใช้ชีวิตแบบปกติให้เร็วที่สุด” แม้บางทีจะเหนื่อยแต่ก็ต้องบังคับตัวเองไม่งั้นถ้าเอาแต่นอนเฉยๆแรงเราก็จะไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่ถ้าเหนื่อยและหัวใจเต้นเร็วนั้นคือสัญญาณว่าเราต้องพักและ
เขาน่ารักมากซื้อปลอกแขนกันน้ำมาให้สำหรับใช้อาบน้ำซึ่งถ้าเขาไม่บอกเราก็ไม่รู้เลยว่ามีปลอกแขนแบบนี้อยู่ และต้องรอจนถึงวันที่ 4 ธันวาเพื่อถอด PICC Line ตรงแขนซ้ายสำหรับ Home IV ออกซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นคือเราจะไม่ได้อาบน้ำเลย 2 เดือน และโรงพยาบาลกับคลีนิกที่นี่ก็ไม่บอกอะไรเราเลยบอกแค่ตรงแขนเราโดนน้ำไม่ได้
Home IV (สาย Picc Line)
เข้าเดือนธันวาคม พักฟื้นมาได้เดือนนึง แผลเริ่มดีขึ้นเริ่มกลายเป็นแผลเป็น อาการไอก็หายไปแล้ว เริ่มลุกขึ้นหรือนอนลงบนเตียงได้ง่ายขึ้นไม่เจ็บบริเวณกระดูกที่อกแล้ว เริ่มหัวเราะได้เกือบจะเต็มที่ติดแค่ว่าหายใจไม่ค่อยทันถ้าขำเยอะไป สูดหายใจเข้าออกได้เต็มที่ ไอทีนึงก็ไม่ค่อยเจ็บแล้ว ก้มลงไปผูกเชือกรองเท้าไม่ลำบากแบบตอนแรกที่รู้สึกหายใจไม่ค่อยออกรู้สึกแน่นอกและตึงๆที่แผล เดินได้เร็วเท่าคนปกติโดย
เหนื่อยน้อยลงไม่ต้องคอยนั่งพักบ่อยๆแบบ2สัปดาห์แรก เหลือไม่กี่อย่างที่ยังทำให้เจ็บได้อยู่คือจามทีเหมือนตัวจะขาดโคตรเจ็บ วิ่งยังไม่ได้เพราะสะเทือนเยอะแล้วจะเจ็บและเหนื่อยเร็วมากๆ ยังต้องคอยระวังเรื่องอัตราเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วเกินไปไม่งั้นจะหายใจไม่ทันและแน่นอนยังยกของหนักไม่ได้ เคยซ่าลองยก รู้สึกตัวจะระเบิด โคตรเจ็บ แถมหายใจไม่ทันด้วย วันต่อมามีรอยช้ำบนหน้าอกตัวเอง
จากประสบการณ์ที่เจอมารู้สึกว่าการเข้าถึงการแพทย์มันลำบากมาก แม้ว่ามันจะฟรีแต่ถ้าหายากขนาดนั้น มันก็ไร้ความหมายเพราะ ถ้าคุณไม่ได้กำลังจะตายจริงๆ ก็ไม่ได้เจอหมอหรอก ขนาดวันก่อนหน้าเข้าโรงพยาบาลผมเดินไปถึง แผนก ER ที่โรงพยาบาล เดินไปอ้วกตั้งหลายรอบ รู้สึกเป็นลมตลอดเวลา เดินเซจนวูบล้มลงไป 2 ที วัดไข้ได้ 40 องศา ”พยาบาลแม่งยังไล่กลับมาแดกไทลินอล 2 เม็ดอยู่เลย“
และถามว่ามีผลอะไรบ้างในการใช้ชีวิตหลังพักฟื้นเต็มที่แล้ว
1. ต้องกินยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด Warfarin(Blood Thinner)
2. ตรวจเลือดเช็คค่า INR ทุกๆ 1-6 เดือนแล้วแต่หมอสั่ง
3. เลี่ยงการกระแทก เพราะจะเกิดรอยช้ำง่าย เลือดออกง่ายและนานกว่าคนทั่วไปกว่าเลือดจะหยุดไหลหากค่า inr สูง มีอยู่ครั้งนึงแค่ปากแตกเลือดไหล ไหลทั้งวันกว่าจะหยุด
4. ห้ามกินเหล้าหรือสูบบุหรี่
ทุกข้อที่กล่าวมานี้คือผลข้างเคียงและสิ่งที่ต้องทำไปตลอดชีวิต
ตอนนี้กลับมาถึงไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องไป Follow up กับหมอที่นี่ต่ออยู่ดี รู้สึกโคตรสบายใจและโล่งใจ ในที่สุดก็มาถึงในที่ที่เขาจะไม่ไล่เรากลับมาแดกแค่ไทลินอล 2 เม็ดโง่ๆ ไปโรงพยาบาลยังไงก็เจอหมอ ขอบคุณครับ
**กลับไทยมาถึงตั้งแต่ธันวาคม 2024 แล้ว กว่า 6 เดือนที่กลับมาต้องเข้ารพ.เพราะเหตุด่วนครั้งนึงเพราะความดันต่ำแล้ววูบล้มลง(เพราะนอนไม่พอและผล effect จากยาอีกตัวที่จำเป็นต้องทาน) เข้าแผนกฉุกเฉินที่รพ.จุฬา ก็ได้เจอหมอและได้รับการตรวจอย่างจริงจังและรักษาอาการโดยการฉีดยาบรรเทาอาการไม่ใช้แค่ถามอาการแล้วก็ไล่กลับบ้านไปทรมานต่อ**
โฆษณา