เมื่อวาน เวลา 04:00 • ธุรกิจ

หางโจว เมืองที่ถูกปั้น ให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี เคียงคู่เซินเจิ้น

ในอดีต หางโจว (Hangzhou) เคยเป็นเมืองค้าขายที่รุ่งเรือง
เนื่องจากเป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำที่ใช้ขนส่งสินค้า
อีกทั้งยังติดเป็น 1 ใน 7 เมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังถูกยกย่องว่า เป็นเมืองที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของแดนมังกร
แต่ในปัจจุบัน หางโจว อาจไม่ได้เป็นเมืองค้าขายแบบในอดีตอีกต่อไปแล้ว
เพราะหางโจว กำลังถูกปั้น ให้กลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของจีน เคียงข้างซิลิคอนแวลลีย์ของจีนอย่าง เซินเจิ้น (Shenzhen)
หางโจว มีบทบาทในโลกเทคโนโลยีจีน มากแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
หางโจว เป็นเมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศจีน โดยอยู่ใกล้กับ ปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีทะเลสาบซีหู (West Lake) เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง
ในอดีต หางโจวเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศจีน
แม้จะเคยรุ่งเรืองจากการค้าขายทางน้ำ ด้วยทำเลที่อยู่ปลายคลองขุดใหญ่ เชื่อมระหว่างแม่น้ำแยงซีเกียง กับภาคใต้ของจีน
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป เศรษฐกิจของเมืองเริ่มแผ่วลง จากบทบาททางการค้าดั้งเดิม
กระทั่งในปี 1999 ชายคนหนึ่งชื่อ “แจ็ก หม่า” ได้ก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ ขึ้นในเมืองหางโจว
บริษัทนั้นชื่อว่า “Alibaba”
หลังจาก Alibaba Group ถือกำเนิดขึ้นในปี 1999 ภายในเวลาไม่ถึง 2 ทศวรรษ บริษัทแห่งนี้เติบโตจากเว็บไซต์เล็ก ๆ ไปสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่
สร้างอาณาจักรครอบคลุมทั้งการค้า การเงิน โลจิสติกส์ คลาวด์ และเทคโนโลยี ทำให้เกิดเอฟเฟกต์กระเพื่อมตามมา
และศูนย์กลางแห่งนี้ ก็เริ่มเปลี่ยนไป..
นักลงทุน แรงงานทักษะสูง และบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ พากันย้ายฐานมาอยู่ใกล้ศูนย์กลางของ Alibaba
เกิดเป็นระบบนิเวศของ Tech Ecosystem ที่ครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งของจีน
จากรายงานของ สำนักงานสถิติเทศบาลนครหางโจว รายงาน GDP ในแต่ละปี
ปี 2015 GDP 4.60 ล้านล้านบาท
ปี 2020 GDP 7.45 ล้านล้านบาท
ปี 2024 GDP 10.02 ล้านล้านบาท
โดยในปี 2025 ตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมาย GDP ที่ 10.58 ล้านล้านบาท
จะเห็นได้ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมืองหางโจว ก็เติบโตไปกว่าเท่าตัว
ส่วนสำคัญก็เพราะ นโยบายการพัฒนาของรัฐบาลจีนเอง ที่มองเห็นถึงศักยภาพของเมืองหางโจว และเริ่มผลักดัน นโยบาย “Digital Economy” อย่างจริงจัง
โดยได้ยกระดับนครหางโจว เป็น “Smart City ต้นแบบ” ด้วยการใช้การวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการเมือง โดยอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
 
