14 พ.ค. เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สหรัฐ-จีนพักรบ สัญญาณบวก จี้รัฐเร่งเจรจา “ทรัมป์” ผวาเสียเปรียบเวียดนาม

บิ๊กเอกชนจี้รัฐบาลเร่งเจรจาภาษีทรัมป์ หลังล่าสุดสหรัฐ-จีนทำเซอร์ไพรส์ลดภาษีระหว่างกันลงถึง 115% ส่งสัญญาณบวก โลกคลายความตึงเครียด ตั้งความหวังภาษีไทยไม่เสียเปรียบเวียดนาม สมาพันธ์เอสเอ็มอีเสนอ 7 ยุทธศาสตร์รับมือ
การบรรลุผลการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน คู่เอกสงครามการค้าโลก ที่ทั้งสองฝ่ายประกาศจะลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันลง 115% โดยสหรัฐจะลดภาษีสินค้าจีนจาก 145% ลงเหลือ 30% และจีนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐลงจาก 125% เหลือ 10% เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 (และจะครบกำหนดวันที่ 9 ส.ค. 2568) สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก หลังจากก่อนหน้านี้สองฝ่ายขึ้นภาษีตอบโต้กันชนิดไม่มีใครยอมใคร
ขณะที่คู่ค้าสหรัฐอีกกว่า 60 ประเทศ(รวมถึงไทย) ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ จะถูกเก็บภาษีตอบโต้(Reciprocal Tariff) ในอัตรา 11-50% (ไทย 36%) ยังต้องเร่งเดินหน้าเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ก่อนครบกำหนดเส้นตายที่สหรัฐชะลอการขึ้นภาษี 90 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วหากไทยไม่บรรลุผลในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐในทิศทางที่ดีขึ้นได้ อาจถูกเก็บภาษีสูงสุดที่ 36%
สร้างความกังวลใจให้กับภาคการผลิตและส่งออกของไทยอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เมื่อเทียบกับสินค้าจีนที่จะถูกเก็บภาษีเพียง 30% และสินค้าจากประเทศคู่แข่งขันอื่น ๆ ที่อาจเสียภาษีตํ่ากว่าไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนล่าสุด ที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันดังกล่าว หลายฝ่ายมองเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ แต่ในมุมมองของ ส.อ.ท. และนักธุรกิจมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีการประนีประนอมกัน
เนื่องจากแต่เดิมยังมองไม่ออกว่าการที่สหรัฐเก็บภาษีจากจีนสูงถึง 145% ขณะที่จีนเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ 125% ซึ่งเป็นการตอบโต้ที่ดุเดือด และสะเทือนไปถึงทุกประเทศที่เป็นคู่ค้าว่าจะมีทางออกอย่างไร ทั้งนี้มองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ หรือยุทธวิธีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐมีความเชี่ยวชาญจากการเป็นนักเจรจา ซึ่งผ่านการคำนวณมาแล้วว่าสินค้าจีนต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐจำนวนมาก จะทำให้จีนต้องตกเป็นรองและเร่งมาขอเจรจา
ส่วนฝ่ายจีนเองก็มีการคำนวณและทำการบ้านมาค่อนข้างดี โดยมองว่าแม้ตลาดใหญ่ของจีนจะเป็นสหรัฐ และสินค้าเกือบทุกหมวดสหรัฐต้องนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้ที่เดือดร้อนคือผู้บริโภคจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามอัตราภาษี เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสินค้าจะขาดตลาด ทำให้ประชาชนต้องออกมาเดินขบวนประท้วง และในท้ายที่สุดทำให้เกิดการวัดใจระหว่างกัน และได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้าเป็นเพียงแค่ระยะเวลาชั่วคราว โดยจะครบกำหนดในวันที่ 9 สิงหาคม ดังนั้น เวลาที่เหลือหลังจากนี้ทั้งสหรัฐและจีนจะต้องมีการทำการบ้านอย่างหนักในรายละเอียดอีกมากที่มีการต่อรองกันอยู่และยังไม่มีคำตอบ
ในส่วนของประเทศไทยสิ่งที่น่ากังวลคือ การชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้ 36% ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่ถึง 60 วัน ปัญหาหลังจากนี้คือไทยยังไม่ได้มีวันนัดเจรจากับสหรัฐที่ชัดเจน แต่จากที่สหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงล่าสุด
เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าบรรยากาศมีการคลี่คลายสำหรับประเทศที่กำลังเจรจรอยู่ เนื่องจากจีนที่ถือเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐยังลดภาษีลงมาเหลือแค่ 30% ประเทศอื่นก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะได้ปรับลดภาษีลงด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเท่าใด ขึ้นอยู่กับการเจรจาและต่อรอง เพราะแต่ละประเทศก็มีสถานะที่แตกต่างกับจีน
“ประเทศอื่นซึ่งไม่ได้มีสถานะแบบจีน จะต้องการบ้านอย่างหนัก เพื่อหาวิธีในการเจรจา รวมถึงประเทศไทยซึ่งขณะที่ยังรอว่าจะได้คิวในการเจรจาเมื่อไหร่ และต้องมีการศึกษาจากบทเรียนข้างต้น เพื่อหาจุดที่จะไปต่อรอง เพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ลดแล้วดีขึ้นมากที่สุด โดยเชื่อว่าจากระดับ 36% น่าจะได้ปรับลดลงมาได้”
สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ เมื่อได้ลดภาษีแล้ว หากจะให้ดีที่สุดไทยจะต้องตํ่ากว่าเวียดนาม(เวียดนามในเบื้องต้นจะถูกเก็บ 46%) แต่หากเวียดนามเจรจาได้ดี อาจจะได้อัตราใกล้เคียงกันในภูมิภาค ก็ยังไม่ได้เปรียบเสียเปรียบ ไทยก็ยังสามารถแข่งขันได้
“สิ่งที่กังวลคือ หากมีการเจรจาแล้วสหรัฐมีการปรับลดภาษีของเวียดนามจาก 46% เหลือ 25-26% ขณะที่ประเทศไทยได้ลดจาก 36% เหลือแค่ 30% หรือลดแล้วยังสูงกว่าเวียดนาม แต่หากลดเท่ากันก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวล หรือลดในสัดส่วนที่ไทยได้ตํ่ากว่าก็จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดี”
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่สหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงในการลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเป็นการชั่วคราว 90 วัน โดยสหรัฐจะลดภาษีให้จีนเหลือ 30% และจีนลดภาษีให้สหรัฐเหลือ 10% ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลกและสัญญาณบวกกับทุกประเทศ และช่วยลดความตึงเครียดทางการค้า
ในส่วนของประเทศไทยในฐานะพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน จำเป็นต้องเร่งเดินหน้าเตรียมความพร้อมในการเจรจาและนำเสนอข้อมูลเพื่อผลักดันโอกาสทางการค้ากับสหรัฐภายในเดือนนี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน กล่าวว่า ไทยน่าห่วง เพราะจนถึง ณ เวลานี้ยังไม่มีคิวเจรจากับสหรัฐเลย ซึ่งไม่ทราบว่าติดขัดอะไร ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านย่านอาเซียนที่ได้เริ่มนับหนึ่งและมีการเจรจากับสหรัฐไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ขณะที่กัมพูชากำลังจะเจรจากับสหรัฐอย่างเป็นทางการ (13-15 พ.ค. 68)
“ไทยมีปัญหาในหลายเรื่อง ที่อาจเป็นเหตุผลทำให้ยังไม่มีคิวเจรจากับสหรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากที่ไทยส่งชาวอุยกูร์ให้จีน และมีการดำเนินคดีกับ ดร.พอล แชมเบอร์ส ทำให้หลายคนในคณะรัฐมนตรีนี้ถูกแบล็กลิสต์ระงับวีซ่าเข้าสหรัฐ ทั้งนี้หากท้ายที่สุดไทยไม่ได้เจรจา เราก็จะถูกเก็บภาษีตอบโต้ 36% ซึ่งจะทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขันส่งออกไปสหรัฐมาก หากประเทศเพื่อนบ้านได้รับอัตราภาษีตํ่ากว่าไทย”
ด้าน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ไทยมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านในการเจรจากับสหรัฐ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของสหรัฐที่มีต่อประเทศไทย โดยต้องมีการจัดทำ “Checklist” ที่สำคัญ เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้สูงสุดและตํ่าสุดที่ประเทศไทยสามารถยอมรับได้ พร้อมทั้งวางแผนยุทธศาสตร์รองรับสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง
เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว ต้องยกเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทย ผ่านการขับเคลื่อนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้แนวคิด “Thailand Teamwork” โดยมุ่งเน้น 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ต้องเผชิญและออกแบบกลไกการรับมืออย่างมีกลยุทธ์และคุ้มค่าเม็ดเงินงบประมาณ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์แก้หนี้และเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนตํ่า ปลดโซ่ตรวนหนี้สินที่ถ่วงรั้งเศรษฐกิจ และสนับสนุนกลุ่มทุนที่มุ่งคํ้าจุนเศรษฐกิจแบ่งปันให้เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยตํ่า 2. ยุทธศาสตร์การศึกษาและยกระดับขีดความสามารถ สร้างคนให้มีอาวุธทางปัญญา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก
3. ยุทธศาสตร์ Lean-Clean Energy ลดไขมันส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้กับประเทศ 4. ยุทธศาสตร์สร้างสมดุลพันธมิตรระหว่างประเทศ สร้างความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศ เพื่อสร้างดุลยภาพให้กับประเทศไทย
5.ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง สร้าง SEP Citizenship หรือพลเมืองที่ตระหนักรู้และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต 6. ยุทธศาสตร์จัดระเบียบประเทศใหม่ ปฏิรูปกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการและส่งเสริมการลงทุน ปรับแก้กฎระเบียบเพื่อจัดทัพเศรษฐกิจใหม่
และ 7. ยุทธศาสตร์ดับเศรษฐกิจนอกระบบ จูงใจผู้ประกอบการและแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ ปราบปรามการเก็บส่วย เพื่อให้ธุรกิจที่มีต้นทุนนอกระบบเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง และขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อไม่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจนอกระบบ
โฆษณา