12 พ.ค. เวลา 14:00 • ธุรกิจ

'ฟังก์ชันก่อนแฟชั่น'

Skechers แบรนด์รองเท้าสายใส่สบาย 9 แสนล้าน ที่เติบโตเพราะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่คู่แข่งไม่ได้โฟกัส
Skechers อาจไม่ใช่ชื่อแรกที่นึกถึงเมื่อพูดถึงแบรนด์รองเท้ากีฬาและแฟชั่น แต่บริษัทสัญชาติอเมริกันรายนี้ได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก (รองจาก Nike และ Adidas) โดยอาศัยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แตกต่างจากยักษ์ใหญ่เหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง
บริษัท Skechers ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 โดย โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก (Robert Greenberg) ผู้เคยสร้างความสำเร็จกับแบรนด์ L.A. Gear มาก่อน มาเริ่ม Skechers ร่วมกับลูกชาย ไมเคิล กรีนเบิร์ก (Michael Greenberg) ที่เมืองแมนฮัตตันบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย หลังออกจาก L.A. Gear ในปีเดียวกันนั้น จนสามารถพา Skechers เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 1999
1
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในฐานะธุรกิจครอบครัว ปัจจุบัน Skechers กำลังก้าวเข้าสู่บทใหม่ของบริษัทด้วยความสำเร็จระดับโลก และมีการคาดการณ์ว่ารายได้จะทะยานแตะ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตอย่างมหาศาลตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา
👟 [ จุดกำเนิดและเส้นทางแห่งความสำเร็จ ]
1
โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก เริ่มต้นสร้าง Skechers หลังจากลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารที่ L.A. Gear ในช่วงต้นยุค 90 ความตั้งใจของเขาคือการนำเสนอรองเท้าที่แตกต่างออกไปจากกระแสหลักในขณะนั้น
Skechers เริ่มต้นจากการจำหน่ายรองเท้าบูตสไตล์สตรีทสำหรับผู้ชาย ก่อนจะขยายผลิตภัณฑ์ครอบคลุมรองเท้าลำลองหลากหลายรูปแบบ
แนวคิดของกรีนเบิร์กคือการสร้างรองเท้าที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัยและความเรียบง่ายที่สวมใส่ได้ทุกวัน เน้นความทนทานและราคาที่เอื้อมถึง เนื่องจากเขาเล็งเห็นโอกาสในตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเต็มที่ เช่น กลุ่มวัยรุ่นสายสเกตบอร์ดและคนทำงานที่มองหารองเท้าลำลองคุณภาพดี
นับตั้งแต่ปี 1994 ที่ Skechers ทำรายได้ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ บริษัทก็เติบโตแบบก้าวกระโดดโดยเพิ่มยอดขายขึ้นกว่า 80 เท่า จนมีรายได้ราว 8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
การเติบโตที่รวดเร็วนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จในการขยายตลาดต่างประเทศ ปัจจุบัน Skechers มีร้านจำหน่ายสินค้าเองและผ่านตัวแทนรวมกว่า “5,300 แห่งทั่วโลก” และมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศประมาณ 2/3 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
จุดเปลี่ยนสำคัญของ Skechers คือการยืนหยัดในแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่น แม้ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง Nike และ Adidas ครองตลาด ส่วนแบ่งการตลาดของ Skechers ขยายตัวต่อเนื่องแม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงหวือหวาเทียบเท่าสองค่ายนั้น