มีการทดลองใช้เทคโนโลยีล้ำยุค ทั้งระบบจราจรอัจฉริยะ และ ระบบจ่ายเงินไร้เงินสด (Cashless Payment) อย่างเช่น การชำระผ่านแพลตฟอร์ม Alipay ของ Ant Group ที่มี Alibaba เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นกับบริการขนส่งสาธารณะ จ่ายเงินซื้อของในร้านค้า หรือชำระค่าน้ำค่าไฟ
1
และหนึ่งในนวัตกรรมที่โด่งดังก็คือ City Brain ที่พัฒนาโดย Alibaba Cloud ซึ่งคอยรวบรวมข้อมูลจากกล้องวงจรปิด สัญญาณไฟจราจร และข้อมูลดิจิทัลอื่น ๆ
แล้วนำมาวิเคราะห์ และสั่งการให้ระบบต่าง ๆ ในเมืองทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยแก้ปัญหารถติด หรือลดอุบัติเหตุภายในเมือง
และนอกจากจะเป็นบ้านของ Alibaba แล้ว
ปัจจุบัน หางโจว กำลังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีล้ำยุค ตั้งแต่ AI, Robotics ไปจนถึง Gaming ที่เริ่มขยายอิทธิพลออกนอกจีน
โดยมีสตาร์ตอัปที่เฟื่องฟูในยุคหลัง หรือที่เรียกกันว่า
“มังกร 6 ตัว แห่งเมืองหางโจว” กำลังเติบโตกลายเป็นบริษัทชั้นนำของหางโจว ต่อจาก Alibaba
ซึ่งแต่ละบริษัท ก็มีจุดแข็งเฉพาะตัว เช่น
- DeepSeek เน้นวิจัยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้ใช้ง่าย ต้นทุนต่ำ และมีศักยภาพที่แข่งขันได้กับ AI ของยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ
1
- Unitree พัฒนาหุ่นยนต์ควบคุมการเคลื่อนไหว ที่ใช้ในงานตรวจสอบและกู้ภัย
- DEEP Robotics สตาร์ตอัป ที่พัฒนาหุ่นยนต์เคลื่อนที่สี่ขาคล้ายสุนัข ซึ่งเคยถูกใช้ตรวจสอบอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินในสิงคโปร์มาแล้ว นับเป็นบริษัทแรกของจีน ที่ให้บริการหุ่นยนต์ในต่างประเทศ
1
- Game Science ผู้พัฒนาเกม “Black Myth: Wukong” ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยมียอดขายกว่า 10 ล้านชุด ภายในเวลาแค่ 3 วัน
1
- BrainCo พัฒนาเทคโนโลยีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ เข้ากับระบบประสาทและสมองของมนุษย์ เพื่อการศึกษาและการแพทย์
1
- MANYCORE พัฒนาแพลตฟอร์มออกแบบสถาปัตยกรรม และร้านค้าออนไลน์ด้วย COOHOM ซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบที่ใช้งานง่าย และรองรับหลายภาษา
ซึ่งกลุ่มบริษัทเหล่านี้ กำลังร่วมออกแบบอนาคต ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในจีน
1
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน แรงงานที่มีทักษะ และร่วมพัฒนาโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ระดับประเทศจำนวนมาก
จนทำให้หางโจวกลายเป็น “สนามทดลองเทคโนโลยีแห่งใหม่” ที่น่าจับตา
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะถามว่า แล้วเมืองหางโจว แตกต่างจากเมืองเซินเจิ้น ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ซิลิคอนแวลลีย์ของจีน อย่างไร ?
ทั้ง 2 เมือง คือเมืองแห่งเทคโนโลยีของจีน ที่มีจุดแข็งต่างกัน
หางโจว มีบริษัท Alibaba ครองตลาดอีคอมเมิร์ซ คลาวด์ ฟินเทค และพัฒนา Smart City ด้วย AI จึงสามารถกล่าวได้ว่า เมืองหางโจว เน้นซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัล
1
ส่วนเมืองเซินเจิ้น จะแตกต่างคือ มีโรงงานผลิตฮาร์ดแวร์ที่โดดเด่นระดับโลก ซึ่งเป็นหัวใจของเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ
เช่น
- Huawei แบรนด์สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์โทรคมนาคมชื่อดัง
- DJI ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโดรนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
- Foxconn ผู้ผลิตและรับผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ลูกค้าหลายราย (เช่น Apple) ก็มีโรงงานขนาดใหญ่ในเซินเจิ้น
1
สรุปง่าย ๆ คือ หางโจว จะเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัล
ขณะที่เซินเจิ้น เด่นในด้านเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์
1
สุดท้ายนี้ เมือง “หางโจว” จากเมืองริมทะเลสาบ ที่เคยเป็นเมืองค้าขายที่รุ่งเรือง
มาวันนี้ กำลังกลายเป็นหนึ่งใน “หัวใจของเทคโนโลยีจีน” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ
และหากเทคโนโลยี AI กำลังจะเปลี่ยนโลกในทศวรรษนี้
หางโจว ที่เป็นฐานทัพสำคัญของซอฟต์แวร์จีน
ก็น่าจะมีบทบาทมากขึ้น ไม่แพ้ซิลิคอนแวลลีย์ของจีนอย่างเซินเจิ้น เลยทีเดียว..
โฆษณา