เมื่อวาน เวลา 04:00 • อสังหาริมทรัพย์

‘TDRI-ผู้รับเหมา’กระทุ้งรัฐ เร่งลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ใหม่

ทีดีอาร์ไอ-รับเหมา กระทุ้งรัฐ สาดกระสุน ลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ใหม่ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ฟาก “คมนาคม” เปิดขุมทรัพย์ ล็อตใหญ่ 3 ล้านล้านบาท
ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศผันผวน มีผลพวงมาจากหลายปัจจัยที่เผชิญ โดยเฉพาะกำแพงภาษีสหรัฐอเมริกา ฉุดภาคผลิตและส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทรุดตัว
ดังนั้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐจึงเป็นความหวังเดียวที่จะช่วย ขับเคลื่อนก่อให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบฐานราก
ดร.สุเมธ องกิตติกุลผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย” ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในปัจจุบันการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมในช่วงที่นี้ยังไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการใหม่ ซึ่งมีแต่การก่อสร้างโครงการเดิมที่มีอยู่อีกทั้งมีความล่าช้ามาสักพักแล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาหลายประเทศมองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยให้ประเทศได้ประโยชน์มากน้อยขนาดไหน หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเช่นกัน เนื่องจากมีการใช้วัสดุภายในประเทศ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางเลือกหนึ่ง
“การลงทุนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการแค่กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเท่านั้น แต่เราอยากได้ประโยชน์จากโครงการด้วย เช่น การสร้างท่าเรือจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง ในความคาดหวังการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นสิ่งสำคัญ” ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ส่วนกำแพงภาษีสหรัฐฯ ไม่กระทบการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าและส่งออกมากกว่า
โดยปกติการก่อสร้างมักจะใช้วัสดุจากภายในประเทศ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมามากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ใช้วัสดุจากการนำเข้าและส่งออกมากเท่าไร
แหล่งข่าวจากTDRI กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้จะสร้างความต้องการแรงงานจำนวนมาก ช่วยลดอัตราการว่างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐจะก่อให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูนซีเมนต์ เครื่องจักรกลหนัก ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและการผลิตในประเทศ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนอกจากนี้ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ทำให้สินค้าและบริการของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น
ทางด้านนายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า โครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐออกมาไม่มากและต้องรองบประมาณใหม่
อย่างไรก็ตาม สมาคมเสนอให้รัฐเร่งนำโครงการใหม่ออกมาประมูล รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างที่เน้นวัสดุในประเทศ เช่นวัสดุตกแต่ง ฯลฯ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ
ขณะกระทรวงคมนาคมภายใต้การดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในปี 2568 ที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ประเดิมที่โครงการเรือธงแรกรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่าจะประกาศกฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างไรก็ดีคาดว่าจะใช้งบชดเชยอุดหนุนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ โดยมาจากกำไรสะสมประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี
ถัดมาโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ในกรุงเทพฯ 3 โครงการ ประกอบ รถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 89,948 ล้านบาท ,รถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ วงเงิน 29,130 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงดินแดง-สาทรปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่ได้มีการศึกษาประมาณการและรูปแบบการลงทุนของโครงการ
หลังคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสุริยะเป็นประธาน มีมติ ให้โอน3โครงการดังกล่าว จากกรุงเทพ มหานคร (กทม.) มายังกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันรฟม. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนรายละเอียดการศึกษาเพิ่มเติมถึงการวิเคราะห์ตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2568
ด้านความคืบหน้ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 4 เส้นทาง รวมวงเงิน 114,351 ล้านบาท โดยโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงิน 6,473 ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลภายในเดือนพฤษภาคม-กันยายนนี้
ขณะที่โครงการรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 15,176 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าวาระครม. สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ -พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 44,573ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับย้ายตำแหน่งสถานีราชวิถี เปลี่ยนมาอยู่ฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี และมีทางเดินลอยฟ้า(สกายวอล์ก) จากสถานีเชื่อมเช้าสู่อาคารของโรงพยาบาล ตามแผนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและครม.เห็นชอบต่อไป
ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงวงเวียนใหญ่-มหาชัย วงเงิน 48,129 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา บอร์ด รฟท. ได้อนุมัติสั่งจ้างกิจการค้าร่วม (Consortium) ในนามของบริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา โดยที่ปรึกษาจะมีระยะเวลาดำเนินการตามสัญญา 15 เดือน (เม.ย.68 - มิ.ย.69)
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง วงเงินรวม 2.8 แสนล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 เส้นทาง คือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 28,679 ล้านบาท ส่วนอีก 6 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย วงเงิน 81,143 ล้านบาท
ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี วงเงิน 44,103 ล้านบาท ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 30,422 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ - สงขลา วงเงิน 66,270 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,900 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 68,222 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอครม.อนุมัติโครงการฯ ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) 2 โครงการ ประกอบด้วย ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท
ปัจจุบันคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อนุมัติแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนฯแล้ว เบื้องต้นตามขั้นตอนจะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับสัญญาที่มีทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย รฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (ซีพี)
ทั้งนี้หลังจากนั้นจะส่งต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน และเสนอต่อสกพอ.เห็นชอบก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาฯต่อไป คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
ด้านความคืบหน้าไฮสปีด ไทย - จีน ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท ล่าสุดครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยรฟท. อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคาหาผู้รับจ้าง คาดว่าจะเปิดประมูลเดือน พฤษภาคม-มิถุนายนนี้ ตามแผนจะเปิดให้บริการปี 2574
เช่นเดียวกับโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ยังคงต้องรอร่างกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้มีผลบังคับใช้ก่อนจะจะสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้
ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม) พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีการเปิดประชุมสมัยสามัญวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 จะใช้ระยะเวลาการพิจารณาในสภาฯแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน คาดว่าร่างพ.ร.บ.SEC จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคม 2568
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม-20 เมษายน 2568 สนข.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.SEC ผ่านระบบกลางทางกฎหมายและผ่านการเชื่อมต่อเว็บไซต์กระทรวงคมนาคมและสนข.พบว่ามีผู้เห็นด้วย 8,000 ราย และมีผู้ให้ข้อเสนอแนะ 700 ราย หลังจากนั้นจะปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ตามแผนจะจัดทำร่างเอกสารการประกาศประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ภายในปลายปี 2568 ในระหว่างนี้จะดำเนินการออกพรฎ.เวนคืนที่ดิน ภายในปี 2569 และเสนอต่อครม.อนุมัติโครงการแลนด์บริดจ์ที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ระยะที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ วงเงินลงทุน 61,154 ล้านบาท
ปัจจุบันกรมทางหลวง(ทล.) เตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเร็วๆนี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการฯ หาก ครม. เห็นชอบ จะดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาทันทีและการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ติดตั้งงานระบบ พร้อมบำรุงรักษา (O&M) 1 ปี
ขณะที่เฟสที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง48 กม. ขณะนี้ ทล. เตรียมว่าจ้างศึกษาแนวเส้นทางใหม่ เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินของประชาชน เนื่องจากแนวเส้นทางเดิม มีปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่บริเวณ จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้ตามแผนคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาภายในปี 2568 ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จปี 2569 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการฯ ต่อไป โดยกรมทางหลวงได้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ และแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนพระราม 2 เป็นต้น
โฆษณา