โดย มูลค่าหุ้น Skechers ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 120%
สวนทางกับหุ้นของ Nike ที่ตกกว่า 36% และ Adidas ที่ติดลบนิดหน่อย เรียกว่าไม่ไปไหนเลยก็ได้
นักลงทุนในตลาดหุ้นเริ่มให้ความสนใจกับ Skechers ในฐานะม้ามืดที่มาแรง จนช่วยผลักดันมูลค่าบริษัทให้เติบโต อย่างไรก็ดี ทีมผู้บริหาร Skechers ยังคงยึดมั่นในแนวทางธุรกิจดั้งเดิมและไม่ตกหลุมพรางพยายามเลียนแบบคู่แข่งรายใหญ่
โดย จอห์น แวนเดอร์มอร์ (John Vandemore) ประธานฝ่ายการเงินของบริษัทเคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“โมเดลธุรกิจของเราแทบจะตรงข้ามกับแบรนด์ใหญ่ๆ เราเป็นผู้เล่นที่ต่างออกไป นั่นไม่ได้หมายความว่าโมเดลของเราไม่ประสบความสำเร็จ”
💗 [ กลยุทธ์รองเท้าเพื่อคนทุกวัย เน้นความสบายเข้าถึงง่าย ]
เบื้องหลังความสำเร็จของ Skechers คือกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเข้าหากลุ่มลูกค้าหลากหลายวงกว้าง โดยมองหาช่องว่างที่คู่แข่งรายใหญ่มองข้ามหรือไม่ได้โฟกัสมากนัก
แทนที่จะแข่งขันโดยตรงกับ Nike หรือ Adidas ในการเป็นแบรนด์สปอร์ตแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุด Skechers เลือกที่จะเป็นแบรนด์สำหรับคนทั่วไป ที่ให้ความสำคัญกับ “ความสบายและความคุ้มค่า” ของสินค้าเหนือสิ่งอื่นใด
Wallstreet Journals รายงานว่า
“Skechers ประสบความสำเร็จเพราะเจาะกลุ่มตลาดที่คู่แข่งมักมองข้าม — ในขณะที่ Nike ใช้ซูเปอร์สตาร์ดึงดูดลูกค้า, Hoka ครองใจนักวิ่งสายฮาร์ดคอร์, และเหล่าชายสายเทคฯ ยอมควักเงินซื้อรองเท้า On แต่ Skechers กลับไปได้สวยกับผู้เกษียณที่มองหารองเท้าใส่สบาย และครอบครัวที่ต้องการรองเท้าราคาจับต้องได้ให้ลูก ๆ”
แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในสินค้าอย่าง รองเท้าแบบสวม (Slip-ins) ที่สวมใส่ง่ายโดยไม่ต้องผูกเชือก สวมได้แบบไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง ซึ่งกลายเป็นสินค้าขายดีล่าสุดของบริษัท และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ที่เน้นความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ Skechers จะทยอยพัฒนารองเท้ารุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีหรือดีไซน์ทันสมัยขึ้น แต่หัวใจสำคัญยังคงอยู่ที่การทำรองเท้าที่ "ใส่สบาย เดินง่าย ใส่ได้จริงในทุกโอกาส" มากกว่าจะเน้นความเป็นแฟชั่นล้ำสมัยหรือรองเท้ากีฬาเพื่อการแข่งขันระดับสูงแต่เพียงอย่างเดียว
'ฟังก์ชันก่อนแฟชั่น' คือช่องว่างของตลาดที่ Skechers เลือกที่จะเล่น และเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญด้วย
กลยุทธ์การตลาดของ Skechers ก็แตกต่างจากคู่แข่งใหญ่เช่นกัน แทนที่จะทุ่มงบประมาณกับการจ้างพรีเซนเตอร์คนดังระดับโลกหรือทำโฆษณาอลังการ บริษัทกลับเลือกวิธีเข้าถึงลูกค้าแบบติดดินและจริงใจ
Skechers สร้างภาพลักษณ์เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงครอบครัวและชุมชน มากกว่าแบรนด์ไลฟ์สไตล์หรูหรา เช่น แคมเปญโฆษณาจะเน้นความสนุกสนานและอารมณ์ขัน หรือการสื่อสารถึงคุณสมบัติเรื่องความนุ่มสบายของรองเท้า แทนการเน้นภาพนักกีฬาซูเปอร์สตาร์สวมรองเท้าของตน
