17 พ.ค. เวลา 11:00 • อสังหาริมทรัพย์

รถไฟฟ้าสายสีส้มบูมทำเลทอง ทุนใหญ่ พลิกที่ดินปั้นมิกซ์ยูสแสนล้าน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9กิโลเมตร28สถานีแบ่งออกเป็นสองช่วง ได้แก่ สายสีส้มช่วงตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดเดินรถปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571 ขณะช่วงสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2573
เมื่อเปิดใช้ เต็มทั้งระบบ จะช่วยให้การเดินทางเชื่อมกันระหว่างฝั่งตะวันออก และตะวันตกสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ตลอดแนวเส้นทางมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดตัดรถไฟฟ้าสายใหม่ ที่เกิดขึ้น และหากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ประกาศใช้ ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนา
นายสุรเชษฐ กองชีพ หัวหน้า ฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คอนโดมิเนียมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกที่เปิดขายในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีทั้งหมดประมาณ 38,175 ยูนิตโดยขายไปแล้วมากกว่า 80%
ยังคงมียูนิตเหลือขายอยู่ไม่น้อยซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าบางโครงการมีราคาขายสูงเกินกว่าโครงการอื่นๆ ในทำเลเดียวกัน เพราะราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่นี้อยู่ที่ประมาณ 85,000 บาทต่อตารางเมตร โครงการที่มีราค่าขายเกิน 100,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไปอาจจะใช้เวลาในการขายนานกว่าโครงการอื่นๆ พอสมควร แต่บางทำเลก็ได้รับความสนใจมาก
ปิดการขายหรือมีอัตราการจองที่สูงค่อนข้างมาก แม้ว่าจะมีโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่เปิดขายในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ตํ่ากว่า 4-5 พันยูนิตก็ตาม เช่น พื้นที่รอบๆ สถานีหัวหมาก ลำสาลี เป็นต้น ราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนรามคำแหงก็ปรับขึ้นมา
โดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าโดยราคาขาย ณ ปัจจุบันของที่ดินตามแนวถนนรามคำแหงอยู่ในช่วง 150,000-400,000 บาทต่อตารางวา แล้วแต่ทำเลของที่ดิน และปรับเพิ่มขึ้นจากในอดีตกว่าเท่าตัว แต่ถ้าเป็นที่ดินที่อยู่ในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนาธรรมแห่งประเทศไทยก็มากกว่า 1 ล้านบาทต่อตารางวา
แนวถนนพระราม9 จะลดลงมาเหลือประมาณ 350,000-400,000 บาทต่อตารางวาไปแล้วในปัจจุบัน นอกจากจะมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่แล้ว ยังมีโครงการพาณิชยกรรมอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจน ณ ปัจจุบัน
เพราะรอการเปลี่ยนแปลงของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครซึ่งจะมีผลให้สามารถพัฒนาอาคารได้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น โครงการของกลุ่มเดอะมอลล์ที่ก่อนหน้านี้รื้อศูนย์การค้าเดอะมอลล์ 2 และ 4 ซึ่งมีขนาดที่ดินประมาณ 30 ไร่บนถนนรามคำแหงไปแล้วตั้งแต่ปี2560
แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรูปแบบโครงการใหม่ที่จะพัฒนาบนที่ดินเดิม และโครงการพาณิชยกรรมอื่นๆ ที่เคยเป็นข่าวแล้วเงียบไปในพื้นที่ย่าน สถานีมีนบุรี แต่มีบางโครงการ เช่น โครงการโรงแรมและอาคารสำนักงานของกลุ่ม UHG
ที่คาดว่าจะเปิดบริการในปีนี้ พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกอาจจะมีแต่โครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากกว่าโครงการประเภทอื่นๆ แต่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร
1
สำหรับพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - บางขุนนนท์ เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผ่านพื้นที่ทีมีการพัฒนาเต็มพื้นที่มาตั้งแต่ 20-30 ปีก่อนหน้านี้แล้ว และยังผ่านพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาอีกด้วย จึงเป็นที่คาดการณ์ได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดแนวเส้นทางไม่มากนัก
และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่รอบๆ สถานีราชเทวี แต่เพราะศักยภาพของสถานีราชเทวีมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ สถานีราชเทวีส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่มีราคาขายเริ่มต้นมากกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไปถึงมากกว่า 250,000 บาทต่อตารางเมตร และมีโครงการมิกซ์ยูส อาคารสำนักงานบ้าง แต่ไม่มากนักแต่มีบางโครงการที่เปิดขายในพื้นที่ที่ไกลออกไปจากสถานีราชเทวี แต่เพราะเหตุผลอย่างอื่น
เช่น พื้นที่ตามแนวถนนราชปรารภ รางนํ้า เพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมอยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกคอนโดมิเนียมสะสมในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ณ ปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 15,271 ยูนิต ขายไปแล้วประมาณ 87% ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 170,000 บาทต่อตารางเมตร
โดยคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่หรือประมาณ 43% อยู่ในพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ซึ่งถ้าตัดโครงการที่อยู่รอบๆ สถานีราชเทวีออกจะเหลือคอนโดมิเนียมในพื้นที่เพียง 8,684 ยูนิตเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสถานีราชเทวี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะไม่มีแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่
เพียงแต่พื้นที่ตามแนวเส้นทางโดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวถนนเพชรบุรีตัดใหม่เป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเกินกว่า 30 ปีแล้วของกรุงเทพมหานคร ที่ดินบางส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงหาที่ดินเพื่อพัฒนาได้ยากยกเว้นพื้นที่รอบๆ สถานีราชเทวีที่พอหาที่ดินได้
และพื้นที่ในส่วนที่เลยถนนเพชรบุรีไปทางทิศตะวันตกก็มีข้อจำกัดในการพัฒนาค่อนข้างมากจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ราคาที่ดินก็อาจจะสูงตามไปด้วยเช่นกัน เพราะหาที่ดินเพื่อการพัฒนายากมากๆ  ราคาที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนเพชรบุรีในทำเลที่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้ามากนักที่อาจจะมากกว่า 1.5 ล้านบาทต่อตารางวาหรือ
อาจจะมากกว่านี้ในบางแปลงซึ่งอาจจะถึงตารางวาละ 2 ล้านบาทในพื้นที่ตามแนวถนนพญาไทที่แยกมาจากถนนเพชรบุรี ราคาขายที่ดินอาจจะไม่ปรับตัวมากนัก เพราะตลาดคอนโดมิเนียมอยู่ในช่วงชะลอตัวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาซื้อขายที่ดินและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการพัฒนาโครงการใหญ่
อาจจะยังไม่มากนัก แต่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชยกรรมบ้างโดยเฉพาะในพื้นที่แถวประตูนํ้า ก่อนหน้านี้ก็มีการปรับปรุงแบบยกเครื่องใหม่ของพันธ์ทิพย์ ประตูนํ้า ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นฟีนิกซ์ ศูนย์รวมค้าส่ง-ค้าปลีกอาหารครบวงจรของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)
อีก หนึ่งโครงการใกล้ๆ กัน คือ ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ขนาด 7 ไร่ที่ได้บริษัท แพลทินัม สแควร์ จำกัดเข้ามาเป็นผู้พัฒนาที่ดินภายใต้สัญญาเช่า 30 ปี โดยจะพัฒนาเป็นโครงการเดอะ แพลทินัม สแควร์ ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสความสูง 49 ชั้น พื้นที่อาคารรวม 92,726 ตารางเมตร โดยภายในอาคารประกอบด้วยส่วนของโรงแรม 630 ห้อง พื้นที่พาณิชยกรรม 8,409 ตร.ม. อีกหนึ่ง
โครงการมิกซ์ยูสที่กำลังจะเปิดบริการปีนี้ คือ โครงการเจอาร์เค ทาวเวอร์ หัวมุมถนนพญาไทและเพชรบุรีติดกับสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี ซึ่งเป็นอาคารสูง 46 ชั้น ประกอบไปด้วยโรงแรม 350 ห้อง ส่วนของพื้นที่สำนักงานให้เช่า 47,000 ตารางเมตร และพื้นที่ค้าปลีกอีก 1,500 ตารางเมตร
รวมไปถึงยังมีส่วนของสกายเลาญจ์ และสกายเดสก์ด้วย โครงการนี้อาจจะเป็นข่าว และได้ที่ดินมานานแล้วแต่เพิ่งเริ่มก่อสร้างช่วงปี2564 ที่ผ่านมาแต่ก็ถือได้ว่ามีการพัฒนาในช่วงที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกชัดเจนมากขึ้น
โฆษณา