เมื่อวาน เวลา 02:00 • ธุรกิจ

“ศุภจี”ยันปมขัดแย้งทายาทดุสิตธานี ไม่กระทบธุรกิจ ล่าสุดแก้ปัญหาจนไม่ติด SP

ซีอีโอ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ยืนยันปมขัดแย้งผู้ถือหุ้นใหญ่ดุสิตธานี ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ล่าสุดเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนสามารถแจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 แล้ว ส่งผลให้ไม่ต้องติดเครื่องหมาย SP ระงับการซื้อขายหุ้นชั่วคราว
จากความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้น ล่าสุด นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เผยว่า ในขณะนี้บมจ.ดุสิตธานี
ขอยืนยันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอุปสรรคชั่วคราว ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายในของผู้ถือหุ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของดุสิตธานีแต่อย่างไร เนื่องจากการบริหารงานของดุสิตธานี อยู่ภายใต้การบริหารงานของตัวเองในฐานะซีอีโอ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งแต่อย่างใด
การทำงานทุกอย่างของตนเอง ก็เพื่อผลประโยชน์ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองฝ่าย ผู้ถือหุ้นทั่วไป และพนักงานอีกหมื่นกว่าชีวิต ซึ่งในฐานะซีอีโอ ตนก็ต้องได้รับนโยบายมาจากกรรมการบริษัท ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและมีความสามารถ ทั้งตนก็ทำหน้าที่สนองผู้ถือหุ้นทุกคน การทำงานก็มีการรายงานผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่าย ไม่ได้อยู่ข้างผู้ถือหุ้นข้างใดข้างหนึ่ง และตลอดการทำงานในดุสิตธานีมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2559
ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคณะกรรมการบริษัท หรือฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสั่งการ ซึ่งในบอร์ดของดุสิตธานี ก็มีทายาทในยุค GEN 2 ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเป็นกรรมการของดุสิตธานี โดย "ชนินทธ์ โทณวณิก” ก็ยังคงเป็นรองประธานกรรมการของบมจ.ดุสิตธานี และประธานคณะกรรมการบริหารดุสิตธานี ขณะที่ "สินี เธียรประสิทธิ์" เป็นกรรมการของดุสิตธานี ที่ดูแลทางด้านการเงิน และคณะกรรมการบริหารดุสิตธานี ด้าน "สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค" ไม่ได้เข้ามา
ขณะที่ทายาทในยุค GEN 3 ก็เข้ามาทำงานทั้งสองฝั่งเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าแผนงานและการดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนต่างๆของดุสิตธานี ก็เป็นไปตามมติของกรรมการบอร์ด และผู้ถือหุ้น
ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบริษัทฯ ไม่สามารถก้าวล่วง หรือแสดงความเห็นเพิ่มเติม แทนผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามแก้ไขปัญหาตามบทบาทที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 นี้
ทั้งนี้ล่าสุดบริษัทได้พยายามอย่างเต็มที่ โดยล่าสุดดุสิตธานี สามารถแจ้งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ซึ่งได้จัดทำตามมาตรฐานบัญชีอย่างโปร่งใส และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบและได้รับการสอบทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัท ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำเร็จเรียบร้อยตรงกำหนดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ทำให้บริษัทไม่ต้องถูกติดเครื่องหมาย SP (ระงับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว) เพื่อป้องกันยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัท และเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
ทั้งนี้เมื่อวานนี้ดุสิตธานี ได้เรียกประชุมบอร์ดเมื่อช่วงบ่าย เพื่อให้พิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเป็นการเฉพาะสำหรับไตรมาสที่ 1/2568 ด้วยความจำเป็นเร่งด่วน เพราะกรรมการต้องมีหน้าที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งในทุกขั้นตอนมีการหารือกับทางตลาดหลักทรัพย์แล้ว
โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว แต่มีการใส่ Disclaimer (ข้อควรระวัง) ให้นักลงทุนพิจารณา เนื่องจากต้องรอให้มีการพิจารณาอนุมัติผู้ตรวจสอบบัญชี ประจำปี 2568 ในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 นี้
เราก็หวังใจว่าผู้ถือหุ้นที่อาจมีข้อขัดแย้ง จะเจรจาความกันได้ และดำเนินการในสิ่งที่ควรเป็นก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำพาดุสิตธานีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี ที่ต้องการนำพาดุสิตธานี ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมไทยไปสู่ต่างประเทศ ให้ทั่วโลกประทับใจ และมองผลประโยชน์ของบริษัท และผู้ถือหุ้นทุกคน เพราะสิ่งที่เราดำเนินการมา ได้เดินมาตามเจตนารมย์ของท่านผู้หญิงที่ทำให้ดุสิตธานีแข็งแรงขึ้นมาโดยตลอด
1
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทฯ มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง (+10.0% ) สาเหตุหลักจากรายได้ธุรกิจโรงแรม (+15%) จากการกลับมาเปิดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปี 2567 รายได้จากธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้น (+9.8%) จากการขยายธุรกิจการให้บริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติในปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจการศึกษาเพิ่มขึ้น (+12.9%) จากวิทยาลัยดุสิตธานี
อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมีรายได้อื่นลดลงจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงมาก บริษัทจึงมี EBITDA ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 513 ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค สำหรับส่วนงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง (-60.7%) มาอยู่ที่ 48 ล้านบาท หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ บริษัทจะมี EBITDA รวม 502 ล้านบาท (+13.3%) กำไรสุทธิ 37 ล้านบาท (-32.7%)
สำหรับผลประกอบการปี 2567 มีรายได้ 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.8% เทียบกับปีก่อน ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBIRDA) 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4% และขาดทุนสุทธิ 237 ล้านบาท เป็นการขาดทุนลดลง 58.4%
สำหรับผลขาดทุนในปี 2567 มีสาเหตุหลักมาจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ที่บริษัทฯ ออกและเสนอขายเพื่อรองรับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงโควิด-19 และดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ประมาณ 281 ล้านบาท) และดอกเบี้ยของหนี้สินจากสัญญาเช่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFRS 16) (ประมาณ 297 ล้านบาท) รวมเป็นต้นทุนทางการเงินทั้งสิ้นประมาณ 578 ล้านบาท
จึงเห็นได้ว่า การที่บริษัทมีภาระดอกเบี้ยสูงเนื่องจากบริษัทฯ ไม่ต้องการรบกวนผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน จึงเป็นสาเหตุหลักในการขาดทุน ทั้งนี้ หากไม่รวมต้นทุนทางการเงินนี้ บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน และ EBITDA ของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางศุภจี กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงของดุสิตธานีในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการมีโรงแรมเพียง 27 แห่งใน 8 ประเทศ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 58 แห่งใน 19 ประเทศ และเมื่อรวมกับธุรกิจอื่นในเครือ เช่น วิลล่า อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และการศึกษา กลุ่มบริษัทมีทรัพย์สินที่ขยายตัวอย่างมหาศาล และมีแบรนด์ภายใต้เครือขยายจาก 4 แบรนด์เป็น 10 แบรนด์ในปัจจุงจุบัน พนักงานจาก 7,000 คน เพิ่มเป็นกว่า 10,000 คน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจโรงแรม ซึ่งในอดีตคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมด
“เราต้องกระจายความเสี่ยง สร้างฐานธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าเรายังอยู่กับโรงแรมอย่างเดียว วันนั้นที่โควิดมา เราอาจไม่เหลืออะไรเลย”
โครงการใหม่อย่าง “อาศัย” ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมเจาะตลาดกลุ่มมิลเลนเนียลและเจเนอเรชัน Z ก็ถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของวิสัยทัศน์นี้ และเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดใน Tripadvisor
โฆษณา