ในด้านช่องทางจำหน่าย Skechers ใช้กลยุทธ์กระจายสินค้าผ่านร้านค้าปลีกทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ Nike ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวมุ่งสู่การขายตรงให้ผู้บริโภค (Direct-to-Consumer) และค่อยๆ ลดการส่งสินค้าผ่านร้านค้าปลีกดั้งเดิม ทำให้รองเท้ารุ่นราคาย่อมเยาของ Nike หาซื้อได้ยากขึ้นในบางพื้นที่
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ Nike ยิ่งเปิดโอกาสให้ Skechers เข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่ต้องการรองเท้าราคาจับต้องได้ โดย Skechers ยังคงกระจายสินค้าผ่านเครือข่ายร้านค้าอย่างแข็งขัน เติมเต็มช่องว่างในตลาดที่ Nike หรือ Adidas อาจปล่อยทิ้งไว้ และทำให้ผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดไม่ถูกทอดทิ้ง
แต่ถึงแม้ภาพลักษณ์หลักของ Skechers จะเป็นแบรนด์รองเท้าลำลองใส่สบาย แต่บริษัทก็ไม่ได้ละทิ้งโอกาสในตลาดรองเท้ากีฬาโดยสิ้นเชิง
ตรงกันข้าม Skechers ได้ทยอยเปิดตัวรองเท้ากีฬาและสินค้าเพื่อสุขภาพหลายประเภท เช่น ซีรีส์ GOwalk และ GOrun สำหรับการเดินและวิ่งที่ได้รับความนิยม รวมถึงการพัฒนารองเท้ากีฬาเฉพาะทางอย่างรองเท้าวิ่งเทรลหรือรองเท้าสำหรับกีฬาใหม่ๆ อย่าง Pickleball ที่กำลังฮิตในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ บริษัทยังเริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน นักกีฬาชื่อดังระดับโลก เพื่อสร้างการยอมรับในฐานะแบรนด์รองเท้ากีฬามากขึ้น ซึ่ง Skechers ใช้วิธีเลือกเซ็นสัญญากับนักกีฬาที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ Nike หรือ Adidas ในช่วงเวลานั้น แต่มีผลงานโดดเด่นและฐานแฟนคลับจำนวนมาก
ตัวอย่างที่เป็นข่าวใหญ่ ได้แก่ การดึงตัว โจเอล เอ็มบีด (Joel Embiid) นักบาสเกตบอลดาวเด่นของทีม Philadelphia 76ers ในลีก NBA มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์รองเท้าบาสเกตบอลของ Skechers และการได้ แฮร์รี เคน (Harry Kane) กองหน้าซูเปอร์สตาร์ทีมชาติอังกฤษ (ปัจจุบันค้าแข้งกับสโมสร Bayern Munich) มาใส่สตั๊ด Skechers ลงแข่งขันในสนามฟุตบอล
การคว้าตัวนักกีฬาชั้นนำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า Skechers จริงจังกับการขยายแบรนด์เข้าสู่เวทีรองเท้ากีฬา โดยเลือกจับมือกับนักกีฬาที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ – ซึ่งเข้ากันได้ดีกับปรัชญาของ Skechers ที่ว่า “เราหยิบยื่นโอกาสให้นักกีฬาที่ตลาดไม่ได้ดูแลพวกเขา” ตามคำพูดของ เดวิด ไวน์แบร์ก (David Weinberg) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท
กลยุทธ์ดังกล่าวอาจไม่ได้ทำให้ Skechers ดูหวือหวาทันทีเทียบเท่าการมี เลอบรอน เจมส์ หรือ เซเรนา วิลเลียมส์ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ แต่อย่าลืมว่าลูกค้าของ Skechers ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่นักกีฬาระดับโลกเช่นกัน และนี่คือจุดแข็งของแบรนด์อยู่ที่การตอบโจทย์คนทั่วไปที่ต้องการรองเท้าดีๆ ในชีวิตประจำวัน
สื่ออย่าง inc สรุปเอาไว้ว่า แม้นักกีฬาที่ Skechers สนับสนุนจะไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์เบอร์หนึ่งของโลก แต่ลูกค้านับล้านของ Skechers ก็ “ไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีระดับแชมป์โลกมาสวมใส่ที่เท้า” อยู่แล้ว
สิ่งที่พวกเขาต้องการคือรองเท้าที่ใส่สบาย เชื่อถือได้ และราคาไม่แพง ซึ่ง Skechers สามารถมอบให้ได้อย่างต่อเนื่อง
📈 [ ก้าวต่อไปของ Skechers ขายกิจการให้ทุนใหญ่ 3G Capital ]
ล่าสุดเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับ Skechers นั่นคือบริษัทได้บรรลุข้อตกลงในการขายกิจการให้กับ 3G Capital ซึ่งเป็นบริษัททุนเอกชนข้ามชาติ (Private Equity) ด้วยมูลค่าประมาณ 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300,000 ล้านบาท)
การประกาศดีลนี้มีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอุตสาหกรรมรองเท้า โดยเฉพาะปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นและความเชื่อมั่นผันผวน อย่างไรก็ดี การเข้าซื้อกิจการ Skechers ของ 3G Capital ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับฉวยโอกาสเท่านั้น แต่มีรายงานว่า 3G ได้จับตามอง Skechers มาหลายปีและเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตระยะยาวของแบรนด์ แม้จะมีความเสี่ยงระยะสั้นเรื่องภาษีนำเข้าก็ตาม
3G Capital เป็นบริษัทการลงทุนที่มีประวัติการเข้าซื้อกิจการแบรนด์ผู้บริโภครายใหญ่ระดับโลกมาแล้วหลายราย (เช่น Burger King, Heinz และบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Anheuser-Busch InBev) และขึ้นชื่อในด้านการปรับโครงสร้างลดต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจที่เข้าไปถือครอง
สำหรับดีลซื้อกิจการ Skechers ครั้งนี้ 3G ตกลงจะจ่ายเงินสด 63 ดอลลาร์ต่อหุ้น ให้ผู้ถือหุ้น Skechers คิดเป็นพรีเมียมประมาณ 30% จากราคาเฉลี่ยหุ้นก่อนหน้าประกาศดีล
ส่งผลให้ราคาหุ้น Skechers พุ่งขึ้นทันทีเกือบ 25% ในวันที่ข่าวประกาศออกมา สะท้อนว่าตลาดมองดีลนี้ในเชิงบวกต่ออนาคตของบริษัท
ที่สำคัญคือ ภายหลังการซื้อกิจการ ตระกูลกรีนเบิร์กจะยังคงบริหาร Skechers ต่อไป โดย โรเบิร์ต กรีนเบิร์ก (วัย 84 ปี) จะดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอต่อเนื่อง พร้อมด้วยไมเคิล กรีนเบิร์ก ในตำแหน่งประธานบริษัท และเดวิด ไวน์แบร์ก เป็นซีโอโอ เหมือนเดิม
นอกจากนี้ มีรายงานว่าครอบครัวกรีนเบิร์กจะยังคงถือหุ้นบางส่วนใน Skechers หลังการควบรวมกิจการ โดยใช้สิทธินำหุ้นที่ตนถืออยู่แลกเป็นหน่วยลงทุนในบริษัทใหม่ แทนที่จะขายออกเป็นเงินสดทั้งหมด
แนวทางนี้ทำให้ครอบครัวผู้ก่อตั้งยังมีส่วนร่วมโดยตรงในความเป็นไปของ Skechers ต่อไป และสอดคล้องกับเงื่อนไขของ 3G ที่มักสนับสนุนให้ผู้ก่อตั้งหรือทีมบริหารเดิมอยู่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหลังบริษัทถูกนำออกจากตลาดหลักทรัพย์
ดีลระหว่าง Skechers กับ 3G Capital ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดในแวดวงธุรกิจค้าปลีกสินค้าแฟชั่น-กีฬา โดยนักวิเคราะห์จาก TD Cowen ระบุว่า มูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์ของ Skechers นั้นคิดเป็นประมาณ 0.8 เท่าของยอดขาย (EV/Sales) ซึ่งต่ำกว่ากรณีดีลซื้อกิจการแบรนด์รองเท้าอื่นๆ ในอดีตอย่าง Reebok ที่ Adidas เคยขายออกไปที่ราว 1.1 เท่าของยอดขาย
สะท้อนว่าผู้ซื้อ (3G) ได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อ Skechers ในจังหวะที่มูลค่าหุ้นอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับพื้นฐาน หาก 3G สามารถปรับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย ก็มีความเป็นไปได้ว่า Skechers อาจถูกนำกลับมาเสนอขายหุ้นให้สาธารณชนอีกครั้งในอนาคต โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นกว่าเดิม
