15 พ.ค. เวลา 07:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ADB ประกาศทุ่ม 1.6 ล้านล้าน หนุนพัฒนาอาหาร-พลังงาน เอเชียแปซิฟิค

สศช. ร่วมวงประชุม ADB ประกาศทุ่ม 1.6 ล้านล้านบาท การขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ทั้งสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และพัฒนาพลังงาน พร้อมร่วมมือไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ สศช. ในฐานะคณะผู้แทนไทย เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 58 (The 58th ADB Annual Meeting) และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อระหว่างวันที่ 4 - 7 พฤษภาคม 2568
สำหรับการประชุมประจำปี 2568 นี้ ADB ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
1. การสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดย ADB ตั้งเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,335,059 ล้านบาท ภายในปี 2573 เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารในเอเชีย
2. การลดช่องว่างทางดิจิทัล เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ และพัฒนาระบบชำระเงินให้ทันสมัย
3. การส่งเสริมระบบพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการลงทุน 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 333,764 ล้านบาท ในโครงการโครงข่ายพลังงานอาเซียน (ASEAN Power Grid)
4. การเสริมสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเปราะบางให้สามารถปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนได้
นอกจากนี้ ADB ยังมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการเงิน และการวางเป้าหมายเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน โดยเน้นบทบาทสำคัญของผู้ประกอบการและนักลงทุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาด้วย
สศช.ถกผู้บริหาร ADB ร่วมมือพัฒนาน้ำ-ศก.มหภาค
 
นายดนุชา กล่าวว่า ยังได้หารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของ ADB ประกอบด้วย
1.การหารือร่วมกับ Mr. Bruno Carrasco, Director General of the Sustainable Development and Climate Change Department, Asian Development Bank (ADB) ในประเด็นเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือในการจัดทำโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศและน้ำ โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศไทยและการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ เลขาธิการฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการบูรณาการประเด็นคุณภาพน้ำและอากาศเข้ากับภาคเกษตรซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย รวมทั้งการส่งเสริมแนวทางการเพิ่มมูลค่าในภาคเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการแบ่งปันข้อมูลระหว่างภาคส่วน การดำเนินมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐ
รวมทั้งความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการปรับปรุงคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
2. การหารือร่วมกับ Mr. Albert Francis Park, Chief Economist and Director General, Economic Research and Development Impact Department, Asian Development Bank (ADB) ในประเด็นเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
พร้อมร่วมมือ Climate Change เศรษฐกิจสีเขียว
ทั้งนี้ยังได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พร้อมทั้งหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามกลไกภายใต้มาตรา 6 ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ว่าด้วยแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแนวทางการขยายระบบการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit Trading System) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามในการหารือครั้งนี้ ยังได้มีการอ้างอิงถึงรายงานที่ ADB จัดทำร่วมกับรัฐบาลจีนเพื่อศึกษาระบบซื้อขายการปล่อยมลพิษของประเทศจีน โดยพบว่า แม้ระบบดังกล่าวจะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะแรกค่อนข้างต่ำ แต่ระยะต่อมาจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของตลาดในฐานะกลไกในการส่งเสริมการปรับตัวของภาคธุรกิจและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังได้เน้นย้ำถึงบทบาทของนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
แนะลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี
 
เลขาฯ สศช. ยังกล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ "Beyond Borders: Building Bridges for Shared Prosperity”ว่า แม้ขณะนี้หลายประเทศจะมีความพยายามในการเปิดเสรีทางการค้าในระดับภูมิภาค แต่อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เช่น มาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกันและข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ จึงควรเร่งผลักดันการลด NTBs ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล
รวมทั้งการดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การค้าโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงแนวคิด 3Cs ได้แก่ การเชื่อมโยง (Connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และความเป็นชุมชน (Community) ซึ่งถือเป็นกรอบคิดสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือในแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program: GMS Program)
โดยเน้นว่าความเข้าใจและการวางแผนร่วมกันตามแนวคิดดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญของการรวมตัวและการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาค GMS ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างรากฐานของความร่วมมือที่ยั่งยืนและสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โฆษณา