15 พ.ค. เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

แบงก์รัฐ ฟันเฟืองลดความเหลื่อมล้ำ โอบอุ้มเศรษฐกิจไทย

แบงก์รัฐเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก แก้ไขหนี้ครัวเรือน ลดเหลื่อมล้ำ สนับสนุนคนเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะช่วงวิกฤต เช่น โควิด พร้อมเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย “ธนาคารของรัฐ” หรือ “แบงก์รัฐ” ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่เน้นผลกำไรสูงสุด
แบงก์รัฐมุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย บทบาทของแบงก์รัฐจึงไม่เพียงแค่สนับสนุนด้านการเงิน แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวม
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐกล่าวถึงบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ว่า แบงก์รัฐ เป็นอีกหนึ่งกลไกของรัฐบาล ที่ช่วยสนับสนุนให้คนฐานราก ผู้ที่ไม่มีความสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน และไม่ไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
แบงก์รัฐได้ใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก และธนาคารออมสินก็ได้มีการหย่อยเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ เพื่อให้กลุ่มฐานรากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันแบงก์รัฐ ได้มีบทบาทหลักในการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเคยอยุ่ระดับสูงสุดถึง 91% และตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 88% ถือเป็นปัญหาเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะหากแก้หนี้ครัวเรือนไม่สําเร็จ ก็จะไม่สามารถทําให้คนมีกําลังซื้อได้ และประชาชนก็จะมีปัญหา
“รัฐบาลมีนโยบายต้องการรแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ซึ่งผ่านมาออมสินทําเรื่องนี้มาโดยตลอด"
อย่างเช่น ในปีที่แล้ว รัฐบาลยกหนี้ให้กับประชาชนไปผ่านออมสิน 8 แสนราย คือ รัฐบาลจ่ายหนี้คืนที่ออมสินเลย โดยหนี้ดังกล่าว มูลหนี้น้อย ประมาณ 3,000-5,000 บาท แต่เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะช่วยเขาให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย และให้สามารถกลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ ทํามาหากินได้
ทั้งนี้ ระยะต่อไปรัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมโครงการดูแลหนี้ครัวเรือนในภาพรวม และแก้ไขหนี้เสียเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นมาตรการขนาดใหญ่ จะต้องรอติดตามต่อไป ซึ่งจะสามารถช่วยประชาชนได้กว่าหลายล้านคน ซึ่งออมสินก็จะเป็นหนึ่งในนั้นที่จะเข้าไปร่วมดูแลเรื่องหนี้ประชาชนด้วย
นอกจากนี้ เรายังได้ตั้ง ARI-AMC บริษัทบริหารสินทรัพย์หนี้เสียของเราเอง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ออมสินถือหุ้น 50% และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM อีก 50% ซึ่งเข้าไปช่วยกันบริหาร เพื่อเข้าไปบริหารหนี้เสียของประชาชน ทั้งนี้ ระยะแรกเราได้โอนหนี้เสียของออมสินเข้าไปบริหาร ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ไขหนี้ให้กับประชาชนได้กว่าแสนราย
ระยะต่อไปเราก็จะเริ่มโอนหนี้เสียของออมสินเข้าไปบริหารใน ARI-AMC รอบที่ 2 และที่ 3 ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะทําให้คนแก้หนี้เสียได้เร็ว
นอกจากนี้ แบงก์รัฐ ยังมีบทบาทและหน้าที่ในการประคับประคองเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง เช่น ในช่วงที่เกิดวิกฤต อย่างสถานการณ์โควิด ทุกกลุ่มได้รับผลกระทบ ทั้งธุรกิจ กลุ่มฐานรากกลุ่มคนเปราะบาง สำหรับเรื่องการเงินนั้น เป็นหน้าที่ของแบงก์รัฐ ซึ่งในภาพรวมทุกแบงก์ก็เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลกลุ่มคนกลุ่มนี้ตามเป้าหมาย
นายวิทัยเล่าวว่า ช่วงนั้นอาจจะเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะป้องกันตัวเอง ไม่สามารถเข้าไปปล่อยสินเชื่อได้มาก หรือดูแลกลุ่มดังกล่าวมาก เพราะว่าอาจจะมีเงื่อนไขเรื่องของผลประกอบการ แบงก์รัฐก็จะเข้าไปฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนออมสินเองในฐานะที่เป็นแบงก์รัฐขนาดใหญ่ที่สุด เราก็ทําหน้าที่ดูแลในส่วนนี้ด้วย เช่น ออกซอฟต์โลน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราที่ผ่อนปรนมากกว่าปกติ
“อันนี้ก็เป็นวิธีการประคับประคองโดยภาพรวมในเรื่องของซอตฟ์โลน นอกจากนั้นก็มีเรื่องการที่เราปล่อยสินเชื่อให้กับ ประชาชนกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มคนฐานราก ผ่านสินเชื่อฉุกเฉิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เข้ามาช่วยปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ ในช่วงโควิด ออมสินได้ปล่อยสินเชื่อดูแลรายย่อยไปเกือบ 4 ล้านราย ซึ่งถือว่าเยอะมาก เนื่องจากโดยปกติแต่ละปีออมสินปล่อยสินเชื่อ เฉลี่ยปีละประมาณ 700,000 ราย แต่ในช่วงโควิดนั้น ประมาณ 2 ปี ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 4 ล้านราย เฉลี่ยเราปล่อยสินเชื่อปีละ 2 ล้านราย ก็เป็นการสนับสนุนเม็ดเงินลงในระบบเศรษฐกิจ ช่วยประครองฐานราก และเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกัน ในด้านการบริหารงานของออมสินนั้น เราได้เปลี่ยน Position ชัดเจน เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” มาเกือบ 5 ปีแล้ว ทำให้ออมสินสามารถเข้าไปช่วยคนได้ปีละหลายล้านคน และผลประกอบการแบงก์มีกำไรที่ดี ภาพรวมแบงก์ก็มีความแข็งแรง ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้กรุณาปรับเป้าหมายใหม่ รายได้แบงก์ไม่ต้องกําไรสูงสุด แต่ให้มีกําไรที่เหมาะสมในการส่งรายได้ให้กับรัฐบาล
โดยส่วนที่เหลือก็จะได้เอามาช่วยคน ซึ่งในปี 2568 นี้ ออมสินตั้งเป้าว่าจะช่วยคนให้ได้ 2 ล้านคน ผ่านการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น ยกหนี้ ลดหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเงินต้นให้กับประชาชน หรือช่วยคนที่ปกติแต่กู้ไม่ได้ เพราะความเสี่ยงสูง เราก็จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดดอกเบี้ยหรือผ่อนเกณฑ์ให้เขาเข้าถึงสินเชื่อได้ รวมถึงจะเข้าไปพัฒนาที่สร้างอาชีพต่างๆ ให้ประชาชนด้วย
จากภารกิจการเข้าไปดูแลแก้ปัญหานี้ครัวเรือน รวมถึงการเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจช่วงวิกฤตนั้น ปัจจุบันได้ตอกย้ำว่า แบงก์รัฐคือหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ต้องดูแลและพัฒนาประชาชนต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เพื่อ “อุ้ม” ยามวิกฤต แต่เข้าไปช่วยพัฒนา “รากฐาน” เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน
โฆษณา