12 พ.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คลังเตรียมปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ เพิ่มสัดส่วนเก็บรายได้เป็น 18%

คลังเตรียมปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ เพิ่มสัดส่วนเก็บรายได้เป็น 18% ชง “พิชัย” รมว.คลัง เคาะภายในปีงบ 68 เผยครึ่งปีแรกรีดภาษีเกินเป้าเพียง 1.8 พันล้าน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างทำแผนปฏิรูปการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ เพื่อเสนอให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พิจารณาภายในปีงบประมาณ 2568 นี้
ทั้งนี้ ครอบคลุมทั้งภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต ตลอดอากรนำเข้าศุลกากร โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีให้เพิ่มสูงขึ้นจาก ปัจจุบันการจัดเก็บรายได้รัฐอยู่ที่ 12-13% ของจีดี เพิ่มเป็น 18% ของจีดีพี
“ในแผนการปฏิรูปภาษีหากสามารถเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5% จะทำให้คลังมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นได้อีก 800,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และทำให้สามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้เร็วขึ้น โดยถือเป็นเรื่องท้าทาย ที่เราจะต้องเร่งทำ”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 68 (ต.ค.67 – มี.ค.68) กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1.19 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1,807 ล้านบาท หรือ 0.2% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26,503 ล้านบาท หรือ 2.3%
ส่วนใหญ่เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรตาม รายได้จากภาษีรถยนต์ยังคงต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงตามโครงสร้างภาษีใหม่
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี สรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร ในช่วงครึ่งปีแรก จัดเก็บรวมทั้งสิ้น 1.28 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 38,263 ล้านบาท แบ่งเป็น
  • กรมสรรพากรจัดเก็บได้ 966,200 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 36,212 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,157 ล้านบาท
  • กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ 264,971 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 4,160 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,321 ล้านบาท
  • กรมศุลกากรจัดเก็บได้ 57,365 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2,109 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,235 ล้านบาท
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สรรพากรจัดเก็บรายได้เดือนเม.ย.68 ได้ 171,921 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 11,052 ล้านบาท คิดเป็น 6.9% และสูงกว่าเป้าหมาย 7,732 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดสะสม 7 เดือน จัดเก็บได้ 1.13 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 47,325 ล้านบาท และสูงกว่าประมาณการ 17,950 ล้านบาท
1
โดยสาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศ ที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 11% รวมถึงภาษีเงินได้จากการจ่ายเงินปันผล และการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ ตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่สูงกว่าประมาณการ
โฆษณา