17 พ.ค. เวลา 08:00 • การตลาด

ถอดบทเรียน “ข้าวปนเปื้อน” สหรัฐฯ เจอ "สารหนู-แคดเมียม" ระดับอันตราย

รายงานชี้ “ข้าว” บนชั้นวางห้างในสหรัฐฯ ปนเปื้อน "สารหนู-แคดเมียม" ในระดับอันตราย เสี่ยงทำลายพัฒนาการเด็กเล็กและกระตุ้นโรคเรื้อรังในระยะยาว
ข้าวบนจานอาจไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด รายงานฉบับใหม่ที่เปิดเผยกับ CNN ระบุว่า ตัวอย่าง "ข้าว" จากแบรนด์ต่างๆ กว่า 100 ยี่ห้อที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกามีปริมาณ "สารหนู" และ "แคดเมียม" ในระดับอันตราย ซึ่งสารพิษโลหะหนักเหล่านี้เกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรง ทั้งเบาหวาน ภาวะพัฒนาการล่าช้า พิษต่อระบบสืบพันธุ์ และโรคหัวใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งอ่อนไหวต่อสารเหล่านี้มากที่สุด
เจน ฮูลิฮาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจาก Healthy Babies, Bright Futures หนึ่งในองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งลดการสัมผัสสารพิษในเด็ก กล่าวว่า การปนเปื้อนโลหะหนักในเด็กเล็กถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจนำไปสู่ IQ ที่ลดลง รวมถึงปัญหาทางพฤติกรรมและสติปัญญาในระยะยาว
รายงานยังเผยว่า 1 ใน 4 ของตัวอย่างข้าวที่ซื้อจากร้านค้าทั่วสหรัฐฯ มีระดับสารหนูอนินทรีย์ (inorganic arsenic) สูงกว่าค่าที่สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) กำหนดไว้ในปี 2021 สำหรับ "ซีเรียลข้าวเด็กทารก" ซึ่งอยู่ที่ 100 ส่วนในพันล้าน (ppb) แม้ FDA จะเคยกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับซีเรียลเด็ก ซึ่งส่งผลให้ระดับสารหนูในผลิตภัณฑ์ลดลง 45% แต่กลับไม่เคยควบคุมระดับสารหนูในข้าวทั่วไปที่ครอบครัวซื้อไปหุงกิน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 0-2 ปี ที่มักบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันมากกว่าซีเรียลเด็ก
สารหนูในรูปแบบอนินทรีย์ถือเป็นสารพิษอันตรายที่สุดในธรรมชาติ ซึ่งสามารถพบได้ในดิน น้ำ และอากาศ และถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งโดย American Academy of Pediatrics โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะแท้งลูก การคลอดก่อนกำหนด หรือปัญหาการพัฒนาทางสมองในทารก
ถึงแม้ USA Rice Federation องค์กรตัวแทนผู้ผลิตข้าวในสหรัฐฯ จะยืนยันว่าข้าวที่ปลูกในประเทศมีระดับสารหนูอนินทรีย์ต่ำที่สุดในโลก และระบุว่าข้าวเป็นเพียง 17% ของแหล่งสารหนูในอาหาร เทียบกับผักและผลไม้ที่รวมกันถึง 42% แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านั่นเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ยุติธรรม เพราะผลไม้และผักมีหลายชนิดรวมกัน ขณะที่ข้าวเพียงอย่างเดียวก็เป็นแหล่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดของสารหนูในอาหาร
รายงานพบว่า สำหรับเด็กเล็กอายุ 0-2 ปี โดยเฉลี่ย ข้าวคิดเป็น 7.5% ของการได้รับสารหนูจากอาหารทั้งหมด แต่ในเด็กฮิสแปนิก ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 14% ขณะที่ในเด็กเชื้อสายเอเชีย ข้าวคิดเป็น 30.5% และสูงถึง 55% สำหรับเด็กอายุ 18-24 เดือนในกลุ่มนี้
