Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฐานเศรษฐกิจ_Thansettakij
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 พ.ค. เวลา 07:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คลังลุยภาษีความมั่งคั่ง เฉือนเนื้อเจ้าสัว ลดความเหลื่อมล้ำ
คลังเปิดแผนปฏิรูปภาษี มุ่งเพิ่มรายได้จาก 14% เป็น 18% เน้นลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านภาษีความมั่งคั่ง ควบคู่ศึกษา Negative Income Tax วางเป้าเพิ่มรายได้ 8 แสนล้านบาท/ปี
ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัว กระทรวงการคลังได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีจากปัจจุบันที่ 14% เป็น 18% ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6-8 แสนล้านบาทต่อปี
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เผยว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย การปฏิรูประบบรายได้ภาครัฐจึงเป็นวาระแห่งชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“กระทรวงการคลังมีคณะกรรมการปฏิรูปภาษีที่กำลังพิจารณาโครงสร้างรายได้ทั้งหมดอย่างจริงจัง เราวางเป้าหมายให้การปรับโครงสร้างครั้งนี้เสร็จภายในปีงบประมาณนี้ การเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งการเก็บภาษีใหม่ การทบทวนภาษีบางประเภทที่ยังไม่มีการจัดเก็บหรือยกเลิกไป รวมถึงการปรับอัตราภาษีที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจมีทั้งการปรับขึ้นและปรับลง” นายลวรณกล่าว
แนวทางการปฏิรูปภาษี
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดทำแผนการจัดเก็บรายได้รัฐบาล โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่
1. ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพิจารณาทบทวนการยกเว้นและลดหย่อนต่างๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และการขยายฐานภาษี
2. รองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดเก็บภาษีให้มีความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
3. ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้เสียภาษีลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
4. สร้างความเป็นธรรม ทั่วถึง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามหลักความเป็นธรรมทั้งในแนวตั้ง (ผู้มีเงินได้มากกว่าควรเสียภาษีในสัดส่วนมากกว่า) และแนวนอน (ผู้มีเงินได้เท่ากันต้องเสียภาษีเท่ากัน)
ชู NIT นวัตกรรมภาษีลดเหลื่อมล้ำ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาการจัดเก็บภาษีในรูปแบบ “Negative Income Tax” หรือ “ภาษีรายได้เชิงลบ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจาย ปัจจุบันข้อมูลมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแนวคิดนี้แล้ว
“หากนำ Negative Income Tax มาใช้ ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ รัฐบาลจะต้องไปเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนผ่านการจัดสวัสดิการ” นายลวรณกล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับผู้ที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หลังจากที่พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากหลีกเลี่ยงการยื่นจดทะเบียนภาษี VAT โดยพยายามที่จะหาช่องทางกระจายรายได้เพื่อให้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน VAT ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากส่วนนี้
“เราอยู่ระหว่างการพิจารณาในเรื่องนี้ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะได้ข้อสรุป เบื้องต้นกำลังดูว่าจะให้มีการจัดเก็บภาษี VAT แบบเหมาจ่ายดีหรือไม่สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้ผู้มีรายได้เหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบ VAT มากขึ้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป จะต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง” นายลวรณกล่าว
เร่งศึกษาเก็บภาษีความมั่งคั่ง
นายพรชัย ฐีระเวช ยังได้เสนอแนวคิดการพัฒนาระบบภาษีทรัพย์สินรูปแบบใหม่เพิ่มเติม โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Net Wealth Tax) สำหรับผู้ที่ถือครองสินทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้ระบบภาษีสะท้อนความมั่งคั่งที่แท้จริง
1
“ระบบภาษีไทยในปัจจุบันยังคงพึ่งพาภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมักส่งผลกระทบในสัดส่วนที่มากกว่าต่อผู้มีรายได้น้อย การปรับสมดุลระหว่างภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ” นายพรชัยกล่าว
นอกจากนี้ ยังเสนอให้พิจารณาปรับรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการหักค่าใช้จ่าย (Deduction) ไปสู่ระบบเครดิตภาษี (Tax Credit) ที่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผู้มีรายได้สูง
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยอยู่ในระดับเกือบต่ำที่สุดของโลก อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจำเป็นต้องบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรและ สศค. ศึกษาการใช้ Negative Income Tax ในการจัดสวัสดิการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
สรรพากรจ่อเก็บภาษีปี 68 ต่ำเป้า
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2568 การจัดเก็บรายได้ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของกรม ถือว่ามีความท้าทายที่จะทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย โดยช่วงนั้นมีการยื่นแบบภาษีสำคัญๆ อยู่ 2-3 ประเภท เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.) 50 ของปีที่แล้ว และภ.ง.ด. 51 ของปีนี้ รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
