เมื่อวาน เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หนี้การศึกษา 60 ล้านล้านบาท ที่คนอเมริกัน ต้องแบกระยะยาว

สำหรับคนอเมริกัน “การศึกษา” ถูกมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า ทั้งในด้านอาชีพ และรายได้
1
และมหาวิทยาลัย ถูกมองว่า คือความหวัง ที่จะทำให้ได้คุณภาพชีวิตที่มั่นคง และก้าวหน้า มากกว่ารุ่นพ่อแม่
แต่วันนี้ ภาพอาจเปลี่ยนไป และค่าเล่าเรียนด้านการศึกษา ก็กำลังถูกตั้งคำถามในสังคมอเมริกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะ “ใบปริญญา” ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของโอกาส กำลังกลายเป็นภาระทางการเงินมหาศาลสำหรับคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่ต้องเริ่มต้นชีวิตพร้อมกับ “หนี้” ก้อนโต
เรื่องนี้รุนแรงขนาดไหน
และหนี้การศึกษา ส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 การเรียนมหาวิทยาลัย ถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
เพราะคนอเมริกันที่มีใบปริญญา มักได้งานที่มั่นคง มีรายได้ดี และมีโอกาสเลื่อนขั้นสูงกว่าคนที่ไม่มี
โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Servicemen’s Readjustment Act หรือ G.I. Bill ในปี 1944
ที่เปิดโอกาสให้อดีตทหารผ่านศึก ได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ด้วยการออกค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพให้บางส่วน
ทำให้คนจำนวนมาก ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
บวกกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังช่วงสงคราม จนรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงระหว่างปี 1945-1960
ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นกลาง ที่เริ่มมีเสถียรภาพทางการเงิน เป็นจำนวนมาก และก็มีกำลังมากพอ ที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย
1
อีกทั้งในยุคนั้น มุมมองการศึกษา จึงไม่ใช่แค่ใบปริญญา แต่เป็นบันไดที่เปลี่ยนชีวิตคนทั้งครอบครัว
1
และนี่เองที่ทำให้ “มหาวิทยาลัย” กลายเป็นเป้าหมายของคนรุ่นต่อ ๆ มา ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับความเชื่อว่า การเรียนสูง คือทางลัดสู่ชีวิตที่ดีกว่า
และในเวลานั้น ความเชื่อนี้ก็เป็นจริง และยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันทั่วประเทศ พร้อมกับเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
1
แต่วันนี้ การศึกษาของสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ถูกมองในด้านดีเท่านั้น
แต่ยังมีอีกแง่มุม ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้การศึกษา”
ในสหรัฐอเมริกา การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ได้กลายเป็นภาระทางการเงิน ที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับตั้งแต่วันแรกที่เรียนจบ
1
ในปี 2025 หนี้การศึกษารวมของชาวอเมริกัน สูงถึง 60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว นับตั้งแต่ปี 2011
และตอนนี้ คิดเป็น 6% ของ GDP ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยมีชาวอเมริกันกว่า 43 ล้านคน ที่เป็นหนี้การศึกษากับรัฐบาลกลาง ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมหนี้กับภาคเอกชน
และสำหรับหนี้การศึกษาต่อหัว
ผู้กู้จะมีหนี้เพื่อการศึกษา เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 1.4 ล้านบาท
และถ้าเจาะแต่ละระดับการศึกษา จะพบว่า
- ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มีหนี้การศึกษา เฉลี่ยคนละ 1.0 ล้านบาท
- ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท มีหนี้การศึกษา เฉลี่ยคนละ 2.3 ล้านบาท
- ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิจัย มีหนี้การศึกษา เฉลี่ยคนละ 2.4 ล้านบาท
2
- ผู้สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย มีหนี้การศึกษา เฉลี่ยคนละ 4.7 ล้านบาท
- ผู้สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ มีหนี้การศึกษา เฉลี่ยคนละ 6.6 ล้านบาท
ตัวเลขนี้ เป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหา ที่กำลังรอคนรุ่นใหม่ ซึ่งเลือกเดินทางผ่านเส้นทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
และในความเป็นจริง พบว่าหนี้เหล่านี้ ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้หลายคนไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตได้
หนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้คนอเมริกัน ต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อเพื่อการศึกษา แถมหนี้ตรงนี้ก็กำลังบวมขึ้น ๆ
เพราะค่าเล่าเรียนในสหรัฐอเมริกา แพงขึ้นเรื่อย ๆ และเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าเงินเฟ้อ และรายได้ครัวเรือนมาก
1
ตั้งแต่ปี 2004-2024 ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ เฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นกว่า 141%
และค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน อาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
ขณะที่รายได้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นแค่ 15%
และอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นประมาณ 63%