องค์กรชุมชนเชื้อสายละตินและเอเชียที่ร่วมในรายงานเผยว่า หลายครอบครัวยังไม่ตระหนักถึงอันตรายจากสารหนูในข้าว แม้แต่พนักงานองค์กรเองก็ยังไม่รู้ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการสื่อสารให้ชัดเจนว่าสารหนูอาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของทารก และยังมีธัญพืชทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า
รายงานยังวิเคราะห์ข้าว 145 ตัวอย่างจากอินเดีย อิตาลี ไทย และสหรัฐฯ พบว่า ข้าวมีระดับสารหนูสูงกว่าธัญพืชอื่นๆ ถึง 28 เท่า แม้ธัญพืชเหล่านี้จะมีแคดเมียมมากกว่าข้าวถึง 1.5 เท่า แต่โดยรวมแล้วมีปริมาณโลหะหนักรวมต่ำกว่าข้าวถึง 3 เท่า
ข้าวกล้องและข้าวป่าโดยเฉพาะของสหรัฐฯ มีโลหะหนักสูงที่สุด เนื่องจากเปลือกข้าวที่ไม่ถูกขัดสีเป็นจุดสะสมของสารพิษ ตัวอย่างข้าวกล้องจากสหรัฐฯ มีสารหนูสูงถึง 129 ppb จากโลหะหนักรวม 151 ppb ขณะที่ข้าว Arborio จากอิตาลีและข้าวขาวจากสหรัฐฯ ตอนใต้ก็ติดอันดับโลหะหนักสูงเช่นกัน
ในทางกลับกัน ข้าวบาสมาติจากอินเดีย ข้าวหอมมะลิจากไทย และข้าวซูชิหรือคาลโรสที่ปลูกในแคลิฟอร์เนีย มีระดับสารหนูต่ำกว่าค่ามาตรฐาน 100 ppb ของ FDA
1
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงข้าวสำเร็จรูป เช่น ข้าวอบแห้ง ข้าวกึ่งสำเร็จรูป และข้าวพร้อมอุ่นในแพ็กพลาสติก เพราะกระบวนการผลิตอาจสร้างสารพิษเพิ่มเติม และพลาสติกเมื่อถูกความร้อนอาจปล่อยสารเคมีอันตรายออกมา
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ แบรนด์ข้าวไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักในการเลือกซื้อข้าวที่ปลอดภัย รายงานระบุว่าต้นกำเนิดของข้าวและชนิดของข้าวมีผลมากกว่าแบรนด์สินค้า แต่ปัญหาคือหลายแบรนด์ไม่ได้ระบุประเทศต้นทางไว้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนักวิจัยเรียกร้องให้ภาครัฐและอุตสาหกรรมอาหารเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
ในด้านแนวทางปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ "หุงข้าวแบบพาสต้า" โดยใช้น้ำมากถึง 6-10 ถ้วยต่อข้าว 1 ถ้วย แล้วเทน้ำทิ้งหลังหุง จะช่วยลดสารหนูได้มากถึง 60% การแช่ข้าวล่วงหน้าก่อนหุงก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดสารพิษด้วย แต่ต้องระวังว่าการหุงด้วยวิธีนี้อาจลดธาตุเหล็กที่เติมลงไปในข้าว ซึ่งสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กทารก ควรปรึกษาแพทย์หากจำเป็นต้องเสริมธาตุเหล็กจากแหล่งอื่น เช่น ถั่ว ไข่ ผักสด หรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
ขณะเดียวกัน มีวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามิน B แคลเซียม สังกะสี และวิตามิน C ที่ช่วยลดการดูดซึมโลหะหนักหรือขับออกจากร่างกายได้ ซึ่งพบได้ในอาหารที่หลากหลาย ดังนั้น แม้ "ข้าว" จะยังคงอยู่ในมื้ออาหารของผู้คนทั่วโลก แต่การรู้เท่าทันและเลือกบริโภคอย่างระมัดระวัง ก็อาจเป็นทางออกสำคัญในการลดความเสี่ยงของสารพิษในระยะยาว โดยเฉพาะสำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในวัยกำลังเติบโต
โฆษณา