จากการประเมินพบว่าการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 90,000 ล้านบาท แต่จะจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้รับ ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรทำงานอย่างเข้มข้น ลงไปดูรายละเอียดต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ
เร่งดึง 4 ล้านคนเข้าสู่ระบบภาษี
ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ตอบโจทย์กับปัจจุบันมากขึ้น กรมก็ได้ศึกษาแผนการปฏิรูปจัดเก็บรายได้ของกรมให้สอดคล้องปัจจุบันยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้มีเงินได้อยู่ในระบบฐานภาษีเพียง 11 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงควรอยู่ที่ 15 ล้านคน และจากสัดส่วนดังกล่าว พบว่า ประมาณ 7 ล้านคน ยื่นแบบไม่มีภาษีที่ต้องชำระ ซึ่งมีเพียง 4 ล้านคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฉะนั้น กรมจึงอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางในการดึงกลุ่มเป้าหมายอีก 4 ล้านคน ให้เข้ามาสู่ระบบ
“เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายอีก 4 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบ กรมได้เชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 80 องค์กร ซึ่งการใช้ข้อมูลนั้น เช่น ภาครัฐ เราก็จะไปขอข้อมูลจากกรมกระทรวงอื่น กรณีอย่างทางกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเสียภาษี ก็จะไปขอข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกรณีเอกชน หากมีการจัดบริษัทแล้ว เราก็ไปกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งกรมจะเข้าไปดูเรื่องการจ่ายเงินต่างๆ เพื่อมาประมวล จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ”
2
ทบทวนจดภาษี Vat รายได้ 1.5 ล้าน
นอกจากนี้กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จากปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียน Vat ทั้งนี้ในอดีตเคยกำหนดให้บริษัทที่มีรายได้ 1.5 ล้านบาท จะต้องมาจด Vat แต่ได้มีการยกเลิกไป ซึ่งในส่วนนี้จะมีการศึกษาเชิงวิชาการใหม่อีกครั้ง
กรมสรรพากรยังได้มีการพัฒนาบริการดิจิทัลมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีบริการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีครบถ้วนทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะจำนวนผู้ประกอบการที่จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับเป็น e-Tax Invoice และ e-Receipt ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า
แผนเก็บภาษีในยุคดิจิทัล
ในยุคดิจิทัลปัจจุบัน การพัฒนาบริการดิจิทัลของกรมสรรพากรจะไม่ได้มุ่งพัฒนาบริการของกรมสรรพากรเองเท่านั้น แต่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาบริการที่หลากหลาย โดยเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเชื่อมโยงบริการที่ไว้วางใจได้และปลอดภัยกับกรมสรรพากร หรือเรียกว่ากรมสรรพากรทำหน้าที่เป็น platform แทนที่จะเป็น developer
สำหรับทิศทางการจัดเก็บภาษีของโลกมุ่งเป็น Tax Administration 3.0 ซึ่งเป็นการฝังระบบภาษีเข้าไปในระบบที่ผู้เสียภาษีใช้ในธุรกิจหรือใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้การจัดการภาษีไร้รอยต่อและไร้แรงเสียดทานการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น การนำส่งข้อมูลการซื้อขายสินค้าให้แก่กรมสรรพากรพร้อมกันกับการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้า ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรได้ข้อมูลแบบ Real-time และสามารถวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่ถูกต้องได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ กรมยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวคิดการจัดเก็บภาษี negative income tax (NIT) ร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อดูแลสวัสดิการประชาชน ซึ่งปัจจุบันสวัสดิการกระจัดกระจายอยู่ที่หน่วยงานต่างๆ ฉะนั้น เราจึงศึกษาเพื่อจัดสวัสดิการดูแลประชาชน โดยทุกคนจะต้องเข้ามายื่นแบบภาษีไม่ว่าจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ หรือรายได้เกณฑ์ที่กำหนด หากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ เราก็จะจัดสวัสดิการให้ ซึ่งก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะให้กับประชาชนทั้งระบบ หรือจะเริ่มทำเฉพาะวัยทำงานก่อน
นายปิ่นสาย กล่าวว่า สรรพากรยังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษี pillar 1 สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศที่เป็นแหล่งรายได้ของ MNEs ไม่ว่าบริษัทจะตั้งถิ่นฐานในประเทศนั้นๆ หรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยจะมีผลกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ทั่วโลกเกิน 20,000 ล้านยูโร และมีกำไรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
ทั้งนี้ จะเริ่มต้นด้วยรายได้ตามงบการเงินของบริษัทและใช้การปรับภาษีจำนวนจำกัดเพื่อคำนวณจำนวนกำไรก่อนหักภาษีที่ปรับแล้ว จากนั้น กำไร 25 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งหมดที่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกจัดสรรให้กับเขตอำนาจศาลที่เข้าเงื่อนไขตามสัดส่วนของจำนวนรายได้ที่สร้างขึ้นในเขตอำนาจศาลแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามท่าทีของสหรัฐอเมริกา ว่าจะขับเคลื่อนนโยบายนี้ต่อหรือไม่
thansettakij.com
คลังลุยภาษีความมั่งคั่ง เฉือนเนื้อเจ้าสัว ลดความเหลื่อมล้ำ
คลังเปิดแผนปฏิรูปภาษี มุ่งเพิ่มรายได้จาก 14% เป็น 18% เน้นลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านภาษีความมั่งคั่ง ควบคู่ศึกษา Negative Income Tax วางเป้าเพิ่มรายได้ 8 แสนล้านบาท/ปี
4 บันทึก
4
1
4
4
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย