18 พ.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สหรัฐลงทุนไทยปี 68 สัญญาณวูบ สวนทางไทยขยายลงทุนในสหรัฐพุ่ง

สหรัฐส่งสัญญาณลดการลงทุนในไทย ยอดขอรับส่งเสริม 3 เดือนแรกไม่ติดในกลุ่ม 10 อันดับแรก ขณะดึงทุนไทยขยายลงทุนสหรัฐเพิ่ม สนองนโยบาย America First” โดนัลด์ ทรัมป์ วิจัยกรุงศรี-ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจชี้แนวโน้มอเมริกาลงทุนไทยปีนี้แผ่ว จากเศรษฐกิจวูบ สงครามการค้าจีนลากยาว
ปี 2567 สถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลจากบีโอไอมีคำขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าเงินลงทุน 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยนักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตามองคือการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้ามาบริหารประเทศเป็นครั้งที่สอง (ทรัมป์ 2.0) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 และมีนโยบาย “America First” โดยมีเป้าหมายดึงการลงทุนของสหรัฐในต่างประเทศกลับไปลงทุนในประเทศ และเชิญชวนต่างชาติ เข้าไปลงทุน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ลดการนำเข้าสินค้า และลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศผ่านการทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2567 สหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 7 ที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 66 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 25,739 ล้านบาท ขณะช่วง 3 เดือนแรกปี 2568 สหรัฐไม่ติดกลุ่ม 10 อันดับแรกของต่างชาติที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทย ซึ่งคำถามคือ มีสาเหตุจากอะไร
วิจัยกรุงศรี วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อนักลงทุนสหรัฐในปี 2568 มี 5 ปัจจัยได้แก่
1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ตลาดแรงงานมีการเติบโตช้า โดยอัตราการว่างงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความต้องการจ้างแรงงานลดลง
2.ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยเฉพาะการรีไฟแนนซ์หนี้ของภาคธุรกิจ ที่คาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2568-2569 ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนใหม่ในอนาคต
3. ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมและการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในปี 2568 เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตเพียงร้อยละ 2.7 ลดลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2567
4. ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คาดยังมีแนวโน้มรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะชะลอตัว ในการผลิตและการลงทุน
1
และ 5. ผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐ (America First Policy) ที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
สอดคล้องกับรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ที่ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอรับการส่งเสริม และการลงทุนของสหรัฐในไทยในปีนี้คาดจะลดลง ส่วนหนึ่งจากนโยบายดึงการลงทุนกลับประเทศของทรัมป์ ขณะที่ภาคธุรกิจของไทยจะไปขยายการลงทุนในสหรัฐเพิ่มตามคำเชิญชวนของสหรัฐ เพื่อลดแรงกดดันด้านการค้าที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมาก และมีความเสี่ยงถูกตอบโต้จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสูง
ขณะที่ข้อมูลจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ ณ ปัจจุบันการลงทุนสะสมของไทยในสหรัฐมีมูลค่ากว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 620,000 ล้านบาท) มีการจ้างงานชาวอเมริกันประมาณ 12,000 ตำแหน่ง สะท้อนถึงศักยภาพการขยายการลงทุนเพิ่มเติมของไทยในสหรัฐ
ล่าสุดมีภาคธุรกิจของรัฐและเอกชนรายใหญ่ ภายใต้การนำของสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมงาน SelectUSA Investment Summit 2025 ซึ่ง 50 มลรัฐของสหรัฐได้เชิญชวนการลงทุน ทั้งนี้มีภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยได้ประกาศจะขยายการลงทุนเพิ่มในสหรัฐ อาทิ ซีพีกรุ๊ป,บ้านปู, เอ็กโก กรุ๊ป, Indorama Ventures และ Thai Summit America Corporation เป็นต้น บ่งชี้ว่านักลงทุนไทยพร้อมจะขยายการลงทุนในสหรัฐเพิ่มในปีนี้
โฆษณา