นอกจากนี้ นักศึกษาชาวอเมริกัน ก็กำลังเจอแรงกดดันอีกทาง จากการตัดลดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ
โดยในปี 2025 ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ รัฐบาลเสนอให้ลดงบกระทรวงศึกษาธิการลง 15.3% หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท
พร้อมยกเลิก และลดงบโครงการช่วยเหลือนักศึกษาหลายรายการ ทำให้นักศึกษาต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ซึ่งหนี้การศึกษานั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาระในระยะยาว ที่ชาวอเมริกัน ต้องแบกรับหลังจบการศึกษา
แต่หนี้การศึกษา ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตคนอเมริกันในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในเรื่องการซื้อบ้าน การคิดเริ่มต้นธุรกิจ และการลงทุนต่าง ๆ
เช่น หนี้การศึกษา มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้าน เพราะมันเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ และทำให้การออมเงินสำหรับเงินดาวน์ยากขึ้น
ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้กู้ที่มีหนี้การศึกษาระบุว่า หนี้ดังกล่าว ทำให้พวกเขาไม่สามารถซื้อบ้านได้
1
ในด้านการลงทุน การมีหนี้การศึกษา ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งต้องใช้ไปกับการชำระหนี้
ทำให้ไม่สามารถเก็บออม หรือลงทุนในโอกาสสำคัญได้ การมีหนี้ทำให้บางคนต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัด ลดการใช้จ่าย และพลาดโอกาสในการเติบโต
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อการวางแผนและตัดสินใจในชีวิต เช่น การศึกษาต่อ การเปลี่ยนสายงานอาชีพ การเริ่มต้นครอบครัว การแต่งงาน และการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว อีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญของหนี้การศึกษาต่อการตัดสินใจทางการเงิน และการดำเนินชีวิต ซึ่งลามไปถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตและความเครียดจากการเป็นหนี้ ของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา
1
ซึ่งต่อไป แนวโน้มค่าเล่าเรียนด้านการศึกษา และหนี้การศึกษาของชาวอเมริกัน ก็คงสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ และอาจลุกลามจนรัฐบาลเริ่มจัดการไม่ได้
แล้วการศึกษาในมหาวิทยาลัย ยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ ?
จากงานวิจัยธนาคารกลางนิวยอร์กในปี 2025 ระบุว่า
ผู้ที่จบปริญญาตรี มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2.92 ล้านบาทต่อปี
เทียบกับผู้ที่จบมัธยมปลาย ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1.71 ล้านบาทต่อปี
1
หมายความว่า ผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้ที่จบมัธยมปลาย ถึงประมาณ 70% ต่อปี
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนในด้านรายได้ระหว่างผู้ที่มี และไม่มีใบปริญญา
แม้ว่าค่าเล่าเรียน และหนี้การศึกษาจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลก็ยังชี้ให้เห็นว่า การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยังคงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งในด้านรายได้ที่สูงขึ้น และโอกาสทางอาชีพที่ดีกว่า
รวมถึงให้ผลตอบแทนในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การได้ทำตามความฝัน ในอาชีพที่ต้องการใบปริญญา, ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง, คอนเน็กชันในมหาวิทยาลัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หนี้การศึกษาในสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นปัญหาที่มีผลกระทบมากกว่าที่เราคิด
1
ไม่เพียงสร้างภาระทางการเงินที่หนักหน่วง
แต่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อบ้าน การสร้างครอบครัว หรือแม้กระทั่งการลงทุนเพื่ออนาคต
เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ ไปกับการชำระหนี้การศึกษา การเก็บออม หรือการทำตามความฝันที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ก็กลายเป็นเรื่องยากขึ้น
ในอีกแง่มุมหนึ่ง การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
แม้จะมีค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น และต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนโต
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใบปริญญา สามารถเป็นประตูโอกาสในการเติบโต หรือยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ชาวอเมริกันหลาย ๆ คนได้
การจะตอบว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่คุ้มค่าหรือไม่นั้น ก็คงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว
แต่ขึ้นอยู่กับบริบท ความพร้อม และเป้าหมายชีวิต ของคนแต่ละคนมากกว่า
1
สุดท้ายนี้ ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ และไม่เหมือนเดิม ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี เช่น AI ขั้นสูง และอีกมากมาย ซึ่งกำลังพลิกโฉมเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน ไปอย่างสิ้นเชิง จนการศึกษาในระบบ เริ่มตามไม่ทัน
ก็คงมีคำถามเกิดขึ้นว่า
มหาวิทยาลัย ยังคุ้มค่าต่อการลงทุนในอนาคตหรือไม่ ?
หรือในโลกยุคใหม่ อาจจะมีทางเลือกอื่น ๆ เป็นคำตอบที่ดีกว่า..
3
โฆษณา