ถือเป็นอนาคตที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย
🎯 ความสำเร็จของ Skechers ที่มุ่งมั่นในทางของตัวเองโดยเลือกเล่นเลนที่ตัวเองเชี่ยวชาญทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่ เซท โกดิน (Seth Godin) เล่าในหนังสือ ‘This is Strategy’ ครั้งที่เขาไปให้คำปรึกษากับบริษัท Walmart ในช่วงต้นศตวรรษ
เขาเล่าว่าในตอนนั้น Walmart กำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ที่ชื่อว่า Amazon ซึ่งมียอดขายต่อปีราว 3,000 ล้านดอลลาร์
สิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจ คือป้ายขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่ในห้องประชุม เขียนว่า: "คุณไม่มีทางเป็น Amazon ได้ดีกว่า Amazon เอง" ("You can’t out-Amazon Amazon")
ตอนนั้น Walmart ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตัดสินใจ “ไม่ลงไปสู้ในเกม” ที่รู้ว่าตัวเองอาจไม่มีทางชนะ
24 ปีผ่านไป Amazon มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่าจากตอนนั้น แต่ Walmart เองก็ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งยอดขายและกำไร
กอดินอธิบายว่า “การแข่งแย่งส่วนแบ่งตลาด ความเป็นผู้นำ หรือแม้แต่ ‘ขนมชิ้นสุดท้ายบนโต๊ะ’ บีบให้เราต้องคิดให้เร็ว ตัดสินใจให้เฉียบคม และเข้าใจเกมที่อยู่ตรงหน้า”
🕹️ มีหลายแนวทางให้เลือกเล่น:
* Punching down (โจมตีจากตำแหน่งที่ได้เปรียบ) : นำจุดแข็งของตัวเองมาข่มคู่แข่งที่อ่อนแอกว่า ด้วยการชูข้อดีของสิ่งที่เรามีเหนือกว่า ผู้นำตลาดมักมีทั้งความปลอดภัย ความเชี่ยวชาญ ความน่าเชื่อถือ และอิทธิพลในระบบ ทำให้พวกเขายังคงรักษาตำแหน่งได้ง่าย
* Punching up (ต่อยสวนจากเบื้องล่าง) : ทางเลือกที่ดีที่สุดของผู้ท้าชิงรายใหม่ การเข้าไปในพื้นที่ที่ผู้นำตลาดไม่สามารถหรือไม่ยอมเข้าไป กลับทำให้ “ขนาดเล็ก” กลายเป็นจุดแข็ง รวมถึงประสบการณ์แบบเฉพาะที่ผู้นำไม่มี
* Staying in your lane (ยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองถนัด) : กลยุทธ์ที่ดีสำหรับผู้นำตลาดเมื่อต้องเผชิญกับผู้เล่นหน้าใหม่ อย่างในกรณีของ Walmart ที่ผู้บริหารเข้าใจว่า การพยายามเปลี่ยนโครงสร้างการเงิน โมเดลธุรกิจ และจุดโฟกัสเพื่อไปสู้กับ Amazon จะเท่ากับ “ทิ้ง” ตลาดหลักที่ตัวเองครองอยู่มานานหลายสิบปี
* Cooperation (ความร่วมมือ) เป็นทางเลือกที่มักถูกมองข้าม พันธมิตร เครือข่าย และการจัดระบบข้อมูลใหม่สามารถเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้ เพราะมันไม่ใช่แค่การแย่งเค้กก้อนเดิม แต่คือการ “สร้างเค้กใหม่” ขึ้นมา ในโลกจริง เกมที่เป็นผลรวมเป็นศูนย์ (zero-sum games) มีอยู่น้อยมาก—แค่เราต้องใช้ “จินตนาการ” ให้มากขึ้น
สำหรับ Skechers พวกเขาเลือกจะใช้ Punching Up + Staying in your lane ในการสู้กับเจ้าตลาด อย่าง Nike และ Adidas
โกดินถามต่อว่า “แล้วอะไรคือสิ่งที่ใช้ไม่ได้ผล?”
คำตอบ “การดันทุรัง การพยายามหนักขึ้นโดยไม่มีทิศทาง หรือการพยายามเป็นเหมือนผู้นำตลาด...แต่ ‘ไม่ใช่พวกเขา’” นั่นแหละครับ
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#MakeRichGeneration #การเงิน #ธุรกิจ #แนวคิด #Skechers #รองเท้า #แบรนด์ #ความสำเร็จ #Nike #Adidas
โฆษณา